ธปท.แจงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล-สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2-4% พร้อมกำหนด 5 มาตรการขั้นต่ำ ช่วยเหลือลูกหนี้ ให้พักหนี้ ‘บ้าน-รถ’ นาน 3 เดือน พร้อมลดค่างวดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ-ค่างวดสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างน้อย 30% ชะลอยึดทรัพย์ลูกหนี้
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2 ว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระยะที่ 2 ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งต่อเนื่องจากมาตรการระยะที่ 1 ที่เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 และกำลังจะสิ้นสุดลงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
“มาตรการระยะที่ 2 ยังคงช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยทั้งลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อ แต่สิ่งที่แตกต่างจากมาตรการระยะที่ 1 คือ จะคำนึงลูกหนี้เป็นตัวตั้ง โดยให้ลูกหนี้มีโอกาสเลือกว่าจะใช้มาตรการช่วยเหลือในรูปแบบใด เพราะบางกลุ่มเป็นลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ และจ่ายหนี้ตามปกติ บางกลุ่มกระทบชั่วคราว และต้องการสภาพคล่องระยะสั้นๆ และกลุ่มไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้” นายรณดลระบุ
สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 นั้น ธปท.กำหนดให้ลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เป็นการทั่วไป ได้แก่ 1.ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี 2.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทวงเงินหมุนเวียนจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี 3.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทที่ผ่อนชำระเป็นงวด จาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี และ4.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป
พร้อมกันนั้น ธปท.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินพิจารณาขยายวงเงินแก่ลูกหนี้ดีต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม โดยให้ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ได้รับการขยายวงเงินเพิ่มเติมเป็น 2 เท่าของรายได้ จากเดิม 1.5 เท่าของรายได้ เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63-31 ธ.ค.64
นายรณดล ระบุว่า ในส่วนของลูกหนี้ที่ไปไม่ไหว คือ กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง หนังสือเวียนของธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยคำนึงรายได้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในช่วงหลังโควิด และต้องมีการรายงานให้ธปท.ทราบถึงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้
นายรณดล ยังกล่าวถึงมาตรการที่ธปท.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ งดการจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดการซื้อหุ้นคืน รวมทั้งการจัดทำแผนบริหารเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ว่า ในเรื่องนี้ ธปท.ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ที่สำคัญ คือ ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
“นโยบายของพวกเรา คือ อยากเห็นนโยบายกลางในการดูแลและบริหารเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ธปท.ให้สถาบันการเงินประเมินระดับเงินกองทุนฯ แต่เป็นการประเมินก่อนโควิด-19 เราจึงต้องประเมินระดับเงินกองทุนฯจากผลกระทบของโควิดว่า มีผลกระทบอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็น คือ การดูแลและบริหารเงินกองทุนให้เข็มแข็ง มีการ์ดที่สูงไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์โควิดจะมีผลกระทบอย่างไรในวงกว้าง” นายรณดล กล่าว
นายรณดล ย้ำว่า การดูแลและบริหารจัดการเงินกองทุนฯเป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ด้วย ดังนั้น การที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนฯที่สูง ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ในฐานะที่ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญในการเยียวยาผลกระทบ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
“ยิ่งธนาคารมีระดับเงินกองทุนที่สูง และเข้มแข็ง จะเป็นการ์ดที่สูง และเป็นกันชนที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน และผู้ลงทุนในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสถาบันการเงินในช่วงต่อไป แต่การที่เราจะไประบุให้สถาบันการเงินใด สถานบันการเงินหนึ่ง ต้องทำนโยบายนี้ ก็อาจจะมีคำถามได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน เราจึงทำเป็นนโยบายกลางที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบร่วมกัน ” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวด้วยว่า ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ก็มีนโยบายให้ธนาคารงดจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้เช่นกัน
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระยะที่ 2 กำหนดให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 และมีผลต่อเนื่องไปเลย ส่วนการขยายวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ลูกหนี้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ให้มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว หรือตั้งแต่ 1 ส.ค.63-31 ธ.ค.64
นอกจากนี้ ธปท.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำระยะที่ 2 สำหรับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.คงอัตราจ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิต คือ จ่ายขั้นต่ำ 5% ในปี 63-64 จ่ายขั้นต่ำ 8% ในปี 65 และจ่ายขั้นต่ำ 10% ในปี 66 แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% รวมทั้งให้วงเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินสินเชื่อเดิม
2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ให้ลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 เดือน หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% และสามารถให้วงเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินสินเชื่อเดิมที่ลูกหนี้เคยได้รับอนุมัติ
3.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% และให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% 4.สินเชื่อเช่าซื้อ ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวด โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่จะไม่มีจำกัดวงเงิน จากเดิมที่มอเตอร์ไซด์จำกัดวงเงินที่ 35,000 บาท และรถยนต์ทุกประเภทจำกัดวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท
และ5.สินเชื่อบ้าน ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม หรือลดค่างวด โดยการขยายเวลาการชำระหนี้ โดยสิ่งที่ต่างกันจากมาตรการระยะที่ 1 คือ มาตรการระยะที่ 2 จะไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่จำกัดวงเงินที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำระยะที่ 2 ดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63-31 ธ.ค.64 และให้ลูกหนี้ต้องแสดงความจำนงหรือเข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.63
นางธัญญนิตย์ ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ยังกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ โดยให้ลูกหนี้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประกอบธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โมบายแอปพลิเคชัน SMS และคอลเซ็นเตอร์ หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อให้เข้าถึงลูกหนี้ได้ทั่วถึงขึ้น จากเดิมที่ให้ลูกหนี้ไปติดต่อที่สาขา หรือสถานที่ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจต้องเปรียบเทียบภาระหนี้เก่าและหนี้ใหม่ให้ลูกหนี้ทราบว่าแตกต่างกันอย่างไรด้วย
“ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำระยะที่ 2 กับผู้ประกอบธุรกิจผ่านช่องทางต่างๆที่กำหนดไว้ หรือผู้ประกอบธุรกิจเองอาจส่งข่าวสารไปยังลูกหนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งลูกหนี้อาจติดต่อกับมาว่าจะเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือเหลือไม่” นางธัญญนิตย์กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า ส่วนลูกหนี้บางกลุ่มที่เข้ามารับความช่วยเหลือผ่านมาตรการขั้นต่ำแล้ว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงใหม่ หรือไม่สามารถเข้ามาตรการขั้นต่ำได้ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.หากยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ให้เร่งดำเนินการ และ2.หากเป็นหนี้เสียแล้ว ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางคลินิกแก้หนี้ เช่น ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นระยะยาว เช่น ไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น
“ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 แล้ว จะไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกค่าผิดนัดชำระหนี้ ค่าปรับต่างๆ และถ้าลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ก่อนกำหนด ก็ห้ามไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการชำระหนี้ก่อนกำหนด รวมถึงให้ผู้ประกอบการธุรกิจชะลอการยึดทรัพย์ เช่น บ้าน รถ หากลูกหนี้มีการจ่ายปกติ และทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ หากลูกหนี้มีข้อสงสัยติดต่อผู้ให้บริการ หรือโทรมา 1213 ทางด่วนแก้หนี้ของธปท.โดยธปท.จะเป็นตัวกลางติดต่อไปยังเจ้าหนี้” นางธัญญนิตย์กล่าว
อ่านประกอบ :
ส่งผลดีผู้ถือหุ้น! สมาคมธนาคารฯหนุน ธปท. 'งดปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'-ยันเงินกองทุนแกร่ง
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/