หลังจากรัฐบาลมาเลเซียประกาศปิดประเทศ ปิดด่านพรมแดนทุกด้าน รวมทั้งด้านเหนือที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.63 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีคนไทยในมาเลเซียทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดนั้น
ปรากฏว่าตลอดเกือบครึ่งเดือนที่ผ่านมายังมีคนไทยตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านต้มยำ (ชื่อเรียกร้านอาหารไทยในมาเลเซีย) แรงงานภาคประมง แรงงานสาขาอื่นๆ และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่เดินทางไปทำธุระ เยี่ยมญาติ แล้วกลับออกมาไม่ทัน
ยิ่งรัฐบาลมาเลเซียต่อเวลาปิดประเทศออกไปจนถึงวันที่ 14 เม.ย. ยิ่งทำให้คนไทยที่เป็นผู้ใช้แรงงาน และทำธุรกิจที่มาเลเซียต้องการเดินทางกลับประเทศ เพราะช่วงเวลาการปิดประเทศยาวนานเกินไป และบรรยากาศภายในประเทศก็มีคำสั่งห้ามเปิดร้านหรือสถานประกอบการเพื่อค้าขายไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย ทำให้เมืองทั้งเมืองเหมือนถูกชัตดาวน์
สำหรับความเคลื่อนไหวทางฝั่งไทย ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้มีคำสั่งผ่อนผันเปิดจุดผ่านแดนเป็นพิเศษ 4 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับประเทศ คือ ด่านตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล, ด่านวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล, ด่านสะเดา อำเอสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
เงื่อนไขในการข้ามพรมแดน คือ ต้องมีหนังสือรับรองการเดินทางกลับเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในมาเลเซีย และต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยืนยันว่ามีสุขภาพพร้อมเดินทาง หรือ Fit to travel
ทว่าตั้งแต่มีการเปิดจุดผ่านแดนเป็นกรณีพิเศษ 4 แห่ง ปรากฏว่ามีคนไทยในมาเลเซียแห่เดินทางกลับเข้าประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขเอกสารไม่ครบ ทำให้ข้ามแดนไม่ได้ อย่างเช่นที่ด่านวังประจันมีปัญหามาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. มีคนไทยที่ทำงานในมาเลเซียมารอข้ามแดนกว่า 200 คน แต่เข้าประเทศไม่ได้
ส่วนที่ด่านสะเดา มีผู้ขอเดินทางกลับเข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 200 คนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เจ้าหน้าที่ได้ไปตั้งหน่วยคัดกรองคนผ่านแดนเพื่อตรวจสุขภาพสกัดโควิด-19 ทำให้กลุ่มแรงงานไทยต้องเดินเท้าราว 1.5 กิโลเมตรจากด่านมาเลเซียกว่าจะถึงด่านไทย
ที่ด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ตรงข้ามด่านรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้เปิดช่องทางให้คนไทยเดินทางกลับประเทศได้เป็นกรณีพิเศษ ระหว่างเวลา 07.00-19.00 น. โดยช่องทางนี้อนุญาตให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาหรือมีที่พักอาศัยในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
สำหรับบรรยากาศที่ด่านสุไหงโกลก มีผู้เดินทางข้ามแดนไม่มากนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนจากสามจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางกลับบ้านก่อนที่ทางการมาเลเซียจะประกาศปิดด่านและล็อคดาวน์
ขณะที่ขั้นตอนหลังเดินทางผ่านด่าน จะต้องมีการแจ้งข้อมูลจุดหมายปลายทาง และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามอาการในระยะ 14 วัน จากนั้นจะมีรถนำส่งไปยังจังหวัดปลายทางเพื่อป้องกันการตกค้างในพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสประกาศปิดเส้นทางการคมนาคมทั้งหมดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวจากพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ครองที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่าทางพรรคได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียว่ามีลูกจ้างร้านต้มยำตกค้าง กลับประเทศไม่ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีเงินซื้ออาหารรับประทาน
นายซัมซูดิง วาซูกาเตาะ หรือ วันซำซูดิง ประธานกลุ่มผู้ประกอบการต้มยำกุ้งในมาเลเซีย รายงานสภาพปัญหาว่า ร้านอาหารต้มยำกุ้งส่วนมากต้องปิดกิจการชั่วคราว จากมาตรการปิดประเทศของรัฐบาลมาเลเซีย แม้จะอนุญาตให้เปิดขายอาหารแบบนำกลับได้ แต่ก็มีร้านต้มยำส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงเปิดร้านอยู่ โดยเปิดจำหน่ายได้ในระหว่างเวลา 08.00 20.00 น. ตามที่รัฐบาลมาเลเซียอนุญาต
สำหรับร้านที่ปิดชั่วคราวนั้น ยังมีลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ยังคงตกค้างไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เท่าที่สำรวจในเบื้องต้นมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 คน ลูกจ้างกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน ต้องหยุดงาน ส่งผลให้ไม่มีเงิน และขาดแคลนอาหาร นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับจ้างทั่วไป พ่อค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นคนไทย ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยในเบื้องต้นทางสถานทูตไทยได้มอบสิ่งของยังชีพเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แล้ว แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ
ส่วนการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีหลายขั้นตอนต้องดำเนินการ เช่น ต้องขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล, ต้องติดต่อเพื่อขอใบรับรองจากสถานทูตซึ่งอยู่ห่างไกล การเดินทางไปสถานทูตต้องขออนุญาตที่สถานีตำรวจก่อน และการเดินทางก็มีระยะเวลาจำกัด รถโดยสารสาธารณะมีไม่เพียงพอ เนื่องจากอยู่ในภาวะปิดประเทศ จะเดินทางกลับด้วยรถส่วนตัวหลายคนก็ไม่ได้ เพราะทางการมาเลเซียอนุญาตให้เดินทางเพียงคนเดียว การเดินทางกลับไทยจึงมีอุปสรรคอย่างมาก
เหตุนี้ทางกลุ่มผู้ประกอบการต้มยำกุ้ง และลูกจ้างร้านต้มยำจึงขอความช่วยเหลือ 2 ประการ คือ 1.สนับสนุนเสบียงอาหารเพื่อยังชีพระยะสั้น และ 2.ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยให้นำรถบัสมารับ แล้วเดินทางกลับพร้อมกัน ซึ่งทุกคนพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเชื้อไวรัสและถูกกักตัวในประเทศไทย โดยขอเพียงได้กลับภูมิลำเนาในยามนี้เท่านั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ข้อความและภาพการร้องขอความช่วยเหลือจากลูกจ้างร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียที่อยากกลับบ้านเกิด
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้
พบ"กลุ่ม 132 คนไทย"ป่วยที่ปัตตานี-ยะลา!
เช็คชื่อ 132 คนไทย สธ.ยันติดเชื้อแล้ว 2 - ทัพ 4 ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน
งดละหมาดศุกร์ในกทม. - คุมเข้มแรงงานต้มยำ - ปัตตานีมีติดโควิด
ปัตตานียอดติดโควิดพุ่ง 7 ราย - สงขลาลุ้นอีก 12
พบโควิดครบ 3 จังหวัดใต้ - ตลาดยังแน่น - จี้ ศอ.บต.รวมศูนย์ให้ข้อมูล
สรุปยอดผู้ป่วยโควิดชายแดนใต้ ศอ.บต.เร่งรับมือ นศ.-แรงงานแห่กลับเพิ่ม
ชายแดนใต้เผชิญวิกฤติ "โควิด-ปิดด่าน-ยางถูกเท"
ปัตตานีชัตดาวน์! หลังผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 26 ราย
รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด?
ปณิธาน : งัด พ.ร.ก.สู้โรคระบาด...ประวัติศาสตร์กฎหมายพิเศษ
เปิดข้อมูลเบื้องหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สู้โควิด
กอ.รมน.สั่ง 25 ด่านหลักปิดสัญจรชายแดนใต้
แพทย์-พยาบาลติดโควิด! สั่งปิด รพ.บันนังสตา ยะลา
ชายชาวสุไหงโกลกสังเวยโควิดรายแรกชายแดนใต้
เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า! BRN ผวาโควิดเป็นภัยพิบัติ
ไทม์ไลน์ชายชาวสุไหงโกลกเหยื่อโควิด - เผยลูก 9 คนสุดลำบาก
ปัตตานีปิดทั้งจังหวัด ยะลา 8 หมู่บ้าน นราธิวาส 5 ตำบล
ยะลาอ่วมโควิดเสียชีวิตรายแรก ผู้ติดเชื้อปัตตานีจ่อครึ่งร้อย
3 จังหวัดใต้เปิดศูนย์กักตัว 200 นศ.ไทยกลับจากปากีสถาน