“ท่านเอาเรือดำน้ำ 2 ลำมาซ่อนไว้ในนี้ใช่หรือไม่ ทำไมท่านไม่บอกให้สภาหรือประชาชนได้รับทราบ ผมอยากถามว่า ท่านจะไปรบกับใคร แค่วันนี้รบกับโควิดยังไม่ชนะเลยครับ” นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร กล่าวขณะอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบปี 64
เวทีอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทวันแรก นอกจากการอภิปรายในภาพใหญ่เกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลัง – ความคุ้มค่าในการจัดสรรวงเงินต่างๆ
มี ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างน้อย 2 คน ที่ตั้งป้อม-พุ่งเป้าไปที่กระทรวงกลาโหม ที่ถูกจัดสรรงบประมาณ 2.23 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินมากเป็นอันดับ 4 หากเทียบจากทุกกระทรวง
คนแรกคือ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.ก้าวไกล อีกคนคือ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.เพื่อไทย
ขณะที่ 'พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล' รมช.กลาโหม รับผิดชอบเป็นผู้ชี้แจงแทนฝ่ายรัฐบาลในทุกประเด็น
บรรทัดต่อจากนี้คือ ‘วิวาทะ’ ของ 2 ส.ส.ฝ่ายค้าน กับ รมช.กลาโหม
@ลวงว่าลด แต่ไม่ได้ลด
‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายว่า หลังรัฐประหาร 2557 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และงบปี 64 ถือเป็นปีแรกที่กำลังจะถูกปรับลด
จากงบปี 63 ที่ได้รับการจัดสรร 2.31 แสนล้านบาท และปี 64 ได้รับการจัดสรร 2.23 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงราว 8 พันล้านบาทเศษ
แต่เมื่องบปี 63 ถูก ‘ปรับโอน’ ไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ ส.ส.ก้าวไกล วิเคราะห์ว่า กลาโหมได้รับการจัดสรรงบปี 63 เพียง 2.13 แสนล้านบาท ทำให้เท่ากับว่า งบปี 64 กลาโหมได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นหลักหมื่นล้านบาท
(ตารางเปรียบเทียบงบประมาณกลาโหมโดยพรรคก้าวไกล)
@จับตา 6 โครงการถูกตัดงบปี 63
ในการโอนงบปี 63 กลาโหมปรับลดงบได้กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีการชะลอการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างน้อย 6 โครงการ มูลค่ากว่า 6,333.95 ล้านบาท
และเกินกว่าครึ่งหนึ่งในส่วนนี้ เป็นงบประมาณของกองทัพเรือ ที่ตัดสินใจชะลอ การจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 3,925 ล้านบาท
“เราพบว่ามีอย่างน้อย 6 โครงการจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ที่ถูกตัดออกไปแล้ว แต่เมื่อดูในงบปี 64 พบว่ายังมีการตั้งงบประมาณในการผูกพันงบประมาณอยู่ ทั้งเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบิน หวังว่ากลาโหมจะไม่นำโครงการเหล่านี้กลับมาพิจารณาใหม่ในปีนี้” นายพิจารณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ‘พิจารณ์’ เชื่อว่า กลาโหมยังสามารถปรับลดงบประมาณลงได้อีก 1.1 หมื่นล้านบาท จากการชะลอ 6 โครงการที่ตัดทิ้งไปจาก พ.ร.บ.โอนงบปี 63 , การจัดซื้ออาวุธใหม่ 22 โครงการ และอีก 2 โครงการที่เป็นการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
เขามองว่า สถานการณ์โควิดที่ยังไม่มีความแน่นอน และสภาพเศรษฐกิจโลกที่สะเทือนถึงเศรษฐกิจไทย การจัดซื้ออาวุธของกองทัพอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณประจำปีนี้
(พรรคก้าวไกลยื่น 3 ข้อเสนอปรับลดงบกลาโหม)
@'กลาโหม'ยันซื้อเฉพาะจำเป็นเร่งด่วน
‘พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล’ รมช.กลาโหม ชี้แจงตอนหนึ่งว่า เหตุผลสำคัญที่กองทัพต้องจัดเตรียมกำลังให้มีความพร้อม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ การจัดกำลัง-อาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ไทยตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด
“กลาโหมและกองทัพเข้าใจถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงได้จัดเตรียมกำลังโดยเรียงลำดับจากความเร่งด่วน และจัดหายุทโธปกรณ์เท่าที่จำเป็น งบประมาณส่วนใหญ่ใช้กับการซ่อมบำรุง และมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนา เพื่อให้หันมาพึ่งพาตนเองได้” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ขณะที่ข้อถกเถียงเรื่องงบประมาณ ในมุมมองของกลาโหมมองว่า ปีนี้ถูกปรับลด มากกว่าได้รับเพิ่ม โดยเฉพาะเมื่อเทียบสัดส่วนต่อปีงบประมาณ
“ปี 63 กลาโหมได้รับการจัดสรร คิดเป็น 7.24% แต่งบปี 64 มีสัดส่วนลดลงเหลือแค่ 6% เท่านั้น และเมื่อดูในรายละเอียด จะพบว่าเราถูกปรับลดไป 8 พันกว่าล้านบาท ถือว่าได้รับเงินลดลงจากปีถึง 3.57%” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
@ปี 64 มีจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ
‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไทยเหลือเครื่องยนต์ให้ขับเคลื่อนเพียงหนึ่งเดียว คือ การใช้เงินภาครัฐ แต่รัฐบาลกลับเอาเงินไปจัดซื้ออาวุธแทนที่จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน
เขาบอกว่า กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณปีนี้ 2.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกองทัพบก 1.7 แสนล้านบาท กองทัพเรืออากาศ 4 หมื่นล้านบาท และกองทัพเรือ 4.8 หมื่นล้านบาท
โดยเฉพาะกองทัพเรือ ถือว่าได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มขึ้นอีกพันกว่าล้านบาท ‘ยุทธพงศ์’ กางเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดแดง งบประมาณกองทัพเรือ หน้าที่ 722 ข้อที่ 2.3.1 ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการผูกพันงบประมาณ 14 โครงการ รวม 4.7 หมื่นล้านบาท
และงบปี 64 ตั้งงบไว้ 8,933 ล้านบาท เขาเชื่อว่ามีการ ‘ซุกเรือดำน้ำ’ อยู่ในงบประมาณประจำปีนี้
“ท่านเอาเรือดำน้ำ 2 ลำมาซ่อนไว้ในนี้ใช่หรือไม่ ทำไมท่านไม่บอกให้สภาหรือประชาชนได้รับทราบ ผมอยากถามว่า ท่านจะไปรบกับใคร แค่วันนี้รบกับโควิดยังไม่ชนะเลยครับ” นายยุทธพงศ์ กล่าว
(งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สัดส่วนของกองทัพเรือ)
@เรือดำน้ำเพื่อความมั่นคง-มูลค่าทางเศรษฐกิจ
‘พล.อ.ชัยชาญ’ ไม่ปฏิเสธที่มีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำในงบปี 64 พร้อมอธิบายเหตุผลความจำเป็นทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าด้านความมั่นคง
ด้านเศรษฐกิจ ไทยพึ่งพิงการส่งออกทางทะเลกว่า 95% มีเรือขนส่งเข้าออกอ่าวไทยมากกว่า 15,000 ลำต่อปี และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทางทะเลกว่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี
ด้านความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชียมีไม่ต่ำกว่า 4 ประเทศที่มี่เรือดำน้ำเข้าประจำการ และการมีเรือดำน้ำของไทย เพื่อรักษาความมั่นคงทางทะเล รักษาเส้นทางเดินเรือ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพเรือ
“เราจัดซื้อไปแล้ว 1 ลำแต่กว่าจะได้ใช้งานคือปี 2566 ทั้งนี้การจัดหาในงบปี 64 จะใช้เวลาก่อสร้างอีก 6-7 ปี กว่าที่เราจะมีเรือดำน้ำเข้าประจำการก็ปี 2569 ถือได้ว่า เรื่องดุลภาพทางทะเลก็ตามประเทศอื่น 8-10 ปี” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ส่วนเหตุผลที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ‘พล.อ.ชัยชาญ’ บอกว่า เป็นตัวเลขต่ำที่สุด สำหรับการดูแลอาณาเขตทางทะเลที่มีพื้นที่กว่า 3.2 แสนตารางกิโลเมตร โดย 1 ลำสำหรับปฏิบัติการ 1 ลำ สำหรับประจำการที่ฐานทัพ และอีก 1 ลำสำหรับสับเปลี่ยนเพื่อการซ่อมบำรุง
“เป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี ซึ่งผ่านการคัดเลือกแบบจากหลายประเทศ โดยเรือดำน้ำของจีน ได้ข้อเสนอพร้อมระบบอาวุธ จัดฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี รับประกันอีก 2 ปีและเรื่องอะไหล่อีก 8 ปี ขอกราบเรียนว่า เรือดำน้ำ เป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเราดำเนินการทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ทั้งหมดการอภิปรายเรื่องการจัดสรรงบประมาณของกองทัพ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สุดท้ายงบประมาณจะถูกปรับลดหรือไม่ ต้องติดตามหลังสภาลงมติเห็นชอบวาระแรก และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญ
อ่านประกอบ :
สภาถกงบปี 64'บิ๊กตู่'คาดโควิดจบ ปีหน้าจีดีพีโต 5%'สมพงษ์'ห่วงใช้เงินไม่ตอบโจทย์ ศก.
ชำแหละ ‘รายจ่าย-แผนกู้’ ปีงบ 64 รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ มองข้ามช็อต 'ศก.ฟื้น-โควิดยุติต้นปีหน้า'
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage