ผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุน ‘LTF-RMF’ บุกร้อง ‘ก.ล.ต.’ สอบสวน-ดำเนินคดี ‘บลจ.’ แห่งหนึ่ง ทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 หลังเข้าลงทุนหุ้นใน STARK ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย 3.5 พันล้าน
..........................................
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายสิทธา สุวิรัชวิทยกิจ ในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย พร้อมด้วยผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยขอให้ ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของผู้เสียหายที่เข้าไปลงทุนในกองทุนเพื่อประหยัดภาษี ได้แก่ กองทุน LTF กองทุน RMF และกองทุนอื่นๆ ในการสืบสวนสอบสวน และแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) แห่งหนึ่ง
ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 เนื่องจาก บลจ. ดังกล่าว ได้เข้าไปลงทุนในหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน LTF และกองทุน RMF ได้รับความเสียหาย รวมทั้งขอให้ ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของผู้เสียหายดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งด้วย โดยมีนางอุรสา บรรณกิจโศภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ก.ล.ต. เป็นผู้แทนรับหนังสือ
สำหรับหนังสือร้องเรียนฯ มีเนื้อหาว่า นักลงทุนที่ได้ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ตระหนักและเข้าใจข้อจำกัดในการลงทุนดีว่าย่อมมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง แต่กรณีที่ต้องมาร้องเรียน เนื่องจากความเสียหายดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ผู้ลงทุนได้ตัดสินใจลงทุนกองทุน LTF และกองทุน RMF ผ่านกองทุนดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการประหยัดภาษี และเก็บออมสำหรับวัยเกษียณอายุ แต่ผลงานการลงทุนของกองทุนดังกล่าวนี้ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน
โดยกองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวด 6 เดือนติดลบ 12.33% เทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันที่เฉลี่ยติดลบ 7.24% ส่วนผลดำเนินงานรอบ 1 ปี ติดลบ 7.10% เทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่คิดลบเพียง 0.49% และในรอบ 5 ปีติดลบ 3% เทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มที่ติดลย 0.16% เป็นต้น เนื่องจากกองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้นของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น ไว้มากกว่ากองทุนอื่นๆ และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
2.กองทุนผู้กระทำความผิด ได้มีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ต.ค.2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมัน ในเดือน ธ.ค.2565 แล้ว กองทุนอื่นๆพากันปรับพอร์ตขายหุ้น STARK ออกไป เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานทางลบได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก
กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้พักการซื้อขาย 4 เดือน และมาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.2566 ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในวันที่ 23 และ 27 มิ.ย.2566 ว่า ยังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และต่อมาได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดฯให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566
ขณะที่ในช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคาหุ้นละ 1-4 สตางค์ ซึ่งน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท ประมาณการณ์ว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท หรืออย่างต่ำก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 2,600 ล้านบาท
3.กองทุนผู้กระทำผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เห็นได้จากกองทุนผู้กระทำผิดมีแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มิ.ย.2566 ว่า “บริษัทได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินกิจการ โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัทยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด”
แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า ผู้กระทำผิดขาดความระมัดระวังในการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะขณะที่ บลจ.อื่นๆ แจ้งว่าได้ขายหุ้น STARK ออกไปหมดแล้ว แต่กองทุนผู้กระทำผิด ยังคงถือครองหุ้นไว้จำนวนมากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จตามข้อ 2 และยังขาดความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะยังเห็นว่ากิจการ STARK ยังจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และยังถือครองหุ้นไว้จำนวนมาก จนท้ายที่สุดต้องขายออกไปในราคาที่แทบจะสิ้นมูลค่าแล้ว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ มีผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน LTF และ RMFต้องขาดทุนอย่างย่อยยับจากการกระทำดังกล่าว โดยกองทุนผู้กระทำผิดไม่ได้มีความรับผิดชอบใดๆที่จะชดเชยหรือเยียวยาให้
