"...เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลง...ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในกรณีที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564..."
กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก ในวันที่ 1-3 ก.ค.นี้
สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564) ซึ่งป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ‘ฉบับ 7’ ที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’
นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี ซึ่งไม่นับรวมร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ให้สภาฯ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาผู้แทนราษฎร) พิจารณามาแล้ว 6 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558-2563
(ที่มา : เอกสารประกอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
แต่ทว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ฉบับนี้ กลับอยู่ในห้วงเวลาและสถานการณ์ที่ ‘แตกต่าง’ อย่างสิ้นเชิง กับสถานการณ์ในช่วงที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณทั้ง 6 ฉบับ ก่อนหน้านี้
เพราะตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.63 จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจทุกระนาบ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ‘ล้มทั้งยืน’ ขณะที่ลูกจ้างนับสิบล้านคนที่ยัง ‘ตกงาน’ หรือมีรายได้ลดลง แม้ว่าจะเข้าสู่ ‘เฟส 4’ ของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม
ล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ 'เอดีบี' เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัว 6.5% ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียน่าจะเติบโตเพียง 0.01% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2504
พร้อมประเมินว่า "เศรษฐกิจเอเชียยังมีความเสี่ยง 'ขาลง' จากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้น 'หลายระลอก' ในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง บวกกับ 'หนี้รัฐบาล' และวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มระดับความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย"
เอดีบี ระบุด้วยว่า “ในขณะที่เราเห็นแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นสำหรับภูมิภาค (เอเชีย) ในปี 2564 แต่นั่นเป็นเพราะตัวเลขที่อ่อนแอในปีนี้ และจะไม่ใช่การฟื้นตัวในรูปแบบตัววี (V-shaped recovery)” (อ่านประกอบ : ศก.เอเชียโตต่ำสุดรอบ 60 ปี! ‘เอดีบี’ หั่นคาดการณ์ปี 63 โตแค่ 0.1%-มองจีดีพีไทยลบ 6.5%)
อย่างไรก็ดี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่อาจ ‘เลวร้ายที่สุด’ ในรอบ 60 ปี จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่จะพบว่าการจัดสรรงบประมาณภายใต้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 กรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 6.23 แสนล้านบาท และเป็นระดับการ 'ขาดดุลงบประมาณ' ที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของ ‘เม็ดเงิน’ นั้น ไม่ได้ ‘สนองตอบ’ ต่อวิกฤตการณ์โควิดนัก
นั่นเพราะเมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี 64 ยังคงให้ความสำคัญกับ 'หน่วยรับงบประมาณ' มากกว่าการสรรงบเพื่อรับมือกับ 'วิกฤติเศรษฐกิจ' เห็นได้จาก 'อันดับกระทรวง' ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรกนั้น ไม่ได้แตกต่างจากการจัดสรรงบปีงบประมาณใน 63 เลย
โดยอันดับ 1 คือ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบ วงเงิน 358,361 ล้านบาท (สัดส่วน 10.9% ของงบรวมปีงบ 64) เทียบกับปีงบ 63 ที่ได้รับจัดสรรงบ 367,744 ล้านบาท (สัดส่วน 11.5% ของงบรวมปีงบ 63) หรือลดลง 2.6%
อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย ได้รับจัดสรรงบ วงเงิน 328,013 ล้านบาท (สัดส่วน 9.9% ของงบรวมปีงบ 64) เทียบกับปีงบ 63 ที่ได้รับจัดสรรงบ 314,660 ล้านบาท (สัดส่วน 9.8% ของงบรวมปีงบ 63) หรือเพิ่มขึ้น 4.2%
อันดับ 3 กระทรวงการคลัง ได้รับจัดสรรงบ วงเงิน 268,718 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) วงเงิน 243,299 ล้านบาท (สัดส่วน 8.1% ของงบรวมปีงบ 64) เทียบกับปีงบ 63 ที่ได้รับจัดสรรงบ 249,2013 ล้านบาท ในจำนวนี้เป็นงบของสบน. วงเงิน 222,221 ล้านบาท (สัดส่วน 7.8% ของงบรวมปีงบ 63) หรือเพิ่มขึ้น 7.8%
อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม ได้รับจัดสรรงบ วงเงิน 223,463 ล้านบาท (สัดส่วน 6.8% ของงบรวมปีงบ 64) เทียบกับปีงบ 63 ที่ได้รับจัดสรรงบ 231,745 ล้านบาท (สัดส่วน 7.2% ของงบรวมปีงบ 63) หรือลดลงเพียง 3.6%
อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม วงเงิน 193,554 ล้านบาท (สัดส่วน 5.9% ของงบรวมปีงบ 64) เทียบกับปีงบ 63 ที่ได้รับจัดสรรงบ 176,095 ล้านบาท (สัดส่วน 5.5% ของงบรวมปีงบ 63) หรือเพิ่มขึ้น 9.9%
(ที่มา : เอกสารประกอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณแยกเป็น ‘รายยุทธศาสตร์’ จะพบว่าการเยียวและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด ไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าที่ควรเช่นกัน
เพราะจากแผนงานทั้ง 61 แผนงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ พบว่ามีเพียง 1 แผนงานเท่านั้น ที่เกี่ยวข้อง ‘โดยตรง’ กับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด นั่นก็คือ 'แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น' ซึ่งได้รับจัดสรรงบ วงเงิน 139,825.6 ล้านบาท
ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท และ 2.งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 99,000 ล้านบาท ที่นายกฯ สามารถดึงเงินมาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดได้
ในขณะที่งบประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของงบปี 64 ถูกจัดสรรไว้สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (416,003 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6%) และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (556,528 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.9%)
(ที่มา : เอกสารประกอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และครม. จัดสรรงบปี 64 เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้เพียง 4.23% ของงบทั้งหมดนั้น
อาจเป็นเพราะรัฐบาลประเมินว่าการใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000 ล้านบาท และงบลงทุนของภาครัฐ ที่มีการจัดสรรไว้ 674,868 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.5% ของงบประมาณปี 64 นั้น
น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด และสามารถรักษา 'โมเมนตัม' การลงทุนของภาครัฐเอาไว้ได้ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตที่ระดับ 4-5% ได้ในปี 2564 จากปี 63 ที่คาดว่าจะหดตัว 5-6%
“เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลง
รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการเบิกจ่าย ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
และการเบิกจ่ายภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟููเศรษฐกิจและสังคมที่่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศสำคัญขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในประเทศสำคัญ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในกรณีที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564” เอกสารงบประมาณปี 64 ระบุ
ขณะเดียวกัน ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เสนอ 'แผนการกู้เงินในประเทศ' เอาไว้ด้วย โดยเบื้องต้นมีวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1,819,530 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้ใหม่ 4 รายการ วงเงิน 1,208,085 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณ 623,000 ล้านบาท
2.เงินกู้เพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟููเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท
3.เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 99,000 ล้านบาท
และ4.เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อ วงเงิน 86,085 ล้านบาท
(ที่มา : เอกสารประกอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
เหล่านี้เป็นภาพรวมของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และครม.จะเสนอให้สภาฯพิจารณา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในบางประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย อาจต้องเลื่อนเวลาออกไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิม
ที่สำคัญหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญในระยะข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ นั่นก็หนี้เสีย (NPLs) จำนวนมหาศาลที่จะ 'พุ่งพรวด' ขึ้นมาทันที หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนต.ค.นี้
อ่านประกอบ :
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/