สถานการณ์การรองรับคนไทยที่เดินทางกลับจากมาเลเซียจนถึงวันนี้ มีผู้เดินทางข้ามแดนเข้ามามากเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทำให้สถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการในระดับจังหวัดและอำเภอ หรือ Local Quarantine ของนราธิวาส ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ จนต้องเร่งหาสถานที่กักตัวเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการ
ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 รัฐบาลได้อนุญาตให้คนไทยในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป และลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง หรือร้านอาหารไทยในมาเลเซีย เดินทางกลับภูมิลำเนาได้ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียขยายเวลาล็อกดาวน์ปิดประเทศ ทำให้คนไทยที่นั่นเดือดร้อน โดยเปิดให้เดินทางเข้าจุดผ่านแดนถาวร 5 ช่องทาง แยกเป็น จ.สตูล 2 ช่องทาง (ด่านตำมะลัง, ด่านวังประจัน) จ.สงขลา 1 ช่องทาง (ด่านสะเดา/ปาดังเบซาร์) จ.ยะลา 1 ช่องทาง (ด่านเบตง) และ จ.นราธิวาส 1 ช่องทาง (ด่านสุไหงโกลก) ทั้งยังจำกัดจำนวนผู้เดินทางข้ามแดนทั้ง 5 ด่านรวมกันไม่เกินวันละ 350 คน
แต่ปัญหาอยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่จุดผ่านแดนสุไหงโกลก ซึ่งได้รับอนุญาตให้รับคนไทยกลับได้วันละ 100 คน โดยต้องมีหลักฐานครบ ทั้งเอกสารรับรองจากสถานทูตและสถานกงสุล ตลอดจนใบรับรองแพทย์ แต่ปรากฏว่ามีคนไทยจำนวนมากที่หาเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง (ค่าเดินทาง ค่าออกใบรับรองแพทย์ ขณะที่แรงงานตกงาน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน) จึงตัดสินใจเดินทางข้ามแดนโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ซึ่งก็คือข้ามแม่น้ำโกลก ทั้งข้ามเรือ และเดินลุยน้ำข้ามมา
จากสถานการณ์นี้ส่งผลให้มีจำนวนคนไทยที่ข้ามแดนมาแล้วทั้งหมดเฉพาะด่านสุไหงโกลก 3,195 คน แยกเป็นข้ามแดนถูกกฎหมาย (เอกสารครบ ผ่านด่านศุลกากร) 1,047 คน และผิดกฎหมาย 2,002 คน (จะเห็นว่าคนข้ามแดนผิดกฎหมายมีจำนวนมากกว่าถูกกฎหมาย) ทั้งๆ ที่สถานที่กักตัวที่จังหวัดเตรียมเอาไว้ รองรับได้ประมาณ 2,000 คนเท่านั้น
ปัญหาที่จังหวัดนราธิวาสต้องเผชิญ คือ
1. มีคนลักลอบข้ามแดนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งตามนโยบายต้องกักตัวทุกคน เพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับไประบาดในชุมชน
2. หากคนไทยที่ข้ามแดนเข้ามามีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้กักตัวในจังหวัดนราธิวาสทั้งหมด นอกเหนือจากคนนราธิวาสเอง
3. นราธิวาสไม่ได้รับเฉพาะคนไทยที่ข้ามแดนเข้ามาทางด่านสุไหงโกลก แต่ยังต้องรับคนไทยที่ข้ามแดนเข้ามาทางจุดผ่านแดนอื่นๆ แต่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาสด้วย (ถูกส่งกลับมา)
และ 4. ต้องรับคนนราธิวาสที่ถูกผลักดันออกจาก จ.ภูเก็ต รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากจังหวัดอื่นๆ
สำหรับสถานที่กักตัว หรือ Local Quarantine ที่ทางจังหวัดเตรียมไว้ มีทั้งหมด 3 เฟส แบ่งเป็น เฟสแรก 105 แห่ง รองรับได้ราวๆ 2,000 คน เฟสสอง 5 แห่ง รองรับได้ 540 คน และเฟสสามอีก 4 แห่ง รองรับได้ 360 คน จนถึงขณะนี้เต็มหมดแล้ว แม้จะมีคนที่กักตัวครบ 14 วัน คือเข้ากักตั้งแต่วันแรกๆ วันที่ 18-19 เมษายน ครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ทยอยออกไปบ้างแล้วก็ตาม แต่สถานที่กักตัวก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
ล่าสุด นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กำลังเร่งหาสถานที่กักตัวในเฟสที่ 4 ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงได้แก้ปัญหาด้วยการส่งตัวไปฝากกักไว้ตามโรงเรียนตาดีกาในแต่ละอำเภอ โดยมีการประสานขอความร่วมมือล่วงหน้า
จากภาพรวมของสถานการณ์ ทำให้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมีเดียจากคนที่ถูกกักตัว บางรายก็บอกว่าถูกนำไปกักรวมกันถึง 20 กว่าคน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกแพร่เชื้อ ทำไมถึงไม่มีห้องเดี่ยวให้พัก บ้างก็ว่าต้องนอนบนพื้น ไม่มีเตียงให้ ใช้ห้องน้ำรวม จะเสี่ยงแพร่เชื้อหรือไม่ บางกลุ่มที่กลับมาแบบปัจจุบันทันด่วน ทางจังหวัดก็ไปจัดพื้นที่อาคารในตลาดให้พักแรมก่อน แม้จะพยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพ แต่ก็ไม่สะดวกสบาย
แฉขบวนการหลอกพาข้ามแดนสูญหลายหมื่น
อีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าหน้าที่ต้องแบกรับ ก็คือการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายเข้ามาในเวลากลางคืน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องให้พักแรมรวมกันในศูนย์กีฬาและสนามกีฬามหาราช ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คัดกรองเฝ้ารอรับได้ตลอดเวลา โดยหลังจากพักค้างคืนแล้ว ก็จะพาส่งกลับภูมิลำเนาในวันรุ่งขึ้น และเข้าสถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการในระดับท้องถิ่น
นอกจากนั้น คนไทยจากมาเลเซียหลายคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านต้มยำ ยังเล่าว่าถูกหลอกให้จ่ายเงินเพื่อมาส่งเดินทางข้ามแดนด้วย ทั้งค่ารถ ค่าเอกสารต่างๆ รวมแล้วคนละหลายพันบาท มีกลุ่มหนึ่งมากัน 7 คน หมดไปกว่า 35,000 บาท แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าไม่สามารถข้ามแดนผ่านช่องทางปกติได้ เพราะถูกมิจฉาชีพล่อลวง จึงต้องตัดสินใจลักลอบข้ามแดนแทน
นี่คือปัญหาใหญ่ที่ระดับจังหวัดอาจจะรับมือไม่ไหว คงต้องให้ส่วนกลางอย่างรัฐบาลช่วยบรรเทา
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพชุด ชุดที่ 2 มาจากเฟซบุ๊กของประชาชนที่ร้องเรียนเรื่องความไม่สะดวกสบายของสถานที่กักตัวของ จ.นราธิวาส
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน
ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน
เช็คพร้อมรอบสุดท้าย! ชายแดนใต้เปิดด่านรับคนไทยจากมาเลย์
ยอดกลับไทย 5 ด่านชายแดนใต้วันแรกต่ำกว่าเป้า - จับลักลอบเข้าเมืองได้อีก 3
หนีข้ามแดนมากกว่าผ่านด่าน! เรื่องวุ่นๆ ของแรงงานต้มยำกลับบ้านเกิด
หวั่นศูนย์กักกันล้น! สั่งห้ามผ่อนผันพวกออหน้าด่านกดดันข้ามแดน
จนท.เห็นใจแรงงานไทยลำบาก เข้าช่องทางธรรมชาติพร้อมดูแล แถมช่วยค่าปรับ
โควิดทำพิษกัก 144 ชีวิตต้องปิดด่านสะเดา คนไทยข้ามแดนย้ายไปปาดังเบซาร์
ภาพประทับใจ...ทหารพรานแบ่งข้าวให้แรงงานไทยข้ามฝั่งจากมาเลย์