4.กองทุนผู้กระทำผิด ยังมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะทำการลงทุนที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการมีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้นบริษัท SKY แบบซื้อบิ๊กล็อตราคาหุ้นละ 30.25บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่ 2 เดือน ทั้งที่ราคาทรงๆตัวอยู่เขตหุ้นละ 10 บาท นานเป็นปีแต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้น
หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้นบริษัท ADD ตอนมีการไล่ราคาขึ้นไปหุ้นละ 30 บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่หุ้น 10 บาท หรือพฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้น SAMART และ SAMTEL ในราคาหุ้นละ 30 บาท ถึงหุ้นละ 45 บาท เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ไม่ปรับพอร์ตใดๆ และเพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคาหุ้นละ 3 บาทถึง 5 บาทในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว อันเป็นพฤติการณ์กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา124/1
กล่าวคือ ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ และอาจกระทำผิดต่อมาตราอื่นๆของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และพรบ.บริษัทมหาชนด้วย
ดังนั้น กลุ่มผู้เสียหายจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว จึงขอร้องเรียนให้ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้โปรดอำนวยความยุติธรรมในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาสู่ผู้ถือกองทุน LTF และ RMF วงการกองทุน และตลาดทุนโดยไว ด้วยการดำเนินการสืบสวนสอบสวน
และเป็นตัวแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ประสบความเสียหายในกรณีทำนองเดียวกัน โดยขอให้ก.ล.ต.แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบลจ.ผู้กระทำผิด ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนางอุรสา กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต.จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญทั้งผู้เสียหาย และบลจ. ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง โดยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และดำเนินตามกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมาตรา 124/1 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ บัญญัติว่า “ในการจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวง โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม รวมทั้งติดตามดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน และการกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหรืออาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด”
อ่านประกอบ :
STARK แจ้ง ก.ล.ต. ขอขยายเวลาส่ง ‘รายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ’ เป็นภายใน 29 ก.ย.66
ก.ล.ต.สั่ง STARK ส่ง ‘รายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ’ ภายใน 17 ก.ค.นี้
ก.ล.ต.ลุยสอบต่อปมซื้อขายหุ้น STARK-‘ดีเอสไอ’บุกค้น 5 บริษัท หาหลักฐานเพิ่ม-อายัดทรัพย์
กรณี STARK เสียหาย 3.8 หมื่นล.! ก.ล.ต.สั่งอายัดทรัพย์'วนรัชต์-ชนินทร์-พวก' ห้ามออกนอกปท.
‘ก.ล.ต.’ กล่าวโทษ ‘วนรัชต์-ชนินทร์-พวก’ รวม 10 ราย ตกแต่งบัญชี STARK-ขยายผลสอบปมทุจริต
STARK แจ้ง‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 พ้น‘กก.ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันฯ’
ผู้เสียหายหุ้นกู้STARK บุกร้องตำรวจ‘ปอศ.’จี้เอาผิดกก.บริษัท‘ชุดเก่า-ปัจจุบัน’-ทวงเงินคืน
DSI จ่อออกหมายจับ 3 ผู้ถูกกล่าวหา คดี STARK ใน 2 สัปดาห์-ขอ‘ก.ล.ต.’ใช้อำนาจอายัดทรัพย์ฯ
หากผิดโทษคุก 10 ปี! ‘ก.ล.ต.’เร่งสอบเคส STARK-ไม่ตอบปม‘อดีต CFO’ขอกันตัวเป็น‘พยาน’
DSI รับคดี‘อดีตผู้บริหาร’ฉ้อโกง STARK เป็น‘คดีพิเศษ’-เปิดกม.ให้อำนาจ‘ก.ล.ต.’อายัดทรัพย์ได้
เปิดชื่อกรรมการ‘ไทยเคเบิ้ล’ กรณีพบธุรกรรมผิดปกติ STARK-ล่าสุด‘ชนินทร์-วนรัชต์’ลาออก
เปิดงบ‘เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ’ปี 65 ไม่พบ‘เงินค่าสินค้าล่วงหน้า’หมื่นล.จากบ.ย่อย STARK
เช็กชื่อ กก.'เฟ้ลปส์ ดอด์จ' ช่วงโอน'หมื่นล.'อ้างค่าสินค้าล่วงหน้า กรณีธุรกรรมผิดปกติSTARK
ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งผู้ถือหุ้น! STARK แจงธุรกรรมผิดปกติ‘PDITL-เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง’
เปิดชื่อ‘กก.-ผู้ถือหุ้น’7บริษัท ก่อน‘ผู้สอบบัญชี’พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’ในงบการเงิน STARK
ก.ล.ต.เตือน‘นักลงทุน’ พิจารณาข้อมูล‘งบการเงิน-ผลตรวจสอบ’ STARK ด้วยความระมัดระวัง
พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’! STARK โชว์งบปี 65 ขาดทุน 6.6 พันล.-‘ผู้สอบบัญชี’ไม่แสดงความเห็นฯ