5 แบงก์ใหญ่ ‘กรุงไทย-ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงเทพ-กรุงศรี’ ตั้งสำรองพุ่งรับมือโควิด-19 ‘กรุงไทย’ กำไรโต 8.9% แตะ 6.87 หมื่นล้าน ‘ไทยพาณิชย์’ กำไรลดลง 33% แต่สินเชื่อขยายตัว 7% ขณะที่ 'กสิกรไทย' กำไร 2.9 หมื่นล้าน ลดลง 23%
.................
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปี 2563 เท่ากับ 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่เติบโตดี 12% ซึ่งธนาคารขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึง 14.4% ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.7% ลดลงจาก 49.7% ในปี 2562
ธนาคารและบริษัทย่อยทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง จำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.6% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff
ทั้งนี้ ธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 147.3% จาก 131.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.81 ลดลงจาก 4.33% ณ 31 ธันวาคม 2562
จากผลประกอบการดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732 ล้านบาท ลดลง% 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 14,634 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเล็กน้อย ประกอบกับการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง แม้ว่าธนาคารได้บริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 16.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในไตรมาส 4/2563 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.8% ตามหลักการพิจารณาอย่างรอบคอบส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 3,453 ล้านบาท ลดลง 53.7% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562
ณ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,197,674 ล้านบาท เติบโต 12% จากสิ้นปี 2562 โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.35% และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ 18.76% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปี 2563 ธนาคารได้เผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการมาตรการต่างๆ อีกทั้งได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวภายใต้สภาวะ New Normal ได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ การให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2563
@‘ไทยพาณิชย์’ กำไรลด 33% ตั้งสำรองฯ 4.6 หมื่นล้าน
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ของปี 2563 จำนวน 27,218 ล้านบาท ลดลง 33% จากปีก่อน เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 80,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ
ในปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 96,899 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 7% จากปีก่อน จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 47,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปี 2562) โดยรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 64,330 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 44% เปรียบเทียบกับ 49% ในปีก่อน (หากไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวในปี 2562)
ในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.68% เพิ่มขึ้นจาก 3.41% ในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 141% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.2%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าแม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ ไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านราย ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร
สำหรับปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม ดังนั้นธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้
“ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ” นายอาทิตย์กล่าว
@‘กสิกรไทย’ กำไร 2.94 หมื่นล้าน ลดลง 23.6%
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเนื่องมายังการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว สำหรับในปี 2564 นั้น เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ประเมินว่า เส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และแรงหนุนส่วนใหญ่ยังมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน (รวมถึง TFRS 9) ทำให้งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2563 จำนวน 29,487 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 9,240 ล้านบาท หรือ 23.86% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,536 ล้านบาท หรือ 28.04% ซึ่งเป็นการตั้งสำรอง ฯ ตั้งแต่ในครึ่งแรกของปีเป็นจำนวนรวม 32,064 ล้านบาท
เนื่องจากความไม่แน่นอนในระดับสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้า อย่างไรก็ดี แม้ว่าในครึ่งปีหลังที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าทยอยสิ้นสุดลง ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งในปลายไตรมาส 4 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ตาม
ธนาคารได้มีการทบทวนประเมินความเพียงพอของสำรองฯ พบว่าการตั้งสำรองฯ ในสามไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ธนาคารจึงพิจารณาตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 4 ในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสามไตรมาสของปี โดยเมื่อรวมการตั้งสำรองฯ ในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 43,548 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถรองรับความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 6,334 ล้านบาท หรือ 6.17% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.27%
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 11,934 ล้านบาท หรือ 20.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลดลง และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 2,733 ล้านบาท หรือ 3.76% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของประมาณการค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายทางการตลาด
ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้น แม้ว่าในไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,825 ล้านบาท หรือ 23.26% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 45.19%
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,658,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 364,909 ล้านบาท หรือ 11.08% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93% โดยธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65%
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 18.80% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.13%
@‘แบงก์กรุงเทพ’ กำไรลด 52% เหลือ 1.71 หมื่นล้าน
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งว่า ในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 17,181 ล้านบาท ลดลง 52% จากปี 2562 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2562 มาอยู่ที่ 77,047 ล้านบาท เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.25% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง สาเหตุหลักจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุน จากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 20% หลักๆ จากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 55.6%
ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 31,196 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 181.6% เป็นการเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบควบคู่กับการดำรงฐานะการเงินสภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืนและเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่ (New Normal)
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ จำนวน 2,363,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.9% โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,810,863 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 18.6% จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 7.3% ส่วนใหญ่จากเงินรับฝากออมทรัพย์สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.1% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้น ที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยที่ 18.3% ,15.7% และ 14.9% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยำหนด
@กรุงศรีฯกำไรลดเหลือ 2.3 หมื่นล้าน NPL อยู่ที่ 2%
ด้านกรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการในปี 2563 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 โดยเป็นผลมาจากการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กรุงศรียังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 2.00% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 175.12%
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา กรุงศรียังเดินหน้าผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities) กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี
เห็นได้จากความสำเร็จของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. ความสำเร็จของกรุงศรีในการขยายฐานธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนโดยการเข้าซื้อหุ้น 50% ในบริษัท SB Finance Company, Inc. (SBF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Security Bank Corporation (SBC) หนึ่งในธนาคารชั้นนำของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab ความสำเร็จของการเปิดตัว ‘Kept’ นวัตกรรมบริหารเงินบนช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับอย่างสูงจากกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
กรุงศรียังได้ปรับแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รักษาคุณภาพสินทรัพย์ และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับปี 2563 เงินให้สินเชื่อของธนาคารฯเพิ่มขึ้น 0.8% หรือจำนวน 15,058 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสินเชื่อเพื่อลูกค้า SME มีการเติบโต 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ในขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับลดลง 1.5% ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนเงินกู้ของบรรษัทไทย
ส่วนเงินรับฝากมีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% หรือจำนวน 267,620 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.47% ปรับลดลงจาก 3.60% ในปี 2562 โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
อ่านประกอบ :
‘ส.ธนาคารไทย-แบงก์’ ขยายเวลาช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี' ถึง 30 มิ.ย.64
โควิดทุบเศรษฐกิจ 1-1.5%! ธปท.เล็งหั่นจีดีพี-แรงงาน 4.7 ล้านคน ‘รายได้ลด-ตกงาน’
‘ธปท.-คลัง’ งัดมาตรการสู้โควิด ‘รายย่อย-SME’ พักหนี้ 6 ด.-อัดฉีดสภาพคล่อง 6.3 แสนล.
รอชัดเจนก่อนทบทวนจีดีพี! ธปท.ห่วงคนติดโควิดรอบใหม่สูงกว่าคาด-หวังรัฐคุมอยู่
หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน! ธปท.รื้อนิยามคุณสมบัติ-ให้ยื่นกู้เพิ่มเป็น 2 ครั้ง
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/