ด่านพรมแดนสุไหงโกลก จ.นราธิวาส กลายเป็นจุดที่มีปัญหาที่สุดในการรับแรงงานไทยที่ตกค้างในมาเลเซียกลับประเทศ แม้รัฐบาลจะผ่อนผันให้ข้ามแดนได้วันละ 100 คน ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาก็ตาม
การเปิดด่านรับคนไทยตกค้างในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปิดจุดผ่านแดนถาวรทั่วประเทศ 23 ช่องทางใน 21 จังหวัด แต่จำกัดจำนวนผู้ผ่านแดนด่านละ 100 คนต่อวัน เพื่อไม่ให้มีปัญหากับกระบวนการกักกันตัว (quarantine) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเปิดจุดผ่านแดน 5 ช่องทางใน 4 จังหวัด เพื่อรองรับคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานร้านต้มยำกุ้ง และแรงงานภาคเกษตร รวมถึงภาคประมง แต่จำกัดจำนวนผู้ผ่านแดนไม่เท่ากัน คือ ด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส อนุญาตวันละ 100 คน, ด่านเบตง จ.ยะลา อนุญาตวันละ 50 คน, ด่านสะเดา จ.สงขลา อนุญาตวันละ 100 คน, ด่านตำมะลัง จ.สตูล อนุญาตวันละ 50 คน และด่านวังประจัน จ.สตูล อนุญาตวันละ 50 คน
การเปิดด่าน 3 วันที่ผ่านมา พบปัญหาจำนวนผู้เดินทางผ่านด่านพรมแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายมีต่ำกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้ เพราะต้องมีเอกสารรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในมาเลเซีย มีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพดีพร้อมเดินทาง หรือ fit to travel และมีชื่อตามคิวที่ลงทะเบียนเอาไว้ ทั้งยังต้องเดินทางถึงหน้าด่านก่อนเวลา 12.00 น. ทำให้แรงงานไทยในมาเลเซียจำนวนมากไม่สามารถจัดหาเอกสารได้ครบ เพราะเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่าย และเดินทางไม่สะดวก เนื่องจากทางการมาเลเซียสั่งปิดประเทศมานานก่อนไทย เพื่อสกัดโรคระบาด ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่มีงานทำ และขาดรายได้
จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ที่เลือกเส้นทางลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ และยอมให้ถูกจับกุมจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีแรงงานอีกจำนวนมากที่มีเอกสารไม่ครบ ไปออกันที่หน้าด่าน เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ผ่อนผัน อนุญาตให้ข้ามแดนได้ ซึ่งเคยมีการผ่อนผันให้ในช่วง 2 วันแรก
สรุปจนถึงขณะนี้มีแรงงานในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย แยกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย
1. กลุ่มที่มีเอกสารครบ และข้ามแดนผ่านช่องทางด่านสุไหงโกลกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มนี้แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้ข้ามแดนได้วันละ 100 คน แต่จำนวนผู้เดินทางจริงมีราวๆ ครึ่งหนึ่งเท่านั้น (ตัวเลข ณ วันที่ 20 เม.ย. คือ 44 คน จากที่ได้รับอนุญาต 100 คน) กลุ่มนี้เมื่อข้ามแดนมาแล้วจะมีกระบวนการตรวจโรคและคัดกรองอย่างละเอียด ก่อนส่งเข้ากระบวนการกักกันเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ณ ศูนย์กักกันในภูมิลำเนาของตนเอง (ส่วนใหญ่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
2. กลุ่มที่ไม่มีเอกสารไม่ครบ หรือไม่มีเอกสารอะไรเลย มีแต่หนังสือเดินทางไทย (พาสปอร์ต) หรือบัตรประจำตัวประชาชนยืนยันว่าเป็นคนไทยเท่านั้น กลุ่มนี้ใช้วิธีลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ บ้างก็พยายามหนี บ้างก็ยอมให้จับกุม เพื่อเสียค่าปรับ 800 บาท และเข้ากระบวนการกักกันสังเกตอาการ 14 วัน
3. กลุ่มที่เอกสารไม่ครบ ไม่มีชื่อลงทะเบียน ไม่ได้รับอนุญาตให้ข้ามแดนได้ จึงไปออกันที่หน้าด่านทั้งฝั่งมาเลเซียและไทย เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ผ่อนผันให้ข้ามแดน เนื่องจากช่วง 1-2 วันก่อนหน้ามีการผ่อนผันให้ข้ามแดนได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เกรงว่าหากไม่ผ่อนผันให้ คนเหล่านี้จะใช้วิธีลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งหากเล็ดลอดไปได้ อาจนำเชื้อโควิด-19 กลับไประบาดในชุมชน ส่งผลเสียหายร้ายแรงกว่า
สำหรับแรงงานกลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่จับกุมได้ทุกวัน เริ่มจากวันที่ 18 เม.ย. จับกุมได้ 294 คน วันที่ 19 เม.ย. จับกุมได้ 300 คน และวันที่ 20 เม.ย. จับกุมได้ 122 คน รวม 3 วันช่วงเปิดด่าน จับกุมผู้ลักลอบข้ามแดนได้แล้วกว่า 700 คน
จากจำนวนผู้ลักลอบข้ามแดนที่มีจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจมีคนลักลอบเข้าเมืองได้โดยไม่ถูกจับกุม ซึ่งอาจกลับไปเป็นผู้แพร่เชื้อในชุมชนของตนเอง ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจผ่อนผันให้แรงงานไทยที่มีเอกสารไม่ครบ สามารถเดินทางข้ามแดนได้ผ่านช่องทางปกติ ด่านพรมแดนสุไหงโกลก (กลุ่มที่ 3) โดยกลุ่มนี้ข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. มีราวๆ 800-1,000 คน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการลักลอบเข้าเมืองและการผ่อนผันของเจ้าหน้าที่ ทำให้จำนวนแรงงานไทยในมาเลเซียที่เดินทางกลับประเทศมีมากกว่าจำนวนที่ตั้งเป้าเอาไว้มาก ส่งผลให้ขณะนี้ "ศูนย์กักกัน" ที่เตรียมไว้อาจจะไม่เพียงพอรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับภูมิลำเนา อย่างเช่นที่ จ.นราธิวาส เตรียมศูนย์กักกันทั้งระดับจังหวัดและอำเภอรวม 102 แห่ง สามารถรองรับได้ 1,639 คน) ล่าสุดจึงมีคำสั่งจากรัฐบาลห้ามผ่อนผันผู้ที่มีเอกสารไม่ครบเดินทางข้ามแดนได้อีก ส่งผลให้กลุ่มแรงงานนับพันออกันอยู่ที่หน้าด่านพรมแดน
แรงงานไทยรายหนึ่งบอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ที่ด่านรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ตรงข้ามด่านสุไหงโกลกของไทย มีแรงงานตกค้างบริเวณอีกกว่า 800 คนที่พยายามจะกลับบ้าน แต่ไม่มีเงินทำใบรับรองแพทย์ ทำให้ไม่สามารถผ่านแดนมาได้ จึงอยากขอร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งช่วยเหลือ เพราะบางคนมีเงินติดตัวไม่ถึง 100 บาท และเด็กๆ ก็เริ่มไม่มีนมกินแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ ปิดเมือง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ จึงขาดรายได้ ตอนนี้อยากกลับบ้านมากพร้อมที่จะถูกกักตัว ขอเพียงแค่ให้ได้เข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น
น.ส.พาตีเมาะ เงาะตาลี แรงงานร้านต้มยำกุ้งในกัวลาลัมเปอร์ วัย 22 ปี ส่งข้อมูลทาง sms ขอความช่วยเหลือมายัง "ทีมข่าวอิศรา" โดยเล่าว่า ตนและเพื่อนๆ ไม่มีหนังสือเดินทาง เพราะช่วงก่อนที่รัฐบาลมาเลเซียจะสั่งปิดประเทศ พวกตนต้องต่อใบอนุญาตทำงาน หรือ เวิร์ค เพอร์มิต พอดี จึงส่งหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่มาเลเซียไป จากนั้นทางการก็สั่งปิดประเทศ หยุดการทำงานทั้งหมด สำนักงานต่างๆ ปิดหมด ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปที่สำนักงานเพื่อนำหนังสือเดินทางกลับมาคืนไม่ได้ พวกตนจึงตกค้างอยู่ในมาเลเซียโดยที่ไม่มีแม้หนังสือเดินทาง ทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนกับสถานทูตเพื่อเดินทางกลับบ้านได้ เพราะสถานทูตต้องการเอกสารยืนยันเป็นหนังสือเดินทาง
ขณะที่แรงงานบางคนตัดสินใจเดินข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งก็คือแม่น้ำโกลก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารจับกุม และส่งไปกักตัว เนื่องจากบางคนไม่มีเงินซื้อข้าวรับประทานแล้ว
ข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. มีแรงงานไทยข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณท่าข้ามบ้านน้ำตก หมู่ 5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จำนวน 122 คน เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวไปเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย และส่งไปตรวจคัดกรอง ณ อาคารสนามฟุตบอลมหาราช จ.นราธิวาส ก่อนส่งไปกักตัวตามภูมิลำเนาต่อไป
ส่วนที่ท่าข้ามบ้านบือเร็ง หมู่ 8 ต.สุไหงโกลก อ.สุไหงโกลก เจ้าหน้าที่พบชายไทยวัย 32 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี กำลังข้ามแดนเข้ามา และยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมเพื่อส่งตัวไปกักกันตามมาตรการป้องกันโรคระบาด
สำหรับปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ทำให้บรรยากาศตามแนวชายแดนเป็นไปอย่างตึงเครียด เพราะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีแทรกตัวเข้าไปปลุกระดมกับคนที่พลาดหวังเดินทางข้ามแดน โดยมีการโจมตีให้ร้ายรัฐบาลไทย ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญยังเกรงว่ายิ่งใกล้ถึงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด จะมีคนไทยในมาเลเซียทะลักกลับไทยมากขึ้นจนรองรับไม่ไหว ซึ่งทางจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้มีการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ในวันที่ 23 เม.ย.นี้แล้ว
มีรายงานด้วยว่า ในวันอังคารที่ 21 เม.ย. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก จะลงพื้นที่ด่านพรมแดนสุไหงโกลก เพื่อรับทราบปัญหา และประชุมหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง
------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน
ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน
เช็คพร้อมรอบสุดท้าย! ชายแดนใต้เปิดด่านรับคนไทยจากมาเลย์
ยอดกลับไทย 5 ด่านชายแดนใต้วันแรกต่ำกว่าเป้า - จับลักลอบเข้าเมืองได้อีก 3
หนีข้ามแดนมากกว่าผ่านด่าน! เรื่องวุ่นๆ ของแรงงานต้มยำกลับบ้านเกิด