เรื่องราวของคนไทยตกค้างในมาเลเซียที่พยายามเดินทางกลับมาตุภูมิเพื่อหนีความลำบากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เปรียบได้กับ "หนังชีวิต" ของใครหลายๆ คน
เพราะทั้งสองประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ปิดพรมแดน กิจการเกือบทุกประเภทถูกสั่งปิด ทำให้ตกงาน ไม่มีเงินพอที่จะประทังชีวิต
แต่การกลับบ้านก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเก็บกระเป๋ากลับจากไปเที่ยว แม้รัฐบาลไทยจะเปิดด่านเป็นกรณีพิเศษให้คนไทยเดินทางกลับได้แบบจำกัดจำนวนตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 ทว่าก็มีเงื่อนไขเรื่องการลงทะเบียนกับสถานทูตหรือสถานกงสุล และต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าพร้อมเดินทาง เหตุผลก็เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทะลักหรือแห่กลับพร้อมกันจำนวนมากจนล้นศูนย์กักกันสังเกตอาการที่รัฐบาลเตรียมเอาไว้ จนเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19
การเดินทางไปลงทะเบียน และหาใบรับรองแพทย์ ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่าย และแม้จะมีเงินก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันง่ายๆ เนื่องจากมาเลเซียมีมาตรการปิดเมือง
แรงงานไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างร้านต้มยำ ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย จึงตัดสินใจเลือกหนทางรอคอยความช่วยเหลือ แต่รอแล้วรอเล่า ความช่วยเหลือก็ไม่มา จนเงินร่อยหรอแทบหมดตัว จึงต้องหันพึ่งหนทางสุดท้าย คือติดต่อนายหน้าพาส่งกลับ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย
ตลอดเกือบ 1 เดือนที่มีการเปิดด่านที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ปรากฏว่ามีคนไทยลักลอบข้ามแดนแบบผิดกฎหมายมากกว่าผ่านด่านถูกกฎหมาย เรื่องราวการถูกล่อลวงโดย "ขบวนการนำพา" ซึ่งเป็นคนมาเลย์ มีเป็นข่าวอยู่เนืองๆ แต่ยังไม่มีใครยอมเปิดหน้าเล่าแบบละเอียดทุกขั้นตอน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้รับการติดต่อจาก สารีฮะ (นามสมมติ) เด็กสาววัยเพียง 19 ปีที่ไปขายแรงงานเป็นลูกจ้างร้านต้มยำในมาเลเซีย เธอเล่าว่าถูกล่อลวงโดย "ขบวนการนำพา" ชักจูงให้หาเงินมาแลกกับการได้กลับประเทศไทย ซึ่งเธอเข้าใจว่าเป็นช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพียงแค่ไม่ต้องเดินทางไปที่สถานทูตและไม่ต้องหาใบรับรองแพทย์เองเท่านั้น
แต่ทันทีที่เธอก้าวขึ้นรถตู้ เธอก็รู้ว่าทุกอย่างที่เธอเข้าใจนั้น ผิดพลาดทั้งหมด
"เราออกเดินทางตอน 2 ทุ่มของ วันที่ 9 พฤษภาคม ออกจากสลังงอร์ (รัฐทางตะวันตกของประเทศติดกับกัวลาลัมเปอร์) เรามาด้วยกันทั้งหมด 6 คน นั่งรถสองแถวที่ต่อเติมแบบปิดคล้ายรถตู้ขนาดใหญ่ โดยมีผู้ชายชาวมาเลย์เป็นคนขับ" สารีฮะ เริ่มเล่าตั้งแต่ต้นของการเดินทาง
"ตอนแรกไม่คิดว่าเขาจะพาเรากลับแบบผิดกฏหมาย เข้าใจว่าเขาจะพาเรามาที่ด่าน" เป็นความเข้าใจของสารีฮะ ซึ่งเธอมารู้ภายหลังว่าเข้าใจผิด
"เมื่อมาถึงใกล้ฝั่งโกลก เขากลับพาพวกเราไปที่ท่าเรือเพื่อข้ามแดนช่องทางธรรมชาติ เราตกใจมาก แต่เพื่อแลกกับการได้กลับบ้านก็ต้องยอม"
การเดินทางกลับบ้านแบบถูกกฎหมาย ถูกมองว่ามีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการหาซื้อใบรับรองแพทย์ แต่การเดินทางกลับแบบผิดกฎหมาย ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
"เราไม่ได้รู้จักเขาโดยตรงนะ สำหรับคนที่พามา เรารู้จักผ่านเพื่อนที่สลังงอร์เขาติดต่อให้ เขามาบอกว่าใครจะกลับบ้านมีค่าใช้จ่าย 2,200 บาท ทุกอย่างจบ ทั้งค่าหนังสือเดินทาง ค่าเอกสารต่างๆ ค่ารถ จนถึงด่านฝั่งไทย" สารีฮะ เล่าถึงข้อมูลที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อจนตายใจ
เธอเล่าว่าตอนนั้นไม่มีเงินเลย ก็ใช้วิธีให้ญาติมารอรับ และเตรียมเงินมาจ่าย แต่ทุกอย่างก็ผิดพลาด ผิดที่ผิดเวลา
"ก็ตั้งใจว่ามาถึงที่โกลกจะโทรหาญาติให้เอาเงินมา เราตัดสินใจกลับเพราะถ้าอยู่มาเลเซียต่อมีหวังอดตายแน่ เรากลับทั้งที่ไม่มีเงินเลย และคิดว่าถึงด่านจะเอาเงินจากญาติให้เขา แต่พอใกล้ถึง ราวๆ บ่าย 2 ครึ่งของอีกวัน เขาเลี้ยวรถไปทางท่าเรือ เลยบอกญาติไปจ่ายเงินที่ท่าเรือ ตอนนั้นรู้แล้วว่าถูกหลอก"
ที่แย่ที่สุดในความรู้สึกคือ เมื่อถึงท่าเรือยังต้องจ่ายอีก ทั้งๆ ที่มองเห็นฝั่งไทยอยู่แค่เอื้อม...
"นั่งเรือก็เสียเงินอีก 500 บาท เขาไม่บอกอะไรเราเลยว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนของท่าเรือ ข้ามมานิดเดียวต้องจ่ายถึง 500 ก็ต้องยืมเงินญาติจ่าย"
ทันทีที่ข้ามเรือถึงฝั่งไทย ความรู้สึกร้ายๆ ก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง...
"รู้สึกประทับใจเจ้าหน้าที่ไทยมาก เขาน่ารัก ดีกับพวกเรา พูดดีมาก ทำให้เรารักประเทศไทยมาก เพราะจากที่เราทนอดที่มาเลย์มาหลายวัน ก็คิดถึงประเทศไทย คิดถึงบ้านเรา คิดถึงพ่อแม่พี่น้องทุกคน เมื่อตัดสินใจเดินทางมาก็ต้องเจอกับคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน กระทั่งมาเจอเจ้าหน้าที่ไทย เขาพูดจาดีกับเรา เหมือนเขาเข้าใจว่าเราต้องเจออะไรบ้าง แถมยังแบ่งข้าวให้กิน ทำให้ยิ่งรักคนไทย ยิ่งรักประเทศไทยมาก รู้สึกโชคดีที่ได้เป็นคนไทย ได้กลับบ้านเกิด"
เธอยอมรับว่าทำผิดกฎหมาย เพราะข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงต้องเสียค่าปรับ 800 บาท ทำให้เธอต้องให้ญาติกู้มาให้จ่าย เพราะเจ้าหน้าที่จ่ายแทนให้ไม่ไหวแล้ว ไม่เหมือนกับวันแรกๆ ที่เปิดด่าน เจ้าหน้าที่ยอมควักกระเป๋าจ่ายแทนประชาชน
"พวกเราต้องโดนค่าปรับ 800 บาท เราก็โทรหาญาติอีก ให้ญาติมาจ่ายเงิน ญาติบอกว่าเขาก็ไม่มีเงิน แต่เขาก็พอหายืมคนอื่นได้ ญาติบอกว่ายืมเงินคนอื่นมามีดอกเบี้ยด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ และที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินจากไหนจ่ายคืน จะทำงานอะไรเพื่อหาเงิน เพราะตอนนั้นคิดอย่างเดียวแค่ให้ได้ถึงบ้านก็พอ"
สารีฮะ บอกว่า แม้อยู่บ้านไม่มีเงิน แต่ก็ยังดีกว่าทนอดในมาเลเซีย
"ทางบ้านก็ไม่ได้มีเงิน พวกเขาก็อดเหมือนเรา แต่อยู่ที่บ้านอย่างน้อยเราพอขุดมัน หาผักตามรั้วกินได้ แค่มีข้าวสารแจกจากคนใจบุญก็พออยู่ได้แล้ว"
เด็กสาววัย 19 ปีบอกว่าก่อนกลับถึงบ้าน ร้องไห้หนักมากทุกวัน...
"ร้องไห้มาตลอด 2 สัปดาห์ที่อดข้าวในมาเลเซีย และที่ร้องหนักคือตอนนั่งรถมาถึงท่าเรือ กระทั่งพอจะยิ้มได้บ้างหลังจากพบเจ้าหน้าที่ เขาตรวจร่างกายเสร็จก็พาไปนอนที่สุไหงโกลก 1 คืน พอเช้าก็ส่งกลับมาในพื้นที่ ตอนนี้อยู่ที่ศูนย์กักตัวใกล้บ้าน"
ปัจจุบันครอบครัวของสารีฮะ ทราบแล้วว่าเธออยู่ในศูนย์กักกักสังเกตอาการในพื้นที่ (local quarantine) สารีฮะ สรุปบทเรียนที่ต้องเผชิญจากมาเลเซียว่า ถ้าเดือดร้อนที่มาเลเซีย จะอดขนาดไหน ลำบากขนาดไหน ถ้ามีใครมาคุยเรื่องจะพากลับ ต้องคุยให้ชัด ถามตรงๆ ให้ละเอียดว่ากลับทางไหน อย่างไร เพราะสิ่งที่ต้องเจอระหว่างทาง ไม่ได้เหมือนกับที่ตกลงกัน
เธอสรุปปิดท้ายว่า ไม่มีที่ไหนดีกว่าบ้านเรา...ประเทศไทย
ความร้ายกาจของ "ขบวนการนำพา" ในมาเลเซีย คือการปล่อยข่าวให้ร้ายเจ้าหน้าที่ไทยว่าจ้องจับกุมแรงงานไทยเพื่อรีดเงิน ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องตรงกันข้าม และแรงงานไทยก็มาทราบเมื่อกลับถึงแผ่นดินเกิดแล้ว
"เด๊ะตี" หรือ นางสาวตี (สงวนนามสกุล) เล่าประสบการณ์เลวร้ายไม่ต่างจากสารีฮะ
"แรงงานส่วนใหญ่ยอมจ่ายค่านายหน้าเพื่อให้พากลับมายังประเทศไทย เพราะถ้าโดนจับได้ที่มาเลเซีย และพบว่าเป็นคนต่างด้าว ใช้วีซ่าผิดประเภท ก็จะถูกเฆี่ยนตีและถูกจับส่งศาล อาจจะต้องติดคุก ฉันกับสามีจึงตัดสินใจติดต่อนายหน้าเพื่อกลับประเทศไทย"
"เด๊ะตี" เล่าว่า นายหน้าเป็นคนมาเลย์ เรียกเงินต่อหัวถึง 5,000 บาท แถมยังไม่จบที่ราคานี้ด้วย
"เราออกจากกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่ 5 ทุ่ม ขึ้นรถบัส ตกลงกันให้ไปส่งที่ชายแดนสุไหงโกลก มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 5,000 บาท ฉันและสามีก็ยอมจ่าย เพราะพาสปอร์ตหมดอายุแล้ว และไม่รู้ว่าทางประเทศไทยอนุโลมให้กลับมาได้ เพราะมีข่าวลือมากมายว่ากลับมาไม่ได้ ทหารไทยจับ เจ้าหน้าที่จับ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยถึงทราบว่าทางการไทยรอต้อนรับอย่างดี"
รายละเอียดการเดินทางของ "เด๊ะตี" กับสามี ซับซ้อนกว่าสารีฮะ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพงกว่ามาก
"เรานั่งรถบัสมาลงในรัฐกลันตัน หลังจากนั้นก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งมารับไปที่รีสอร์ท ฉันก็ไม่รู้ว่าจะไปตรงไหน เลยยอมเสี่ยงให้นายหน้าพาไป หลังจากเข้าพักรีสอร์ทแล้วก็จะมีคนมาบอกว่า ถ้าจะกินข้าวต้องเสียเงิน 50 ริงกิต (ประมาณ 400 บาท) แล้วก็จะมีนายหน้าอีกกลุ่มหนึ่งมาติดต่อว่า ถ้าหากต้องการจะข้ามฟาก ต้องเสียเงินอีก 300 ริงกิต"
ที่ร้ายที่สุดคือการบอกว่าได้ตกลงกับทหารไทยไว้หมดแล้ว...
"นายหน้าอ้างว่าได้ตกลงกับทหารไทยไว้แล้ว จะเดินข้ามไปหรือข้ามเรือก็ได้ แต่ต้องเสียเงินเหมือนกัน เบ็ดเสร็จค่ารีสอร์ทแล้วก็ค่าข้ามเรือต้องเสียเงินอีก 1,500 บาท สรุปว่าต่อหัวจากกัวลาลัมเปอร์ถึงฝั่งไทยได้ ฉันกับสามีจ่ายไปคนละประมาณ 7,500 บาท พอมาถึงประเทศไทยถึงรู้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยต้อนรับอย่างดี และไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกเงินใดๆ เลย"
แม้ "เด๊ะตี" กับสามีจะไม่ได้สรุปบทเรียนใดๆ เกือบกับสารีฮะ แต่ดูจากแววตาแล้ว สิ่งที่เธอต้องการสื่อไม่ได้ต่างอะไรกับสารีฮะ คือที่ไหนก็ไม่ดีเท่าเมืองไทย...
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน
ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน
เช็คพร้อมรอบสุดท้าย! ชายแดนใต้เปิดด่านรับคนไทยจากมาเลย์
ยอดกลับไทย 5 ด่านชายแดนใต้วันแรกต่ำกว่าเป้า - จับลักลอบเข้าเมืองได้อีก 3
หนีข้ามแดนมากกว่าผ่านด่าน! เรื่องวุ่นๆ ของแรงงานต้มยำกลับบ้านเกิด
หวั่นศูนย์กักกันล้น! สั่งห้ามผ่อนผันพวกออหน้าด่านกดดันข้ามแดน
จนท.เห็นใจแรงงานไทยลำบาก เข้าช่องทางธรรมชาติพร้อมดูแล แถมช่วยค่าปรับ
โควิดทำพิษกัก 144 ชีวิตต้องปิดด่านสะเดา คนไทยข้ามแดนย้ายไปปาดังเบซาร์
ภาพประทับใจ...ทหารพรานแบ่งข้าวให้แรงงานไทยข้ามฝั่งจากมาเลย์
ส่องสถานการณ์โควิด 3 จังหวัดใต้