'สมชาย มรกตศรีวรรณ' อธิบดีกรมการจัดหางาน ยันคัดเลือกบริษัทรับทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว มูลค่า 5พันล้าน โปร่งใส ทำตามมติ ครม. มีหน่วยงานเข้าร่วม เผยเหตุป้องกันปัญหาซ้ำรอยเหมือนช่วงโควิดปิดตัวไป 2 เจ้า ยังฟ้องร้องกันไม่เสร็จ แถมมีปัญหาปลอมแปลงกรมธรรม์ ไม่สามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขด้วย - ลั่นเดินหน้าต่อ พร้อมให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีหนังสือประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ระบุว่าหากบริษัทมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการและมีความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ขอให้แจ้งกรมการจัดหางานทราบภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 เพื่ออนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ให้แรงงานต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ส่วนมาตรฐานความมั่นคงของบริษัทประกันนั้น ทางกรมการจัดหางานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาพิจารณาร่วมกัน จึงออกเป็นมาตรฐานดังกล่าวออกมา ซึ่งบริษัทที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดสามารถมาเชื่อมระบบกับกรมการจัดหางาน โดยทางกรมฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยทุกบริษัทเพื่อให้ตรวจสอบบริษัทของตนเองว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมฯกำหนดหรือไม่ เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ ก่อนถึงวันที่ 19 พ.ย. 2567
ส่วนที่มีการวางมาตรการตามมติครม.ข้างต้น นั้น นายสมชาย กล่าวว่า "เนื่องจากที่ผ่านมามีการปลอมแปลงกรมธรรม์ จึงไม่สามารถเคลมประกันได้ตามเงื่อนไข จึงต้องมีการวางมาตรการที่เข้มข้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าบริษัทประกันภัยที่รับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 ล้านคน จะปิดกิจการอย่างหลาย ๆ บริษัทประกันที่ปิดกิจการหรือไม่ และมีการเรียกร้องค่าเสียหายกับทางคปภ.จำนวนมาก เราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการเช่นนั้นกับแรงงานต่างด้าว จึงมีความจำเป็นที่ต้องการความมั่นคงอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอย่างที่กล่าวมา"
เมื่อถามว่ามีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. ด้วย ทางกรมฯจะทำอย่างไร นายสมชาย กล่าวว่า "ไม่เป็นไรเลย ผู้ร้องสามารถให้ ป.ป.ช. มาตรวจสอบได้ เราไม่มีปัญหาที่หน่วยงานภายนอกมาตรวจสอบ เพราะดำเนินการตามมติครม. ทุกประการ และเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ที่หลายคนทราบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการขายประกันโควิด แล้วมีบริษัทประกันสุขภาพปิดตัว 2 บริษัท แล้วขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เสร็จสิ้น"
"ทางกระทรวงรับเรื่องเช่นนี้ไม่ได้ แรงงานต่างด้าวจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งกลุ่ม NGO รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศก็อาจจะมาโจมตีว่าเราดูแลแรงงานต่างด้าวไม่ได้มาตรฐาน เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนบริษัทประกันภัยจะมาเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการจัดหางานได้หรือไม่ก็อยู่ที่บริษัทเหล่านั้นผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าผ่านมาตรฐาน กรมฯก็ไม่ปิดกั้น จะมาเชื่อมกี่บริษัทก็ได้" นายสมชายระบุ
เมื่อถามว่าจากมาตรฐานที่กรมการจัดหางานกำหนดตามมติครม. ทำให้บริษัทประกันภัยมีคุณสมบัติตามมาตรฐานมีเพียง 2 บริษัท
นายสมชาย ตอบว่า "ไม่ทราบว่าจะผ่านกี่บริษัท เพราะทุกวันนี้มีคำขอยื่นเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการจัดหางานจำนวนมาก ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าบริษัทที่ยื่นคำขอมาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ เราไม่สามารถทำตามความต้องการที่จะให้เข้าร่วมได้ ทั้ง 100 บริษัท เราต้องมีมาตรฐาน ถ้าไม่มีมาตรฐานใคร ๆ ก็เข้ามาได้ เมื่อเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ"
"แรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน เมื่อเกิดปัญหาล้มขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ กองทุนก็รับผิดชอบไม่ไหว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก็รับผิดชอบไม่ไหว เมื่อเรารับผิดชอบไม่ไหวจึงต้องการบริษัทประกันที่มีความมั่นคงอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เราร้องดำเนินการ การดำเนินการของเราดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้" อธิบดีกรมการจัดหางานระบุ
เมื่อถามว่า มีการร้องเรียนแบบนี้ จะหยุดดำเนินโครงการก่อนหรือไม่
อธิบดีกรมการจัดหางาน ตอบว่า "ไม่หยุด... จะดำเนินการต่อไป เพราะการที่มีคนมาทักท้วง แล้วทำให้การดำเนินงานของรัฐต้องหยุด คงเป็นไปไม่ได้ เราทำงานด้วยความโปร่งใสถูกต้องตามกติกาทุกอย่าง เพียงแต่ถ้าท่านมีความสงสัยอย่างไรเราก็จะตอบให้ เราตอบได้ทุกคำถาม"