"…เราอยากให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องคัดสรรว่าต้องยากจนจริงๆ ถึงจะได้รับ เพราะว่าตอนวัยหนุ่มสาว ไม่ว่ายากดีมีจน เขาก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พอเขาอายุ 60 ทุกคนก็ควรได้รับหมด แต่ที่ได้รับอยู่ยังไม่เพียงพอ และในเมื่อสหประชาชาติเขาก็กำหนดให้วันที่ 1 ตุลา ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล แม้แต่องค์การระหว่างประเทศเขายังเห็นความสำคัญ เราก็อยากให้รัฐให้ความสำคัญของผู้สูงอายุ ให้เขาได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย…."
วันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี คือ วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2534 เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ประเทศไทยปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และคาดว่าในปี 2574 จะย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ วัยมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นแล้วการทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากจะเป็นการตอบแทนสิ่งที่ผู้สูงอายุได้สร้างสรรค์มาแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงของประเทศ
และสิ่งที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น ข้อมูลจากการสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปให้ความเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควรเพิ่มสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุ เช่น การเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมความคืบหน้าสถานการณ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
นางหนูเกณ อินทจันทร์ คณะทำงานรัฐสวัสดิการ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า สถานการณ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน ผู้สูงอายุได้รับอัตราเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดเป็นรายเดือน โดยจะเพิ่มสูงขึ้นตามช่วงอายุ เริ่มตั้งแต่อายุ 60 ปี แบ่งเป็น ขั้นที่ 1 อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาท, ขั้นที่ 2 อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท, ขั้นที่ 3 อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท และขั้นที่ 4 อายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท
แต่อัตราเบี้ยยังชีพดังกล่าว ยังไม่ถึงเส้นแบ่งความยากจน หรือระดับของค่าใช่้จ่ายที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ ปี 2562 ได้สำรวจพบว่ามีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งเบี้ยยังชีพยังที่ผู้สูงอายุได้รับปัจจุบันยังไม่ถึงระดับที่เพียงพอในการดำรงชีพด้วยซ้ำ และผู้สูงอายุก็ไม่มีงานไม่มีรายได้แล้ว
ทำให้เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ต่างพยายามเรียกร้องรัฐบาลให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ให้เขาได้รับการดูแล และได้รับอัตราเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งใกล้เคียงกับเส้นแบ่งความยากจน
“ดีที่มีเบี้ยยังชีพ คือเราไม่มีรายได้แล้ว ทุกวันที่ 1-10 จะเป็นวันที่ผู้สูงอายุต่างตั้งตารอคอยว่าเบี้ยยังชีพออกหรือยัง เพื่อที่จะไปอัปเดตบัญชี แล้วเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว แต่ถ้าสมมติเราได้เดือนละ 3,000 บาท ผู้สูงอายุจะมีรายได้ และไม่ต้องมาคิดว่าเช้านี้เขาจะเอาอะไรมาซื้ออาหาร ผู้สูงอายุจะได้กินอื่ม อยากกินผลไม้ หรือของหวานก็ได้ อย่างน้อยให้เขาได้นั่งแท็กซี่ไปหาหมอ ไม่ต้องลำบากนั่งรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์ หรือมีค่าขนมให้คนพาเขาไปหาหมอ” นางหนูเกณ กล่าว
เครือข่ายสลัม 4 ภาคต่อสู้เรื่องเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 52
นางหนูเกณ เปิดเผยอีกว่า ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้ต่อสู้และยื่นข้อเสนอเรื่องเบี้ยยังชีพมาตั้งแต่ปี 2552 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการจ่ายแบบคัดสรรที่ได้มอบหมายให้ประธานชุมชนเป็นคนส่งรายชื่อ ทางเครือข่ายคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ทำให้คนยากจนจริงๆ ตกหล่น ส่วนคนไม่ได้ยากจน อาจอาศัยความรู้จักกับประธานชุมชน เพื่อรับเบี้ยยังชีพได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายจึงพยายามเรียกร้องให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า ซึ่งต่อมานายอภิสิทธิ์ก็ได้ตั้งเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าคนละ 500 บาท
ก่อนที่ปี 2554 สมัยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาเป็นแบบขั้นบันได และใช้แนวทางนี้มาจนถึงปัจจุบัน
(นางหนูเกณ อินทจันทร์ คณะทำงานรัฐสวัสดิการ เครือข่ายสลัม 4 ภาค)
ปี 64 ยื่นข้อเสนอบำนาญประชาชน
