“พ.ต.อ.ทวี” เปิดงานท่องเที่ยวเมืองโบราณยะรัง เล่าประสบการณ์เยือนมณฑลซินเจียงของจีน ปลื้มเป็นมุสลิมเหมือนกัน ใช้ภาษาถิ่นไม่ต่างกัน แถมเป็นเขตปกครองพิเศษ ทำให้คนมีความสุข แอบคิด “ชายแดนใต้” อาจเดินสู่จุดนั้น ขณะที่ผู้ว่าฯปัตตานี ประกาศดันเมืองโบราณยะรังขึ้นทะเบียนมรดกโลก
วันเสาร์ที่ 12 เม.ย.2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง แม้เป็นวันหยุดราชการ และเป็นวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ โดยไปที่บริเวณสนามกีฬาเมืองโบราณยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน Check in Halal @ เมืองโบราณยะรัง
โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตลอดจนนายอำเภอยะรัง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สส.และคณะผู้บริหาร พรรคประชาชาติ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับอย่างเนืองแน่น
โอกาสนี้ ผู้ว่าฯปัตตานี และนายอำเภอ ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี เพื่อให้ช่วยผลักดันมิติของการแก้ปัญหาและการพัฒนาการท่องเทียวในพื้นที่อีกด้วย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับผู้ที่มารอต้อนรับ ตอนหนึ่งว่า ตนได้เดินทางไปมณฑลซินเจียง (ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นมณฑลที่ใหญ่ที่สุด และมีชาวอุยกูร์เป็นประชากรส่วนใหญ่) ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ ตนเคยคิดเหมือนกันว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเดินไปถึงตรงนั้นหรือไม่ ต้องให้คนในพื้นที่คุยกัน และเหนือสิ่งอื่นใดคือผู้บริหารที่มณฑลซินเจียงก็เป็นมุสลิม
“คือที่นั่นใช้คนพื้นที่เป็นผู้บริหาร คนที่ชินเจียงจะอยู่ในหุบเขา เป็นมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ชีวิตความเป็นอยู่เขาพูดภาษาถิ่น เหมือนบ้านเราก็พูดภาษามลายู ที่สำคัญที่เราสัมผัสได้ คือคนของเขามีความสุขมาก เพราะคับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก เขาได้ปกครองคนของเขาเอง ฉะนั้นน่าจะถึงเวลาที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างตอนนี้นายอำเภอก็เป็นมุสลิม แล้ววันนี้น่าจะเป็นยุคของปัตตานี เพราะผู้ว่าฯปัตตานีก็เป็นมลายูแล้วก็เป็นผู้หญิง”
“ที่สำคัญในอดีตปัตตานีเคยรุ่งเรืองมาพันกว่าปี พบว่าที่นี่กษัตริย์ หรือ รายา ก็เป็นผู้หญิง แล้วก็สร้างความเจริญทำให้คนรู้จักไปทั่ว”
อนึ่ง พ.ต.อ.ทวี เพิ่งเดินทางไปมณฑลซินเจียง เพื่อตามดูชีวิตชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.68 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ข้อครหาของหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งชาติตะวันตก ที่ประณามไทย กรณีส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน หลังถูกกักในไทยนานกว่า 10 ปี
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงประเด็นของการท่องเที่ยวด้วยว่า การท่องเทียวที่ยั่งยืนต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและประวัติศาสตร์ วันนี้ถ้าสามารถทำเรื่องของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
ขณะที่ นางพาตีเมาะ ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าวว่า การพัฒนาเมืองโบราณยะรัง เราหวังไปถึงมรดกโลกด้วยซ้ำไป ปัจจุบันการท่องเทียวทั้งจังหวัดปัตตานี แม้ไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะเมืองอื่นที่มีด่านศุลกากร ก็จะใช้ตัวเลขจากคนที่เข้า-ออกด่าน แต่อยากจะบอกว่า ล้านหนึ่งที่ข้ามเข้ามาจากนราธิวาส ก็เข้ามาปัตตานี ล้านหนึ่งของเบตง (เมืองท่องเที่ยวใต้สุดของยะลา) ก็มาที่นี่ และนักท่องเทียวที่ลงสนามบินที่หาดใหญ่ก็มานอนที่ปัตตานี
“เฉพาะงานตรุษจีนที่ผ่านมา เรามีตัวเลขคนเข้ามา 3 หมื่นกว่าคน ส่งผลต่อเงินสะพัดที่เป็นตัวเลขชัดเจนอีก 50 กว่าล้านบาท และยะรังก็สามารถทำให้เกิดงานคล้ายๆ กัน เช่นงานตรุษจีนได้เหมือนกัน” ผู้ว่าฯปัตตานี ระบุ
หลังจากนั้น พ.ต.อ.ทวี เดินทางไปที่โรงเรียนบำรุงอิสลามปัตตานี อ.ยะรัง เพื่อพบปะกับคณะครูและผู้บริหารของโรงเรียน โดยมี ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และอดีตผู้บริหารโรงเรียนบำรุงอิสลาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ให้การต้อนรับ