รมช.มหาดไทย บุกสุไหงโกลก เรียกประชุมทุกภาคส่วนร่วมวางมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยตกค้างในมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง เตรียมจัดงบแจกเงินเป็นค่ายังชีพเพื่อให้พำนักอยู่ได้ช่วงมาเลย์ปิดประเทศ วอนอย่าเพิ่งกลับไทย
ที่ผ่านมามีข่าวแรงงานไทยในมาลเเซีย กลุ่มลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ต้องตกงานเพราะร้านปิด และตกค้างกลับไทยไม่ได้นับหมื่นคน ถึงขั้นขาดแคลนอาหาร และปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ เพราะแรงงานกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน (เวิร์ค เพอร์มิต) ทำให้เข้าไม่ถึงมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ
ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 13 เม.ย.63 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มหาดไทย) ได้ลงพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และเรียกประชุมตัวแทนจากทุกหน่วยงาน โดยใช้สถานที่ด่านศุลกากรสุไหงโกลก เพื่อเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียและตกค้างไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ขณะที่ทางการมาเลเซียก็ขยายเวลาปิดด่านต่อไปอีกจนถึงวันที่ 28 เม.ย.63
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เข้าร่วมหารือก็เช่น พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอสุไหงโกลก และ นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาลเซีย เป็นต้น
ภายหลังการประชุม นายนิพนธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยครั้งนี้มาติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และมาตรการช่วยเหลือดูแลคนไทยในประเทศมาเลเซียตามสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ โดยฝากให้ติดตามคนไทยในประเทศมาเลเซียที่ยังตกค้างอยู่ว่ามีจำนวนเท่าใดแน่ โดยอาจใช้วิธีลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยและมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่บุคคลเหล่านี้พึงจะได้รับ
และหากเป็นไปได้ขอให้คนไทยที่ยังตกค้างในประเทศมาเลเซียยังไม่ต้องเดินทางกลับประเทศไทย โดยทางรัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณเยียวยาช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าครองชีพในการดำรงชีวิต เพื่อป้องกันการแพร่บาดของเชื้อหลังเดินทางกลับ และยังเสี่ยงต่อการถูกกักกัน 14 วันด้วย
"รัฐบาลต้องรู้จำนวนตัวเลขที่แน่ชัดก่อน ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจให้ได้ว่ามีจำนวนตัวเลขที่แน่นอนเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมีการเสนอให้ลงทะเบียนทางออนไลน์ โดยผ่านทางสถานกงสุล หรือทางสถานทูต เพื่อจะได้่รู้จำนวนคนไทยที่ตกค้างอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้คาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 7-8 พันคน เพื่อทางรัฐบาลจะได้เข้าไปดูแลเยียวยาได้อย่างทั่วถึง"
"เพราะเขาเหล่านั้นคือคนไทย จึงต้องดูแลในเรื่องของอาหารการกิน ค่าใช้จ่าย ตลอดจนถึงที่พักอาศัย เพื่อให้คนไทยในมาเลเซีย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียได้อย่างปกติ และหากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็สามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งผมจะนำข้อเสนอต่างๆ หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ 15 เม.ย.นี้ ส่วนจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อจัดการปัญหา ก็จะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน"
รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า ได้กำชับการปฏิบัติเรื่องการเข้า-ออกประเทศ เพราะพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีช่องทางธรรมชาติเพื่อใช้สัญจรมากกว่า 70 จุด หากเข้ามาโดยไม่ผ่านการคัดกรองกลาย จะเป็นความเสี่ยงที่สุด เจ้าหน้าที่จึงต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ขณะที่คนไทยเองก็ต้องให้ความร่วมมือ โดยแรงงานที่อยู่ในมาเลเซียควรติดต่อญาติให้ไปประสานกับสถานกงสุลหรือสถานทูตในมาเลเซียว่าตนเองอยู่ที่ไหน เสมือนกับเป็นการลงทะเบียน เพื่อรัฐจะได้ช่วยเหลือเยียวยาได้ต่อไป และมีส่วนช่วยให้ลดความเสี่ยงการลักลอบเข้าออกระหว่างประเทศที่ไม่ได้ผ่านจุดคัดกรองได้อีกด้วย
ด้าน นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า แรงงานไทยใน 2 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ติดกับชายแดนภาคใต้ของไทย คือรัฐกลันตัน และตรังกานู มีอยู่ประมาณ 30,000-50,000 คน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดทุกสาขาราวๆ 190,000 คน โดยใน 2 รัฐนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างร้านต้มยำ ทางสถานกงสุลฯได้ส่งถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และยารักษาโรคไปแจกจ่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ แจกจ่ายได้ประมาณ 30%
มีรายงานว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า น่าจะมีมาตรการแจกเงินเป็นค่าครองชีพให้กับแรงงานไทยในมาเลเซีย เพื่อให้สามารถยังชีพอยู่ได้ เพื่อรอทางการมาเลเซียเปิดด่าน หรืออาจจะอนุญาตให้กลับมาขายอาหาร ทางลูกจ้างร้านต้มยำก็จะมีงานทำต่อไป เพียงแต่ช่วงที่ยังรออยู่นี้ รัฐบาลไทยก็จะอนุมัติเงินช่วยเหลือให้ อาจจะคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับการเยียวยากลุ่มอื่น
------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน