ตัวแทนบริษัทประกันภัย โต้ความเห็นอธิบดีกรมการจัดหางาน อ้างเหตุปัญหาซ้ำรอยโควิด คัดเลือกเอกชนรับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พ้นล้าน คนละสถานการณ์ ทุกบริษัทได้ผลกระทบเหมือนกันหมด ย้ำมาตรฐาน 'Car Ratio 200%-ทรัพย์สินรวม 3 หมื่นล้าน' ไม่ยุติธรรม เผยคปภ.นั่งคณะทำงานเคยค้านแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีหนังสือประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ระบุว่าหากบริษัทมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการและมีความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ขอให้แจ้งกรมการจัดหางานทราบภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 เพื่ออนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
โดยนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ให้แรงงานต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ส่วนมาตรฐานความมั่นคงของบริษัทประกันนั้น ทางกรมการจัดหางานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาพิจารณาร่วมกัน จึงออกเป็นมาตรฐานดังกล่าวออกมา อีกทั้งกรมฯ ยังดำเนินการตามมติครม. ทุกประการ และเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ที่หลายคนทราบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการขายประกันโควิด แล้วมีบริษัทประกันสุขภาพปิดตัว 2 บริษัท แล้วขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เสร็จสิ้น
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
ล่าสุด แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า จากการที่อธิบดีกรมการจัดหางานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา แสดงว่าบริษัทประกันภัยที่ไม่ผ่านการคัดเลือก เป็นบริษัทประกันภัยที่ขาดความมั่นคงใช่หรือไม่
"การที่อธิบดีให้สัมภาษณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบด้านลบวงกว้างต่อธุรกิจประกันภัย ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านั้นลดลง อีกทั้งการยกเหตุผลที่อ้างอิงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ที่ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องปิดตัวลง เป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเคยประสบกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก อีกทั้งบริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ไม่เคยมีเรื่องเสียหายในช่วงโควิดที่ผ่านมา การที่ใช้เหตุผลข้างต้นไม่ยุติธรรมกับบริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือก"
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มติครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 กล่าวถึงแค่ความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์สินรวมจำนวน 3 หมื่นล้าน อีกทั้งตัวแทนคปภ.ที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าวซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ระบุว่า คปภ.ไม่ได้มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการเงินและผู้เสียหายแต่อย่างใด
"การอ้างถึงมติครม. ตกลงว่า มาตรฐานที่กำหนดมาจนคัดเหลือแค่ 2 บริษัท คือนโยบายที่รัฐบาลให้ไปหรือไม่ ขยายความคำว่า 'ความมั่นคง' ตามมติครม.ได้หรือไม่ เมื่อทำไปแล้วกลายเป็นว่าไปกีดกันและทำลายอุตสาหกรรมประกันภัยรายอื่น ๆ ซึ่งบริษัทประกันภัยที่เคยทำงานกับกรมการจัดหางานในปี 2566 พอมาถึงปี 2567 แล้วไม่ได้ร่วมงานกับกรมการจัดหางานแสดงให้เห็นว่าไม่มีคุณภาพใช่หรือไม่ ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากนี้บริษัทประกันภัยทุกบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมด ฉะนั้นตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างทางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การที่กรมฯนำแผลเล็ก ๆ เหล่านั้นมาเขียน TOR เป็นการกีดกันไม่ให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาต่อสู้ได้" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่ามาตรฐานที่กำหนดในการคัดเลือกมาจากคณะทำงาน นั้น ในวันที่มีการประชุมคณะทำงานดังกล่าว ตัวแทน คปภ.มีความเห็นไม่เห็นด้วยกับมาตรฐานเรื่องทรัพย์สินรวมและ Car Ratio ทั้งนี้ในปัจจุบัน Car Ratio ระดับปลอดภัยที่คปภ.กำหนดไว้สำหรับธุรกิจประกันภัย คือ 140% อีกทั้งคปภ.ยังไม่เคยกล่าวถึงระดับสินทรัพย์เพราะการดูความปลอดภัยของบริษัทประกันภัยจะดูที่ Car Ratio ว่ามีเงินกองทุนเพียงพอที่จะจ่ายสำหรับผู้ถือกรมธรรม์หรือไม่ด้วย