มนุษยธรรมนำกฎหมาย! เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายยอมรับคนไทยตกค้างในมาเลเซียเดือดร้อนจริง ไม่มีแม้เงินทำใบรับรองแพทย์ เดินข้ามแม่น้ำมาให้จับก็ต้องยอม พร้อมดูแลเรื่องอาหารการกินรวมถึงค่าปรับ ขณะที่ ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ตรวจช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามริมแม่น้ำโกลก สั่งติดไฟส่องสว่าง พร้อมย้ำทุกคนที่ข้ามมาต้องเข้าศูนย์กักกัน รวมทั้งเช็คประวัติ อาชญากรรมและตรวจสอบภูมิลำเนา
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางไปที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์แรงงานไทยตกค้างในมาเลเซียลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ ไม่ยอมผ่านจุดผ่านแดนถาวรที่รัฐบาลเปิดให้ 5 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเปิดให้เดินทางผ่านแดนได้โดยจำกัดจำนวนไม่เกิน 350 คนต่อวัน แต่ต้องมีหลักฐานครบ คือเอกสารรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในมาเลเซีย และใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพพร้อมเดินทาง โดยด่านสำคัญที่มีปัญหามากที่สุดอยู่ที่ด่านสุไหงโกลก
พล.อ.อภิรัชต์ ลงพื้นที่ท่าบ่อดิน (ท่าข้ามแม่น้ำโกลก) บ้านตันหยงมะลิ ต.สุไหงโกลก ซึ่งเป็นจุดที่มีการลักลอบข้ามแดน โดยใช้เรือหรือว่ายน้ำข้าม โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.สมดุล เอี่ยมเอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ให้การต้อนรับ
ผบ.ทบ.ได้ตรวจเยี่ยมกำลังพลของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 18 ชุดปฏิบัติการป้องกันชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมมอบเครื่องอุปโภค บริโภค และเงินบำรุงขวัญกำลังพล โดยกำชับเจ้าหน้าที่ทหารให้ทำงานอย่างเข้มแข็ง พร้อมสั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จัดหาไฟส่องสว่างมาติดตั้งตลอดแนวแม่น้ำโกลก เพื่อกวดขันกดดันไม่ให้มีแรงงานหนีข้ามเข้ามา พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ออกลาดตะเวนตลอด 24 ชั่วโมง
จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และผู้บัญชาการกองกำลังได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว และได้อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยที่ข้ามแดน ซึ่งในส่วนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ให้ความสนใจมาก โดยคนไทยที่ข้ามมาตามช่องทางธรรมชาติจะต้องได้รับการดูแล และไปเข้าระบบกักกันตามศูนย์กักกันเพื่อสังเกตอาการ หรือ local quarantine ตามระบบของกระทรวงสาธารณสุข
"ทางทหารได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนข้ามกลับเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ตรวจสอบในเรื่องของที่อยู่ว่าอยู่ในพื้นที่จริงๆ และพิสูจน์ทราบความมีตัวตนของผู้ที่เข้ามา โดยทางหน่วยงานความมั่นคงก็ต้องทำทำควบคู่กันไป ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส" ผบ.ทบ.ระบุ
สำหรับวันที่ 21 เม.ย. มีคนไทยที่ทยอยเดินทางข้ามแดนผ่านด่านพรมแดนสุไหงโกลก โดยมีเอกสารครบถ้วน และได้รับอนุญาตถูกต้อง จำนวน 82 คน ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกวันที่ผ่านมา โดยยอดรวม 4 วัน นับตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 เม.ย.63 มีรัฐบาลอนุญาตให้คนไทยเดินทางข้ามแดนกลับมาได้แบบจำกัดจำนวนวันละ 100 คนนั้น ที่ด่านสุไหงโกลกมีผู้เดินทางข้ามแดนแล้วจำนวน 239 คน
ด้าน พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนคนไทยที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมายตามแนวชายแดน ตลอดแนวแม่น้ำโกลก สิ่งที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นอันดับแรก คือจับกุมดำเนินคดี และเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 800 บาท จากนั้นก็ส่งเข้าสู่กระบวนการคัดกรองในพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่เตรียมการเอาไว้ โดยเจ้าหน้าที่พยายามตรวจสอบดูแลอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน รวมถึงค่าปรับต่างๆ โดยทางอำเภอสุไหงโกลกได้เตรียมการอย่างดีสำหรับการอำนวยความสะดวกในครั้งนี้
"เราไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ก็พยายามช่วยเหลือเกื้อกูล ในขณะที่เขาเดือดร้อน ติดขัดปัญหา สิ่งไหนที่ทางการไทย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองช่วยเหลือได้ ก็จะช่วยเต็มที่ โดยจะมีการประสานงานไปทางญาติเพื่อช่วยเหลือครอบครัวด้วย พร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เดินทางกลับมาได้กลับสู่ภูมิลำเนา แต่จะต้องกักตัว 14 วันก่อน ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องกังวล เจ้าหน้าที่จะคัดกรองอย่างดี ใครป่วยไข้เจ้าหน้าที่จะส่งเข้าโรงพยาบาลทันที"
"พี่น้องแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยากจน การจะไปสถานทูต (หมายถึงสถานทูตไทยในมาเลเซีย) เป็นเรื่องลำบาก การจะใช้เงิน 1,500 บาทไปทำใบรับรองแพทย์ (เพื่อเดินทางผ่านด่านพรมแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ถือเป็นเรื่องยาก จึงมาใช้ช่องทางตรงนี้ เผื่อว่ารัฐบาลไทยจะเปิดให้เข้ามาและตรวจสอบกักกัน ถือเป็นปัญหาที่เจอทุกวัน ส่วนคนไทย 100 คนที่เข้ามาทางด่านถูกต้องในแต่ละวัน ต้องยอมรัรบว่าเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร เข้าถึงสถานทูตได้ง่ายกว่า ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเงิน มีเยอะมาก หลายพันคน" พล.ต.ศานติ กล่าว
ขณะที่ นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโกลก กล่าวว่า มีพี่น้องชาวไทยหลบหนีข้ามแม่น้ำโกลกเข้ามาเจอเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามห้ามและตักเตือนแล้วไม่ให้เข้ามา แต่ก็ยังมีพี่น้องพยายามเดินข้ามแม่น้ำมา เพราะว่ามีความเดือดร้อน และด้วยความเป็นคนไทยด้วยกันจึงไม่อยากผลักไล่ไสส่ง เมื่อพี่น้องประชาชนเดินเข้ามาให้เจ้าหน้าที่จับ ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหารก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ต้องนำตับมาดำเนินคดี และพาเข้าสู่กระบวนการคัดกรองตามระบบ รวมทั้งปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน จ.นราธิวาส ถือว่าดีที่สุดในสามจังหวัดชายแดน โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 33 ราย รักษาหายแล้ว 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่งตรวจทางปฏิบัติการทั้งหมด 722 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 6 ราย โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ราย และโรงพยาบาลสุไหงโกลก 2 ราย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน
ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน
เช็คพร้อมรอบสุดท้าย! ชายแดนใต้เปิดด่านรับคนไทยจากมาเลย์
ยอดกลับไทย 5 ด่านชายแดนใต้วันแรกต่ำกว่าเป้า - จับลักลอบเข้าเมืองได้อีก 3
หนีข้ามแดนมากกว่าผ่านด่าน! เรื่องวุ่นๆ ของแรงงานต้มยำกลับบ้านเกิด
หวั่นศูนย์กักกันล้น! สั่งห้ามผ่อนผันพวกออหน้าด่านกดดันข้ามแดน