นางหนูเกณ กล่าวถึงอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบันว่า มีอัตราเริ่มต้นที่ 600 -1,000 บาท ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน เราได้ทำร่างกฎหมายประชาชนขึ้นมาแต่ถูกตีตกไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ได้ทราบข่าวผลการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ครั้งที่ 1/2564 ว่า จะมีตัดเบี้ยยังชีพให้เฉพาะคนยากจนให้กับคนรุ่นใหม่ โดยใช้เกณฑ์รายได้ขั้นต่ำพิจารณาว่าจะได้หรือไม่ เราจึงกลับมาเรีกร้องภาครัฐอีกครั้ง ซึ่งในครั้งล่าสุดวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนเองได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) ด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
-
ให้รัฐบาลยกระดับและพัฒนานโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้พื้นฐานและเป็นสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานของประชาชน อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยใช้อัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงน้อยจากการตกหล่นจากระบบคัดกรองความยากจน
-
การกำหนดอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์รายได้ที่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 - 5 เท่า จากข้อมูลเฉลี่ยทั่วประเทศ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ปี 2,562 และอัตราเบี้ยยังชีพ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่มีการปรับขึ้นมานับตั้งแต่ ปี 2554
-
ให้คณะกรรมการผู้สูงอายุนำ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับประชาชน และ ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ฉบับที่... พ.ศ... ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม มาพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นกฎหมายบำนาญประชาชน
-
ให้คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (ใหม่) ยกเลิกแนวทางการกำหนดการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะให้จัดสรรเบี้ยยังชีพเฉพาะกลุ่มคนยากจน หรือพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ โดยผู้ที่ได้รับต้องแสดงตัวตนและรายได้ และประกาศรายชื่อให้สาธารณชนรับรู้
-
ให้เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณชนได้รับทราบ
“เราอยากให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องคัดสรรว่าต้องยากจนจริงๆ ถึงจะได้รับ เพราะว่าตอนวัยหนุ่มสาว ไม่ว่ายากดีมีจน เขาก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พอเขาอายุ 60 ทุกคนก็ควรได้รับหมด แต่ที่ได้รับอยู่ยังไม่เพียงพอ และในเมื่อสหประชาชาติเขาก็กำหนดให้วันที่ 1 ตุลา ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล แม้แต่องค์การระหว่างประเทศเขายังเห็นความสำคัญ เราก็อยากให้รัฐให้ความสำคัญของผู้สูงอายุ ให้เขาได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย” นางหนูเกณ กล่าว
ทั้งนี้นางหนูเกณ กล่าวอีกว่า รมว.พม.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะนำไปเสนอต่อยอดคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต่อไป พร้อมก้าวย้ำยังจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามเกณฑ์เดิม จะไม่มีการตัดสิทธิ์ใครทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งทางเครือข่ายสลัม 4 ภาคจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
เครือข่ายประชาชนรัฐสวัสดิกาเผยก้าวต่อไปของผู้สูงวัย คือ รัฐสวัสดิการ
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา “ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน” ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก สูงวัย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 มีใจความสำคัญว่า เครือข่ายประชาชนรัฐสวัสดิการเป็นเครือข่ายภาคประชาชนีอีกแห่งหนึ่งที่พยายามเรียกร้องและผลักดันให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งเวลาเราขับเคลื่อนเรื่องนี้มักเกิดคำถามว่าจะเอางบประมาณมาจากส่วนไหน
ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าได้ สังคมไทยจะเกิดการปรับเปลี่ยนเรื่องการจัดการภาษี และทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเราได้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนขึ้นมา แต่ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนตรงที่เราไม่ได้พูดถึงแหล่งรายได้ที่จะเอาไว้ใช้ในการทำบำนาญ เพราะตอนที่เราร่างเรามองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องขบคิดว่าจะจัดสรรภาษี จัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างไร คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม จึงเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ผู้สู้งอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
“ซึ่งภายใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มีข้อดี คือ มีเรื่องเบี้ยยังชีพอยู่ในนั้นและมีการกำหนดงบประมาณที่มาของเบี้ยยังชีพอยู่ 11 หมวด โดยที่เดิมจะหักมาประมาณ 2% อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราตั้งใจจะเปลี่ยน คือ ให้เบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐาน เราจึงกำหนดในร่างกฎหมายนี้หักงบประมาณที่มาของเบี้ยยังชีพเพิ่มเป็น 5% และเพิ่มหมวดภาษีที่ไม่เคยใช้ภายในประเทศ อาทิ ถ้าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การพนันในอนาคต กฎหมายฉบับนี้เขียนเตรียมไว้ล่วงหน้าว่า ค่าธรรมเนียม และค่าภาษีต่างๆ จะนำมาใช้เพื่อเป็นบำนาญพื้นฐาน” นายนิมิตร์ กล่าว
รวมถึงการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลออกสลากการกุศลอยู่แล้ว เราจะให้มีการแบ่งส่วนหนึ่งมาเป็นบำนาญ รัฐบาลก็จะได้รับเม็ดเงินในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน อีกทั้งยังมีวิธีเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ไทย โดยลดหย่อนภาษีให้กับเขา ซึ่งมีการศึกษาพบว่ามาตราการจูงใจนี้จะไม่ทำให้เราเสียประโยชน์ เพราะไทยเรามีจุดแข็งหลายอย่างเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุนอยู่แล้ว
“สรุปคือสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุก้าวต่อไปได้ คือคำว่ารัฐสวัสดิการ และเมื่อเป็นรัฐสวัสดิการ สิ่งที่ต้องโฟกัสต่อไปก็คือ หลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ ซึ่งคำที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดก็คือคำว่าบำนาญ พอใครเป็นผู้สูงอายุที่มีบำนาญ อย่างน้อยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีหลักประกันชีวิต ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้กลายเป็นบำนาญพื้นฐาน แล้วมายึดโยงกับเส้นแบ่งความยากจน ถ้าใครมีเงินรายเดือนที่ชัดเจน สม่ำเสมอ ได้ไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน คุณภาพชีวิตจะก้าวไปข้างหน้าได้ดีมาก ขนาดเงิน 600 บาท ก็มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สามารถทำให้ผู้สูงอายุหลุดพ้นออกจากความยากจนได้ 4.7%” นายนิมิตร์ กล่าว
เบี้ยยังชีพต้องบาลานซ์ ‘เจตจำนงรัฐ-ภาระงบประมาณ-รสนิยมคนรุ่นใหม่’
ด้าน ศ.ดร.วรเวศร์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา 'ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน' ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก สูงวัย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 ด้วยว่า สังคมไทยตอนนี้เรายังวนเวียนมากว่า 10 ปี ว่าทิศทางของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรจะไปในทิศทางใด ซึ่งตนเองมองว่าทุกแนวทางอย่าง 1. การพึ่งพาตนเอง 2. การช่วยเหลือเกื้อกูล หรือ 3. การให้รัฐจัดสรรให้ ต่างก็เป็นวิธีที่มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรามานั่งถกเถียงกัน ก็คงไม่มีคำตอบ แต่ท้ายที่สุดเจตจำนงทางการเมืองต้องลงมาดูเรื่องนี้ เนื่องจากต้องมีการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณในส่วนต่างๆ ว่าจะให้น้ำหนักกับหลักการ 3 แนวทางนี้อย่างไร แล้วจะให้ประชาชนและรัฐบาลรอดไปด้วยกันอย่างไร
ศ.ดร.วรเวศร์ กล่าวอีกว่า ตนเองคิดว่ารัฐบาลควรจะมองภาพใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกผู้สูงอายุ และส่วนที่ 2 คือกลุ่มที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งตนเองมองว่าเสียงของกลุ่มที่ 2 สำคัญ ว่าเขามองอนาคตอย่างไร เขาอยากได้เบี้ยยังชีพ หรือเขาอยากได้หลักประกันที่เขาสร้างเองได้ด้วย เพราะตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปหมด คนรุ่นใหม่เขาก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากอดีต หากเขาสนใจตนเองเป็นหลัก แล้วเราอยากให้เขาเข้าสู่ระบบช่วยเหลือเกื้อกูล ตนเองก็ไม่มั่นใจว่าวิธีดังกล่าวจะได้รับฉันทามติหรือไม่ ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐที่จะต้องตีโจทย์นี้ให้แตก
“นอกจากคนจน คนรวยแล้ว ยังมีเรื่องรุ่นเข้ามาเกี่ยว เพราะผู้สูงวัยในรุ่นปัจจุบัน คงจะสร้างหลักประกันไม่ทันแล้ว จึงเหลือทางเลือกไม่มาก แต่ในอนาคต หากมองไป ยังมีทางเลือกในการออกแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพอยู่ ทั้งนี้หากรัฐยังเป็นแบบปัจจุบัน คือทุกอย่างตอนนี้ต้องผ่านการตัดสินใจบนพื้นฐานของต่างคนต่างทำ ฝั่งที่สร้างหลักประกันด้วยการออมก็ทำไป คนที่สามารถทำได้ถึงอยู่รอด แบบนี้ท้ายที่สุดเราจะไปกันไม่รอด จึงย้ำว่าเราจะต้องมาดูทั้ง 3 เรื่อง คือ เจตจำนงของรัฐ ภาระงบประมาณ และรสนิยมของคนเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยว่าอยากจะสร้างหลักประกันแบบไหน” ศ.ดร.วรเวศร์ กล่าว
ข่าวประกอบ :
-
ผู้ว่าฯโคราชหารือด่วน 1 ก.พ.ถกแก้ปัญหา 610 ผู้สูงอายุถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพ
-
5 ก.พ.มีทางออก!'ยุทธพงศ์'ถาม 'จุติ'ตอบ ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา
-
ส่องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
-
'วิษณุ'ยันไม่มีคนแก่ติดคุกปม'เบี้ยคนชรา'กรองเหลือ 6 พันรายรอสอบสิทธิ์สุจริตหรือไม่
-
คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน
-
ลุ้นสวัสดิการ 5 กลุ่ม อาจรับ 'เบี้ยคนชรา' ซ้ำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
-
พัฒนาชีวิต ไม่ใช่ภาระ! แกะปม'เบี้ยยังชีพ'สู่บำนาญแห่งชาติ รัฐทำได้ แค่ปรับวิธีคิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage