"...เงินที่อัดฉีดเข้ามา มันไม่เท่ากับสิ่งที่หายไป ขณะที่ดิสรัปชันที่เกิดขึ้น ทำให้แย่ทั่วโลก จีดีพีของแต่ละประเทศลดจากไตรมาส 1 มาไตรมาส 2 กันที 10-15% ซึ่งถือว่าเยอะมาก และตอนนี้แม้ซัพพลายฝั่งเราจะเริ่มทำงาน โรงงานกลับมาทำงานเต็มที่ขึ้น แต่ถ้าดีมานด์ไม่ฟื้น การส่งออกก็ไม่มา ตอนนี้ดีมานด์จึงสำคัญกว่า..."
เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลทุกประเทศใช้ความพยายามอย่างสุดกำลัง ในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรักษาชีวิตผู้คนนับล้านเอาไว้ให้ได้ จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ
แต่ทว่าก่อนการก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 ของการต่อสู้กับโควิด-19
เศรษฐกิจทั่วโลกต่าง ‘บอบช้ำ’ จากแรงกระแทกของวิกฤตการณ์โควิดอย่างหนักหน่วง แม้ว่าระหว่างทางรัฐบาลทั่วโลกจะทยอยอัดฉีด ‘เม็ดเงิน’ และชุดมาตรการ เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ประชาชน และภาคธุรกิจ ให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ ซึ่งมีการประเมินว่าอาจรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ไปด้วยกัน
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รวบรวมมาตรการเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบของ COVID-19 ในต่างประเทศ (ณ 23 พ.ค.63) โดยมุ่งเน้นที่ประเทศคู่ค้าของไทย 16 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่า
แต่ละประเทศมีการทุ่มเทเม็ดเงินผ่านมาตรการการคลังของรัฐบาล และสินเชื่อต่างๆภายใต้ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและ SMEs 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน และ 4.มาตรการรักษาเสถียรภาพ คิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 2.7-48.2% ของจีดีพีแต่ละประเทศ
โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก พบว่ามีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 6.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (201.6 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 32% ของจีพีดี ส่วนเยอรมนี 9.76 แสนล้านยูโร (34.4 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 30.1% ของจีดีพี และญี่ปุ่น 117.5 ล้านล้านเยน (34.5 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 21.7% ของจีดีพี
ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบไปแล้ว 6.7 ล้านล้านหยวน (29.72 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 6.8% ของจีดีพี (อ่านตารางประกอบ)
แน่นอนว่าการอัดฉีดเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล จะทำให้กำลังซื้อของบรรดาประเทศคู่ค้าของไทยกระเตื้องขึ้นบ้าง และส่งอานิสงส์มายังภาคการส่งออกของไทย ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 60-70% ของจีดีพี แต่นั่นไม่อาจทำให้การส่งออกไทยพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วในปีนี้
สะท้อนได้ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยปีนี้จะติดลบ 8% แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/63 การส่งออกจะเติบโตที่ 1.5% ก็ตาม
ขณะที่ธปท.ประเมินเมื่อเดือนมี.ค.ว่า การส่งออกจะติดลบ 8.8% และในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าแนวโน้มส่งออกจะเป็นอย่างไร หลังจากตัวเลขส่งออกในเดือนเม.ย.ติดลบ 3% (อ่านประกอบ : เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน)
กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 8% จากผลกระทบของโควิดที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา และการบริโภคของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นในช่วงถัดๆไป
“เงินที่แต่ประเทศอัดฉีดเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้ยังไม่เห็นผล อย่างสหรัฐฯจีดีพีไตรมาส 1 ลบไป 5% ส่วนประเทศอื่นๆก็ตกลงมาหนักมาก ทำให้ตอนนี้เรายังไม่เห็นว่ามาตรการกระตุ้นจะช่วยฟื้นฟูได้เร็วมากน้อยแค่ไหน และในสหรัฐจำนวนคนว่างงานสูงขึ้นมาเป็น 40 ล้านคนแล้ว ซึ่งถือว่าสูงมาก” กัณญภัคกล่าว
กัณญภัค กล่าวว่า “ปีนี้จะได้เห็นการส่งออกไทยฟื้นตัวคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ขณะที่เงินที่ประเทศคู่ค้าอัดฉีดเข้ามาทำได้แค่ช่วยประคองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราคงต้องจับตาทางจีน เพราะจีนแก้ไขปัญหาได้เร็วกว่าประเทศอื่น เพราะเขาเปิดมาเป็นปกติแล้ว ส่วนประเทศอื่นพยายามจะเปิด แต่ก็มีความเสี่ยงว่าจะมีการระบาดรอบสองกันอยู่”
กัณญภัค บอกด้วยว่า การส่งออกไทยปีนี้คงต้องดูเป็นรายสินค้า อย่างการส่งออกรถยนต์ต้องบอกว่าเศร้าไปเลย ติดลบไม่น้อยกว่า 50% แต่ก็มีบางสินค้าที่ยังไปได้ และควรเข้าไปจับตลาดจีนที่จะมีการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งในภาวะที่การส่งออกไม่โตและติดลบ หากรัฐบาลต้องการพยุงเศรษฐกิจจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไปด้วย
ขณะที่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การที่ทั่วโลกอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น จะยังไม่ทำให้การส่งออกไทยปรับดีขึ้นได้ เพราะความเสียหายจากโควิดมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศอัดฉีดเข้ามาอย่างมาก
“เงินที่อัดฉีดเข้ามา มันไม่เท่ากับสิ่งที่หายไป ขณะที่ดิสรัปชันที่เกิดขึ้น ทำให้แย่ทั่วโลก จีดีพีของแต่ละประเทศลดจากไตรมาส 1 มาไตรมาส 2 กันที 10-15% ซึ่งถือว่าเยอะมาก และตอนนี้แม้ซัพพลายฝั่งเราจะเริ่มทำงาน โรงงานกลับมาทำงานเต็มที่ขึ้น แต่ถ้าดีมานด์ไม่ฟื้น การส่งออกก็ไม่มา ตอนนี้ดีมานด์จึงสำคัญกว่า” พิพัฒน์กล่าว
พิพัฒน์ ระบุว่า เมื่อกำลังซื้อไม่กลับมาเร็ว การส่งออกไทยในปีนี้จะยังติดลบอยู่ ซึ่งภัทรฯประเมินว่าจะติดลบ 13% และการส่งออกไทยจะฟื้นตัวอีกที ก็ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าไปแล้ว
ส่วน ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 6.1% จากเมื่อเดือนมี.ค.ที่คาดว่าจะติดลบ 5.6% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวที่ระดับ 3%
“แม้ว่าปีนี้การส่งออกของเรามีแรงหนุนจากการส่งออกทองคำ แต่จากปัจจัยพื้นฐานและภาพเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ซึ่งความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง จะทำให้การส่งออกไทยปีนี้หดตัวที่ 6.1%” ณัฐพรกล่าว
ในขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่า กว่าที่การส่งออกไทยจะสร่างพิษ 'ไข้โควิด-19' อาจต้องรอไปถึงปีหน้า จากก่อนหน้านี้ที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไปเต็มๆ มาแล้วเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง อีกทั้งในห้วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องออกมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดูแลผู้ประกอบการและแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งมีจำนวนสูงถึงเกือบ 6 ล้านคน แต่เนิ่นๆและทันท่วงที
อ่านประกอบ :
กำชับดูแลค่าบาท! กนง.หวั่นกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ-เตรียมรื้อจีดีพีปี 63
ห่วงบาทแข็งเร็ว! ธปท.ชี้ไม่สอดคล้องเศรษฐกิจ-แนะป้องกันความเสี่ยง
สูญแล้ว 3.7 แสนล้าน! ต่างชาติเที่ยวไทยเดือนเม.ย.เป็นศูนย์-ทำใจ นทท.หายอีก 2 เดือน
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
สศช.ลดเป้าจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 5-6% ชี้เงินกู้ 1 ล้านล.แค่ประคองเศรษฐกิจ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/