มีการต่อสู้กันด้วยข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับ "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ในช่วงที่กำลังจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสำคัญในวันเสาร์ที่ 11 ก.ค.63
โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นโครงการที่ต่อยอดจาก "เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จำนวน 3 เมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วขยายมาสู่ 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงเช่นเดียวกัน
เป้าหมายปลายทางก็เพื่อทำให้ อ.จะนะ เป็นฐานของอุตสาหกรรมแนวใหม่ มีท่าเรือน้ำลึก ถนน ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้า โดยหน่วยงานรัฐหวังว่าจะเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่้น้องประชาชนในดินแดนปลายด้ามขวาน
10 เหตุผลไม่เอานิคมฯ - ฉะ ศอ.บต.รับใช้กลุ่มทุน
แต่เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักอนุรักษ์ และภาคประชาสังคมบางส่วน นำโดย "เครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่น" มองไม่เหมือนกับภาครัฐ อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีการนำเสนอบทความแจกแจง 10 เหตุผลที่ต้องคัดค้านโครงการนี้ สรุปว่า...
1. โครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น เพราะใช้วิธีอนุมัติโครงการโดยคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายหลัง
2. ในการอนุมัติโครงการโดยรัฐบาล คณะรัฐมนตรีไม่มีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงอันเป็นความเห็นของประชาชนประกอบอย่างรอบด้านเพื่อตัดสินใจตั้งแต่ต้น
3. การอนุมัติโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ถือว่ามีที่มาอันไม่สวยงาม เพราะเป็นการอนุมัติแบบทิ้งทวนในปลายรัฐบาลยุค คสช.ในการประชุม ครม.นัดสุดท้าย ทั้งที่กำลังจะมีการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
4. แม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นตามหลัง แต่กลับพบว่าเวทีเหล่านั้นคือ "พิธีกรรม" ที่จัดขึ้นเพื่อต้องการรายชื่อสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล (พื้นที่ก่อสร้างโครงการ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน อ.จนะะ) เท่านั้น อันจะได้นำไปอธิบายกับสังคมว่าได้สร้างการมีส่วนร่วมแล้ว
5. ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่ได้สร้างกลไกอันเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินงานของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตามความหมายของกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ.2548 หากแต่ได้ใช้พวกพ้องของเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.เป็นผู้รับงานจัดเวทีเหล่านั้น เสมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน
6. โครงการใหญ่ระดับประเทศและต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่กลับปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่ที่เห็นต่าง และจำกัดขอบเขตการรับรู้โครงการเฉพาะ 3 ตำบลอันเป็นที่ตั้งโครงการเท่านั้น ทั้งที่ควรจะต้องเปิดการรับฟังประชาชนทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อย
7. การจัดเวทีวันที่ 11 ก.ค.63 นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าจัดขึ้นด้วยเหตุผลใด และอยู่ในขั้นตอนใดของกระบวนการดำเนินงานโครงการ เพียงแต่แจ้งว่าต้องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน 3 ตำบล หากแท้จริงแล้วต้องการใช้เวทีนี้เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง (เพื่อเปิดทางให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้) เท่านั้น
8. ศอ.บต.กำลังเล่นผิดบท โดยการทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าของบริษัท หรือกลุ่มทุนที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเสียเอง จึงทำหน้าที่แทนกลุ่มทุนทุกอย่าง ทั้งตอบคำถาม อธิบายแบบขัางๆ คูๆ อย่างไม่มีความเข้าใจจริง อันไม่ใช่บทบาทของตนเอง จนบางคนได้นิยามบทบาทเช่นนี้ว่า "ผู้รับใช้" กลุ่มทุน
9. เราต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ศอ.บต.ถึงยอมทุ่มทุนถึงขนาดนี้
และ 10. ศอ.บต.ได้กลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียเองแล้วจากโครงการนี้ โดยการยุยง ส่งเสริม ปลุกปั่น ประชาชนที่เห็นดีเห็นงามกับตนในทุกรูปแบบ เพื่อจะยับยั้ง ปิดกั้น และทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ จนทำให้มีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้น และได้สร้างการสื่อสารที่จะนำไปสู่ความแตกแยก อันจะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าผิดวิสัยของความเป็น ศอ.บต.อันเป็นองค์กรรัฐที่ควรทำหน้าที่สร้างความสมานฉันท์ และจัดการความขัดแย้งให้ลดน้อยลงหรือหมดหายไป
ศอ.บต.แจงปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย - เตรียมทำ EIA
จากเหตุผลของฝ่ายคัดค้านทั้ง 10 ข้อ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ขอสัมภาษณ์ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต. ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยขอให้ชี้แจงเหตุผลของฝ่ายรัฐที่เดินหน้าโครงการนี้เป็นข้อๆ ตามที่ฝ่ายคัดค้านตั้งคำถาม เพื่อนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านให้ประชาชนได้พิจารณา
ในเหตุผลข้อ 1-2-3 ของฝ่ายคัดค้าน นายชนธัญ ชี้แจงว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 59 โดย อ.จะนะ ถูกผูกในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" มาตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ก่อนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.59 แต่การดำเนินงานจริงถูกกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า จะดำเนินการภายหลังเมืองต้นแบบทั้ง 3 เมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว ประกอบด้วย อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
จังหวะเวลาที่เมืองต้นแบบ 3 เมืองแรกขับเคลื่อนไปได้ระดับหนึ่ง ก็ประจวบเหมาะกับเวลาในห้วงเดือน พ.ค.62 พอดี ซึ่งเป็นช่วงที่มีมติ ครม. วันที่ 7 พ.ค.62 เกี่ยวกับเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จะเห็นได้ว่ามีการนำเสนอผ่านที่ประชุมที่มีผู้แทนหลายภาคส่วนร่วมกันพิจารณาหลายต่อหลายครั้ง
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ให้ความเห็นชอบเพียงหลักการเท่านั้น พร้อมกับสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายถึงการเสนอเชิงนโยบายที่จะให้ทุกภาคส่วนไปร่วมกันวางแผนการทำงานร่วมกัน
จากประเด็นมติ ครม. นายชนธัญ ชี้แจงต่อในประเด็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชน ซึ่งอยู่ในเหตุผลข้อ 4-5-6-7 ของฝ่ายคัดค้าน โดยบอกว่า ครม.สั่งการให้ไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสร้างความร่วมมือให้ได้มากที่สุด โดยการทำงานนั้นให้ใช้อำนาจตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (การประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และการโอนอำนาจให้เลขาธิการ ศอ.บต.ขับเคลื่อนงานแทน) เป็นกรอบการทำงานตามกฎหมาย
สาเหตุที่ต้องยึดตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.เจ๋ง อธิบายว่า เพราะต้องการให้เชื่อมโยงการทำงานทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา พหุสังคม และการเมือง (มาตรา 10 วรรค 2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับการทำงานในระยะต่อไป จะเริ่มกระบวนการศึกษาในพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาที่สำคัญมากที่สุดว่าจะทำอะไร พื้นที่ไหนได้มากเท่าไหร่ ผลกระทบทั้งบวกและลบเป็นอย่างไร ก่อนเสนอให้ประชาชนร่วมคิดร่วมออกแบบ
ที่สำคัญยังจะมีรายงานการศึกษาที่ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านการศึกษา แรงงาน การศึกษายกระดับงานสาธารณสุขในพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของประชาชน และการเชื่อมโยงโอกาสการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนการบริหารจัดการพื้นที่ผ่าน "ธรรมนูญชุมชน" ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกรอบการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนเคร่งครัด
ยันไม่มีอนุมัติงบช่วยเอกชน - ปัดเปิดเวทีแก้ผังเมือง
ในเหตุผลข้อ 9 และข้อ 10 ของฝ่ายคัดค้าน ดร.เจ๋ง ชี้แจงว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมายังไม่มีการอนุมัติงบประมาณอะไรเพื่อสนับสนุนการทำงานของเอกชน นอกจากกระบวนการทำงานสื่อสารสร้างความเข้าใจ และการจัดทำกรอบการบริหารและการพัฒนาพื้นที่ตามนัยแห่งมาตรา 10 พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ เท่านั้้น
จากนั้นได้มีการเสนอกรอบการบริหารและพัฒนาพื้นที่ไปให้คณะกรรมยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.พิจารณาเมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 พร้อมกันนี้ได้มีการประกาศพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามนัยแห่งมาตรา 10 การดำเนินการจึงเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบตามที่มีการเสนอ ครม.
ดร.เจ๋ง ย้ำว่า เมื่อต้องดำเนินการตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่มีบทบาทการทำงานเพียงหน่วยเดียวในประเทศไทย ก็คือ ศอ.บต. ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่กล่าวหาว่า ศอ.บต.กำลังเล่นบทบาทที่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในพื้นที่นั้น นายชนธัญ กล่าวว่า หลายเรื่องเป็นการสร้างข่าวให้ดูน่ากลัว ซึ่งข่าวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากฝ่ายคัดค้านแทบทั้งสิ้น และก็เป็นกลุ่มเดิมที่มีบทบาทการทำงานต่อต้านในหลายปีที่ผ่านมา จนเป็นที่พูดสนุกปากของประชาชนในพื้นที่ว่า "นกเขาไม่ขันอยู่ไหม?" หรือต้นไม้จะตาย แต่วันนี้ต้นไม้ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม (หมายถึงกลุ่มที่คัดค้านโครงการนี้ เคยต่อต้านมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซจะนะ)
ดร.เจ๋ง ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการ ไม่ใช่การขอความเห็นชอบหรือให้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผังเมืองจากเดิมสีเขียวและชมพู เป็นเขตสีม่วง แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหา ตลอดจนความห่วงใยของประชาชนไปใช้ในการวางแผนทั้งแผนเชิงรุกและเชิงรับเพื่อให้เกิดผลบวกมากที่สุดต่อพี่น้องประชาชน
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม
ศอ.บต.อ้างชาวบ้านตอบแบบสอบถาม 80% ไม่ค้านนิคมอุตฯจะนะ
ไม่เชื่อ 80% หนุนนิคมอุตฯจะนะ ชาวบ้านเผยใครร่วมเวทีได้ 500
สองกลุ่มเปิดหน้า "หนุน-ค้าน" นิคมอุตฯจะนะ อุ่นเครื่องก่อนเวทีใหญ่