เปิดฉากเดือน ก.ค.63 ฝ่ายต้านและฝ่ายสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ในฐานะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เปิดหน้าชนกันชัดเจนขึ้น โดยปักหมุดเคลื่อนไหวในส่วนกลาง ทั้งที่อาคารรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล เพื่อหวังเรียกความสนใจจากคนไทยทั้งประเทศ
สาเหตุที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษในช่วงนี้ เพราะในวันที่ 11 ก.ค.จะมีการเปิดเวทีใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อโครงการ โดยใช้โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ เป็นสถานที่จัดประชุม
โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ค. นางไซหนับ ยะหมัดยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่น เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้หยุดเปลี่ยนผังเมือง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นสีม่วง (เพื่อรองรับเขตอุตสาหกรรม) และขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เปลี่ยน อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม พร้อมขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในลักษณะปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
นางไซหนับ กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้พื้นที่ริมทะเลลึกเข้ามาถึงบนบกของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเอกชนเพียงรายเดียว คือ บริษัท ทีพีไอโพลีนพาวเวอร์ (TPIPP) ใช้พื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ แบ่งอุตสาหกรรมเป็น 6 ประเภท คือ
1. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่
2. พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่
3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
4. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่
5. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่
6. พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่อีก 3 ท่า ซึ่งจะมีทั้งเรือสินค้า เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเข้ามาจอดเทียบ และเป็นอู่ซ่อมเรือเดินสมุทรด้วย ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้ง 6 ประการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างขนานใหญ่ ทั้งในพื้นที่ อ.จะนะ รวมถึง จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และไม่อาจหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีก
ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจโดยประชาชนอย่างกว้างขวางจึงมีความสำคัญมาก แต่แท้จริงกลับกลายเป็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จัดขึ้นโดย ศอ.บต. มีความจำกัดอย่างมาก เข้าลักษณะของการปิดกั้นการมีส่วนร่วมอย่างผิดปกติ ทั้งยังมุ่งใช้รูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเพียงพิธีกรรมในการผลักดันโครงการเท่านั้น
ยกตัวอย่างการเปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการฯ ในวันที่ 11 ก.ค. ที่ห้องประชุมโรงเรียนจะนะวิทยา เชื่อว่าเป้าหมายหลักของเวที คือเพื่อต้องการรวบรวมรายชื่อนำไปประกอบการเปลี่ยนผังเมืองของพื้นที่ 3 ตำบล จากเดิมที่เป็นสีเขียวให้เป็นสีม่วง อันจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ต่อไป แต่ในการประชาสัมพันธ์เวทีกลับไม่พูดถึงเป้าหมายนี้อย่างตรงไปตรงมา
ตั้งข้อสังเกต "เปิดเวทีแค่พิธีกรรม"
"เครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่น ในฐานะองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ ขอยกข้อสังเกตที่เป็นรูปธรรมต่อการปิดกั้นการมีส่วนร่วมให้เห็นชัดขึ้น คือเวทีนี้จัดเพียงครึ่งวัน ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ เสมือนจัดขึ้นเพียงเป็นพิธีกรรมเท่านั้น เวทีนี้ระบุผู้มีส่วนได้เสียเพียงประชาชนใน 3 ตำบล คนในตำบลอื่นๆ ห้ามเข้า ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ครู แพทย์ ข้าราชการที่ไม่ได้รับเชิญก็ไม่มีสิทธิ์เข้า แม้จะอ้างระเบียบการรับฟังความคิดเห็นปี 2548 แต่ก็เป็นการปิดกั้นที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ผลกระทบของโครงการเป็นไปอยางกว้างขวาง ควรให้คนใน จ.สงขลา หรือคนไทยทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้"
"นอกจากนั้นหัวข้อการจัดเวทีก็คลุมเครือ เนื้อหาเป็นไปเพื่อการแก้ผังเมืองและผังการใช้ที่ดิน จึงถือเป็นการจัดเวทีที่ไม่บริสุทธิ์ใจ ลักไก่ และไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล โครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนี้เป็นเพียงโครงการนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท TPIPP ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเอกชน ควรแล้วหรือที่ทาง ศอ.บต.ในฐานะองค์กรหลักในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมารับหน้าที่รับใช้บริษัทเอกชน ทั้งที่ควรวางตัวเป็นกลาง หรืออยู่ข้างประชาชน"
