"ภารกิจเบื้องต้นที่ ศอ.บต.ได้รับมอบหมาย ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว"
เป็นบทสรุปจาก พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เกี่ยวกับโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา โครงการพัฒนาระดับ "เมกะโปรเจค" ที่ร้อนแรงที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง
คำถามก็คือ ภารกิจอะไรที่ ศอ.บต.ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ศอ.บต.ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น "เจ้าภาพ" ผลักดันโครงการนี้ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ"
คำถามนี้มีคำตอบจาก พล.ร.ต.สมเกียรติ...
"ศอ.บต.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ทั้งจากผู้สนับสนุนและผู้เห็นต่าง เพื่อให้ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการตัดสินใจ ถือว่าภารกิจเบื้องต้นที่ ศอ.บต.ได้รับมอบหมาย ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
คำถามต่อมา การทำงานในขั้นต่อไปคืออะไร ประเด็นนี้ก็มีคำตอบจาก พล.ร.ต.สมเกียรติ เช่นกัน
"หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่การเปลี่ยนผังเมือง หรือการจัดทำผังเมืองใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคเอกชน และต้องทำ EIA (รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ในปี 2565 เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นเขตอุตสาหกรรม ถือเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และโยธาธิการจังหวัดสงขลาที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นหน้าที่ของเอกชนผู้ลงทุน" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
แต่ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ การเดินหน้าโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีภาคประชาชนบางส่วนคัดค้านอยู่ โดยจับมือกับกลุ่มนักวิชาการ รวมถึงเอ็นจีโอทั้งในและนอกพื้นที่ จนมีข่าวว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลส่งสัญญาณให้ ศอ.บต.ถอยครึ่งก้าว ก่อนที่จะเป็น "คู่ขัดแย้ง" กับประชาชนเสียเอง (อ่านประกอบ : นายกฯส่งสัญญาณดับชนวนขัดแย้งนิคมอุตฯจะนะ)
และจุดนี้นำมาสู่คำถามใหม่ว่า การที่ ศอ.บต.อ้างว่าภารกิจเบื้องต้นเสร็จแล้ว เพราะถูกลดบทบาทในภารกิจขั้นต่อไปใช่หรือไม่ แล้ว ศอ.บต.มีอำนาจหน้าที่ต้องทำอะไร เนื่องจากเรื่องผังเมือง กับ EIA ก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับผิดชอบอยู่แล้ว
พล.ร.ต.สมเกียรติ ให้คำตอบเกี่ยวกับบทบาทของ ศอ.บต.ในระยะต่อจากนี้...
"ศอ.บต.ก็จะมาดูว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนา เช่น ถนนหนทาง หรือว่าระบบอะไรที่เป็นปัญหาของประชาชน ระบบปัญหาเบื้องต้นการทำมาหากิน เหล่านี้จะต้องแก้อะไรบ้าง ก็จะเข้าไปดูกระบวนการ สำหรับตัวโครงการจริงๆ คาดว่าอีกปี 2 ปีถึงจะเริ่ม โดย ศอ.บต.ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนไม่มีอุปสรรคเท่านั้น"
ย้อนกลับไปถึงภารกิจเบื้องต้นของ ศอ.บต. ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พล.ร.ต.สมเกียรติ บอกว่าได้รายงานคณะรัฐมนตรีไปหมดแล้ว ประเด็นไหนที่เป็นข้อกังวลของพี่น้อง ก็จะนำไปสู่การแก้ไข
"ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นรับฟังข้อมูลขั้นต้น เป็นข้อเสนอ ข้อคิดเห็นว่าอยากให้พัฒนาอะไร และมีอะไรที่เป็นข้อกังวล ก็ได้นำข้อเสนอและข้อมูลเหล่านั้นรายงานต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว หลังจากนี้ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ ส่วน ศอ.บต.ก็จะมาศึกษาและรวบรวมข้อมูลว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น วางระบบเตรียมความพร้อมอย่างไร สร้างถนนหนทาง สร้างความเจริญในพื้นที่ จะต้องทำอะไรบ้าง"
"โดยสรุปก็คือกระบวนการเมื่อ ครม.รับทราบข้อเสนอและข้อคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องก็ไปทำการบ้านของตัวเอง แต่กว่าจะเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างจริงก็ต้องใช้เวลาพอสมควร"
แต่ก็มีงานที่ ศอ.บต.ไม่รอแล้ว เพราะจะเดินหน้าขับเคลื่อนทันที นั่นก็คืองานด้านการศึกษา
"สิ่งที่เราไม่รอแน่คือเยาวชน เรื่องของการศึกษา มีบางส่วนที่เราส่งไปฝึกอบรมในภาคตะวันออก ที่ ECC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) เพื่อกลับมาทำงาน"
แน่นอนว่านี่คือการปิดจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโครงการโรงแยกก๊าซจะนะ ที่ไม่มีคนจะนะได้เข้าทำงานเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ชาวบ้านมองว่าโครงการพัฒนาเพื่อการสร้างงาน แท้ที่จริงแล้วคือการขายฝัน แต่ครั้งนี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ย้ำว่า การจ้างงานคนพื้นทีต้องเกิดจริงอย่างแน่นอน
"สิ่งที่เรากังวลจริงๆ คือภาพรวมอนาคตข้างหน้า เราจะพาคนเหล่านี้ไปไหน เพราะแค่ที่จะเรียนจบในเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ก็ราวๆ 30,000 คน เฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่นับรวมที่เรียนจบนอกพื้นที่ 5 จังหวัด และไม่นับรวมที่เรียนจบจากต่างประเทศอีก"
ส่วนประเด็นการถูกคัดค้านจากภาคประชาชนบางส่วนนั้น พล.ร.ต.สมเกียรติ ยืนยันว่า ศอ.บต.ไม่อยากเห็นความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ฉะนั้นหากกลุ่มไหนกังวลเรื่องใด ก็จะเดินเข้าไปหาทุกกลุ่ม
"จริงๆ แล้วเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เลย เพราะสิ่งที่ทำทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่คนจะนะ แต่ทำเพื่อคนภาคใต้ที่ไม่มีที่ยืน ฉะนั้นส่วนไหนที่ประชาชนกังวล ที่คัดค้าน ใครที่เกี่ยวข้องก็เดินไปหาทุกกลุ่ม เพื่อรับฟังว่ากังวลอะไรและจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง"
"เพราะสิ่งที่อยากเห็นจริงๆ ก็คือ ขอให้งานพัฒนาเพื่อหาที่ยืนให้กับพี่น้องประชาชนเดินหน้าต่อไปได้...นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจ"
ทั้งหมดนี้คือทิศทางการเดินหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และสัญญาประชาคมที่เลขาธิการ ศอ.บต.ตกปากรับคำ!
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม
ศอ.บต.อ้างชาวบ้านตอบแบบสอบถาม 80% ไม่ค้านนิคมอุตฯจะนะ
ไม่เชื่อ 80% หนุนนิคมอุตฯจะนะ ชาวบ้านเผยใครร่วมเวทีได้ 500
สองกลุ่มเปิดหน้า "หนุน-ค้าน" นิคมอุตฯจะนะ อุ่นเครื่องก่อนเวทีใหญ่
ประเด็นต่อประเด็น : เทียบ 10 เหตุผลกลุ่มต้านนิคมจะนะ กับคำตอบ ศอ.บต.
ทางออกจะนะ? นักวิชาการแนะทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
เครียด! 72 ชม.ก่อนเวทีจะนะ ชี้นิ้วอีกฝ่ายมีผลประโยชน์ รัฐจับตา 4 กลุ่ม
ปธ.สภาอุตฯสงขลาเชียร์นิคมฯจะนะ "หมอสุภัทร"ฉะเวทีแค่พิธีกรรม
จบสงบยกที่ 1 เวทีจะนะ ไร้เหตุปะทะ-กลุ่มต้านถูกสกัด
นายกฯส่งสัญญาณดับชนวนขัดแย้งนิคมอุตฯจะนะ
ปัดข่าวนายกฯแตะเบรกนิคมอุตฯจะนะ แจงแค่สั่งชี้แจงทำความเข้าใจ
ครม.ไฟเขียวลุย "ผังเมือง-บีโอไอ" นิคมอุตฯจะนะ - สั่ง อบจ.สงขลาศึกษาระบบขนส่ง
เวทีคนกลางยังไม่ขยับ กลุ่มค้านนิคมอุตฯจะนะรุกเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
พล.ต.ธิรา : ขอครอบครัวละ 1 คนร่วมถกนิคมอุตฯจะนะ