ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.หดตัวสูงขึ้น จากปัจจัยส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ 15.9% นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ รัฐล็อกดาวน์ ห่วงตลาดแรงงานเปราะบาง หลังคนตกงานพุ่ง พร้อมระบุดุลบัญชีเคลื่อนย้ายยังบวก 8 พันล้านดอลลาร์ แม้ดุลบัญชีบริการฯติดลบ 3.2 พันล้านดอลลาร์ฯ เหตุนักลงทุน-สถาบันไทย ขนเงินกลับประเทศกว่า 2.2 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเม.ย.2563 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากและมาตรการควบคุมโรคระบาด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนเม.ย.ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
“เดือนเม.ย.เป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด ซึ่งเราจะเห็นได้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเกือบทุกเครื่องยนต์หดตัว ส่วนที่ขยายตัวได้มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว 100% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย หลังจากปลายมี.ค.ที่ผ่านมา เราประเทศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น และจุดที่เรากังวลเป็นพิเศษ คือ ตลาดแรงงาน” นายดอนกล่าว
นายดอน ขยายความว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ 15.9% โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก
อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
“การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้น 15.9% แต่ถ้ารวมทองคำการส่งออกยังติดลบ 3.3% โดยสินค้าที่ลบหนัก คือ รถยนต์ สินค้าที่ผูกกับราคาน้ำมันดิบ ส่วนสาเหตุหลักส่งออกหดตัวรุนแรง มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หายไป และประเทศคู่ค้าหลายประเทศมีการปิดเมือง โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่หลายประเทศมีการล็อคดาวน์เข้มข้นที่สุด ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย” นายดอนกล่าว
นายดอน ยังระบุด้วยว่า สำหรับตัวเลขส่งออกในเดือนเม.ย.ของธปท.ที่ติดลบ แต่ตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นบวกนั้น เป็นผลมาจากการที่สายการบินต่างๆมีการส่งคืนเครื่องบิน เพราะไม่สามารถทำการบินได้ และหากจอดทิ้งไว้ก็จะเสียค่าจอด อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งคืนเครื่องบินน่าจะน้อยลงแล้ว และคาดว่าในเดือนมิ.ย.ตัวเลขส่งออกของธปท.กับกระทรวงพาณิชย์น่าจะกลับมาใกล้เคียงกัน
สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นผลจากการเลื่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการปิดเมืองของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงและขยายวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงในทุกองค์ประกอบ โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้ผลประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงมาก ประกอบกับภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากจึงชะลอการลงทุนออกไป
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงที่ 17% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 13.8% โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก
“จุดที่ธปท.ค่อนข้างเป็นกังวล คือ ตลาดแรงงาน โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่า ในเดือนเม.ย. มีผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง และมีสถานประกอบการที่ยื่นใช้สิทธิตามม.75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ ให้ลูกจ้างหยุดงานแต่ยังได้รับค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 เท่า คือ เพิ่มจาก 9 หมื่นแห่งในเดือนมี.ค. เป็น 4.6 แสนแห่งในเดือนเม.ย.” นายดอนกล่าว
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
“ดุลบัญชีการค้าเดือนเม.ย.บวก 2,500 ล้านดอลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกทองคำ ส่วนดุลบัญชีบริการฯติดลบ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ และเป็นฤดูส่งกลับกำไร เงินปันผล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังบวกได้ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะบุคคลในประเทศ นักลงทุน และสถาบันการเงินในประเทศ นำเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก” นายดอนระบุ
นายดอน ยังกล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.ยังคงหดตัวในระดับสูง แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการคลายล็อคในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพ.ค.จะยังเป็นศูนย์เหมือนเดิม และการส่งออกน่าจะลบมากขึ้น แต่สถานการณ์ในประเทศจะปรับดีขึ้นบ้าง เพราะในเดือนพ.ค.จะมีการใช้จ่ายเงินโอน 'เราไม่ทิ้งกัน' ซึ่งมีผู้ได้สิทธิ์เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
“เศรษฐกิจเดือนพ.ค.น่าจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังหดตัวสูง และเศรษฐกิจจะยังหดตัวต่อเนื่องไปถึงมิ.ย. ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.ได้คาดการณ์ว่าไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุด” นายดอนกล่าว
อ่านประกอบ :
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
สภาถก 3 พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิด'บิ๊กตู่'ยันเรื่องฉุกเฉิน-ทางเลือกสุดท้ายฟื้นเศรษฐกิจติดลบ
สศช.ลดเป้าจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 5-6% ชี้เงินกู้ 1 ล้านล.แค่ประคองเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจชะลอตัว-สงครามราคาน้ำมันไตรมาส1/2563ส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง
เสียงแตกลดดอกเบี้ย 0.25%! กนง.ประเมินศก.ไทยหดตัวเกินคาด-กังวลบาทแข็งค่า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/