นางไซหนับ สรุปว่า ทางเครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่นขอเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ภายใต้โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ว่าบทบาทหน้าที่ของ ศอ.บต. ตลอดจนการใช้อำนาจ การตั้งกลไกคณะทำงาน และการใช้งบประมาณในโครงการ มีความเหมาะสม เป็นกลาง หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องอย่างไร หรือไม่ ให้ตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดที่ผ่านมา โดยเฉพาะเวทีชุมชน และเวทีต่างๆ ที่ได้จัดไปแล้วว่า มีเจตนาปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่ อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้มีการทบทวนการจัดเวทีในวันที่ 11 ก.ค.ออกไปก่อน เพื่อตรวจสอบว่าการจัดเวทีมีเจตนาปิดกั้นการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมหรือไม่
ที่สำคัญขอให้มีการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ทั้ง 2 มติ ว่าการอนุมัติโครงการนี้ดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ และหากพบว่ามีความผิดปกติ ก็ขอให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่เป็นจริง เพื่อพิจารณาอนาคตของ อ.จะนะ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป มากกว่าที่จะพัฒนาบนฐานอุตสาหกรรมที่จะสร้างความเสียหายต่อทั้งวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจนำกลับคืนมาได้ (อ่านประกอบ : เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย)
กลุ่มหนุนเคลื่อน! บุกทำเนียบฯเชียร์ลุงตู่ลุย
ต่อมา ในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 หรือสำนักงาน ก.พ.เดิม ได้มีประชาชนชาว อ.จะนะ ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 17 คน นำโดย น.ส.อุบลวรรณ สอโส๊ะ เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอสนับสนุนให้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.จะนะ
เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ตามที่จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ราษฎรในพื้นที่มีความเห็นสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง เพื่อจะสร้างรายได้ สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ ซึ่งจากที่ทราบข้อมูล การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งความเจริญที่ดีกว่าปกติ จึงขอยื่นจดหมายเปิผนึก สนับสนุนการก่อสร้างและให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ
โอกาสนี้ทางกลุ่มประชาชนชาว อ.จะนะ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ผ่านทาง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป
เปิดจดหมาย น.ส.อุบลวรรณ เขียนถึง "คุณลุงตู่"
สำหรับ น.ส.อุบลวรรณ สอโส๊ะ ผู้นำการยื่นหนังสือสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้เขียนจดหมายถึงนายกฯ โดยเรียกนายกฯว่า "คุณลุงตู่" โดยแนะนำตัวเองว่าอายุ 24 ปี ทำงานบริษัทเอกชน อยู่ที่ ต.นาทับ อ.จะนะ ตนได้รับโอกาสทางการศึกษาจนจบปริญญาตรี เนื่องจากบริษัทเอกชนช่วยเหลือส่งเสียให้เรียนจนจบ ปวส. และได้ทำงานส่งเสียตัวเองจนจบปริญญาตรี อาชีพหลักของครอบครัวของตนคือ ทำงานโรงงานอุตสาหกรรม
จดหมายของ อุบลวรรณ ยังบอกตอนหนึ่งว่า "ในมุมของหนู หนูอยากให้มีโครงการเมืองต้นแบบเกิดขึ้น (หมายถึงเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต) เพราะเยาวชนในชุมชนตกงานเยอะมาก และไม่มีทางเลือกในการหางานทำ เพราะอาชีพของคนในชุมชนจะมีการออกทะเล หาปลา การทำการเกษตร และบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมตอนนี้ไม่เพียงพอต่อการว่างงานของคนในชุมชน"
"หนูไม่อยากให้คนในชุมชนต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ หนูอยากให้คนในหมู่บ้านได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา หนูไม่อยากให้หมู่บ้านของหนูพลาดโอกาสดีๆ ที่จะเข้ามาทำให้ชุมชนของเราดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษา โอกาส และความก้าวหน้าในการทำงาน การเงิน การกิน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และถ้าเยาวชนมีโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น มีงานทำ ปัญหาทางสังคมก็จะลดน้อยลง พื้นฐานที่ดีของเยาวชนจะส่งผลให้ประเทศดีขึ้นไปอีก หนูอยากให้ธรรมชาติบ้านหนูเติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดตัว น.ส.อุบลวรรณ เขียนจดหมายถึงนายกฯ มีความคล้ายคลึงกับกิจกรรมที่กลุ่มคัดค้านโครงการ ในเครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่นเคยดำเนินการก่อนหน้านี้ โดยมี ไครียะห์ ระหมันยะ เด็กสาววัย 17 ปี ลูกสาวชาวประมงที่สวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ ออกมาเคลื่อนไหว และเคยไปนั่งประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเขียนจดหมายถึง "ปู่ประยุทธ์" ให้ทบทวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค.63 ออกไปก่อน เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นการจัดเวทีในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผลจากการประท้วงในครั้งนั้น ทำให้ ศอ.บต.ยอมเลื่อนการจัดเวทีออกไป
-------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม
ศอ.บต.อ้างชาวบ้านตอบแบบสอบถาม 80% ไม่ค้านนิคมอุตฯจะนะ
ไม่เชื่อ 80% หนุนนิคมอุตฯจะนะ ชาวบ้านเผยใครร่วมเวทีได้ 500