‘ก.ล.ต.-ตลท.’ ร่วมกับ 9 ‘องค์กรตลาดทุน’ ตั้งโต๊ะแถลงเรียความเชื่อมั่น หลังเกิดกรณี STARK ขณะที่ ‘รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต.’ เผยยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบหา ‘ผู้กระทำความผิด’ ระบุหาก 'ผิดจริง' โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ยอมรับกฎหมาย ก.ล.ต. ไปไม่ถึง ‘สำนักงานผู้สอบบัญชี’ ไม่ตอบปม ‘อดีต CFO’ เข้าให้ข้อมูล-ขอกันตัวเป็น ‘พยาน’
.......................................
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน 9 องค์กร เปิดแถลงข่าว ‘กรณี บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) และแนวทางเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน’
โดย นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ต้องยอมรับว่ากรณีของ STRAK นั้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งพวกเราในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนต่างก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงเปิดแถลงข่าวในครั้งนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต.และ ตลท. ได้ร่วมกันดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จนทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลต่างๆของบริษัทฯมาเป็นลำดับ และพบรายการผิดปกติในงบการเงิน STARK
“กรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น สั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในกรณีที่พบความผิดปกติในข้อมูลที่บริษัทฯเปิดเผย รวมทั้ง ก.ล.ต.เองได้เข้าตรวจสอบการกระทำความผิดต่างๆ ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก
ในด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุน การที่บริษัทฯไม่นำส่งงบการเงิน และทำให้เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ฯ นั้น ก.ล.ต.ได้ประสานกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการช่วยดูแลด้านต่างๆ มีการจัดตั้งศูนย์ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุน ซึ่งกรณีหุ้นกู้ STARK มีข้อร้องเรียนว่า ผู้ลงทุนหลายรายไม่ควรมาซื้อหุ้นกู้ได้ ก.ล.ต.จึงตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ส่วนดูแลนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้น STARK ก.ล.ต.ได้หารือกับ ตลท. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อดูแลช่วยเหลือนักลงทุน
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.กำลังทำอยู่ แต่คงให้ข้อมูลไม่ได้มากนัก โดยภาพรวมในขณะนี้ การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และในช่วงบ่ายของวันนี้ (26 มิ.ย.) เรา (ก.ล.ต.) มีนัดหมายจะเข้าพบกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อหารือกันในเรื่องนี้” นายธวัชชัย กล่าว
@เคส STARK ต่างจากกรณีหุ้น MORE ชี้‘ยึด-อายัดทรัพย์’ต้องมีขั้นตอน
นายธวัชชัย ย้ำว่า ก.ล.ต.เข้าใจดีว่า ทุกฝ่ายมีความคาดหวังให้ ก.ล.ต.เร่งบังคับใช้กฎหมายในกรณี STARK ให้มีความรวดเร็ว ซึ่งทางทีมงานของ ก.ล.ต.ได้เร่งรัดและไม่นิ่งนอนใจอยู่แล้ว แต่ที่คนได้ยินเรื่องนี้น้อย เพราะ ก.ล.ต.มุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการขั้นสุดท้าย โดยขณะนี้กระบวนการต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก และในเรื่องนี้ ก.ล.ต.มีความร่วมมือกับ DSI ,ปอศ., สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
“เราทำกันเต็มที่ แต่คงบอกไม่ได้ว่า จะเป็นกรอบเวลาเท่าไหร่ และแม้ว่า ก.ล.ต.จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนก็ตาม แต่เราไม่ได้จำกัดตัวเอง อะไรที่ ก.ล.ต.ช่วยได้ เราก็ยินดี และในการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. หากมีส่วนใดที่จะไปช่วยเยียวยาผู้ลงทุนได้ เราจะช่วย” นายธวัชชัย กล่าว
และว่า “ในแง่ของการประสานกับ ปปง. นั้น ได้มีติดตามไปเหมือนกัน ซึ่งถ้าถามว่ากรณีเคส MORE กับเคสนี้ (STARK) ทำไมไม่ทำเหมือนกัน ขอเรียนในภาพรวมว่า แต่ละเคสมีความแตกต่างกัน ทั้งฐานความผิด ลักษณะการกระทำ พยานหลักฐาน และความเกี่ยวข้องของบุคคล ซึ่งแต่ละเรื่อง ก.ล.ต. และหน่วยงานที่รับเรื่องไว้ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนพยายามทำเต็มที่เพื่อช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้ ในเรื่องการป้องปรามความเสียหาย
โดยในเรื่องการยึดอายัดทรัพย์นั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกท่านก็เข้าใจอยู่แล้วว่า กฎหมายคงไม่ได้ให้หน่วยงานของรัฐ อยู่ดีๆจะไปยึดอายัดทรัพย์ของใครได้โดยง่ายๆ จึงมีกระบวนการขั้นตอนของเขาอยู่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการแล้ว ทั้งนี้ ในการทำงานของ ก.ล.ต. นั้น เราจะร่วมมือกัน ถ้าหน่วยงานใดมีอำนาจทำงานตรงไหนได้เร็วกว่าหรือมากกว่า เราก็อยากให้ทำ เพื่อให้เกิดผลดีในภาพรวม ไม่ใช่ให้ ก.ล.ต.ทำก่อน หรือทำคนเดียว”
(ธวัชชัย พิทยโสภณ)
@เผยกรณี STARK โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี-ไม่ตอบ‘อดีต CFO’เข้าพบ
ส่วนการดำเนินการหรือการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกรณี STARK นั้น นายธวัชชัย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของความผิดปกติของข้อมูลของบริษัทฯ และมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำที่มิชอบอยู่ในบริษัท ซึ่งมีบทกำหนดโทษ คือ จำคุกสูงสุด 10 ปี แต่ตอนนี้คงบอกไม่ได้ว่าใครทำผิดแล้ว ส่วนจะครอบคลุมบุคคลใดบ้างนั้น ขอตอบว่า หากใครที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็คือบุคคลนั้น
นายธวัชชัย กล่าวถึงการดำเนินการกับ ‘ผู้สอบบัญชี’ ที่เกี่ยวข้องกับกรณี STARK ว่า ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ซึ่งกรณีของ STARK นั้น เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่จะต้องเข้าไปดูอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์อันควรสงสัย ทุกฝ่ายต้องมีโอกาสชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน และมีการพิจารณาตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี หากผู้สอบบัญชีมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มากไปกว่าการบกพร่องในมาตรฐานของตัวเองในการทำงาน ก็จะเป็นผู้กระทำความผิดด้วย และใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำความผิด ก็จะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเช่นกัน และหากผู้สอบบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด คงไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต แต่จะมีโทษมากกว่านั้น
“สิ่งที่ปรากฏกับผู้ลงทุน คือ เขาใช้ข้อมูล แต่ข้อมูลไม่ถูก ใครเป็นคนทำข้อมูลนั้น ซึ่งในมุมของ ก.ล.ต. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในการตรวจสอบ การที่จะพูด ณ วันนี้ ว่า จะเอาผิดกันคนนั้น คนนี้ จะฟ้องคนนั้น คนนี้ได้ไหม ก็ยืนยันว่า เรายังไม่สามารถพูดได้ในวันนี้ หลายครั้งคนจะมองว่า ข้อมูลไม่ถูกแล้ว แก้มาแล้ว ทำไมไม่สรุป
แต่ประเด็นสำคัญ คือ ข้อมูลที่ไม่ถูกนั้น เกิดจากอะไร ใครเป็นคนกระทำ ใครที่มีส่วนร่วม เกี่ยวอะไรกับใครบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เราไม่อยากเจาะไปที่ผู้สอบบัญชีเพียงคนเดียว” นายธวัชชัย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าผู้เสียหายกรณี STARK จะฟ้องคดีอาญากับผู้สอบบัญชี STARK ได้หรือไม่
ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้มีการลงโทษ ‘สำนักงานผู้สอบบัญชี’ ด้วย ไม่ใช่แค่เอาผิดกับ ‘ผู้สอบบัญชี’ นั้น นายธวัชชัย ระบุว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯในปัจจุบัน ก.ล.ต.ไม่ได้มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบสำนักงานผู้สอบบัญชี แต่ให้ความเห็นชอบเฉพาะบุคคล ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องแก้ไขกฎหมาย โดย ก.ล.ต.ได้เสนอแก้ไขกฎหมายไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว และอยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ก.ล.ต. ว่า CFO ของ STARK ได้เข้ามาให้ข้อมูลกับ ก.ล.ต. เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งนายธวัชชัย ตอบว่า “การตรวจสอบดำเนินการ ก.ล.ต.จะดูทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมีหลายคำถามว่า จะดำเนินการกับคนนั้น บุคคลนี้หรือไม่ ขอเรียนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหลักการแล้ว ก.ล.ต.จะต้องเข้าไปดูว่ามีการกระทำที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงขอไม่ตอบแล้วกัน ว่าใครเข้ามาพบบ้าง”
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีต CFO ของ STARK เข้าให้ข้อมูลกับ ก.ล.ต. เกี่ยวกับเส้นทางการเงินของอดีตผู้บริหารและผู้บริหาร STARK และขอให้กันตัวไว้เป็นพยาน รวมทั้งผู้บริหาร STARK คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้าให้ข้อมูลกับ ก.ล.ต. เป็นความจริงหรือไม่ โดยนายธวัชชัย ระบุว่า “ไม่ขอตอบ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบการกระทำความผิด เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครมาให้อะไรกับเรา ตรวจสอบอย่างไร”
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า “จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆก็เข้าใจได้ เพราะเรื่องนี้ (STARK) มันก็ใหญ่จริง ถ้าถามว่าจะวางใจ ก.ล.ต.ได้อีกไหม ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำ และปรากฏผลออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ก็ต้องรอดู คำพูดไม่ค่อยมีความหมายเท่ากับสิ่งที่เรากระทำ”
@แจง 5 รายการ STARK แต่งบัญชีงบการเงินช่วง‘ก่อนปี 64-65’
ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวถึงความเป็นมากรณี STARK ว่า STARK เป็นโฮลดิ้งคอมพานี มีบริษัทย่อยทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าและสายเคเบิล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2562 ในลักษณะ Back-door Listing โดยในช่วงปี 2562-64 ไม่เกิดเหตุการณ์อะไรที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ เพราะงบการเงิน ‘ไม่มีเงื่อนไข’ แต่ในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัท STARK นำส่งงบการเงินล่าช้า
“ในช่วง พ.ค.2565 บริษัทฯแจ้งมติบอร์ดบริหารเรื่องการลงทุนใน LEONI (LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc) ในต่างประเทศ จากนั้นมีการออกมาเพิ่มทุน Private Placement (PP) ในช่วงเดือน ธ.ค.2565 หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นความไม่ปกติ คือ auditor (ผู้สอบบัญชี) แจ้งพฤติการณ์อันควรสงสัยตามมาตรา 89/25 ในเดือน ก.พ.2566 และวันที่ 28 ก.พ.2566 บริษัทฯประกาศส่งงบล่าช้า โดยบอกจะส่งในวันที่ 31 มี.ค.2566
แต่หลังจากนั้นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ของบริษัทฯ แจ้ง ก.ล.ต.เรื่องการจ้าง special audit ในวันที่ 27 มี.ค.2566 และแจ้งเลื่อนขอส่งงบปี 2565 ออกไปอีกเป็นวันที่ 21 เม.ย.2566 จากนั้นได้แจ้งเลื่อนส่งงบเป็นครั้งที่ 2 เป็นในเดือน พ.ค.2566 ซึ่ง ก.ล.ต.ได้สั่งให้ STARK ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดให้มี extended-scope special audit ในวันที่ 17 พ.ค.2566
ขณะที่ในส่วนของ ตลท. นั้น ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น STARK ในวันที่ 1 มี.ค.2566 เนื่องจากบริษัทฯไม่ส่งงบการเงินปี 2565 และขึ้นเครื่องหมาย C ในวันที่ 19 พ.ค.2566 จากการที่ ก.ล.ต.สั่งให้บริษัททำ special audit รวมทั้งมีการติดตามให้บริษัทฯเผยแพร่คำชี้แจงของ ก.ล.ต.ในวันที่ 23 พ.ค.2566 และเรายังได้หารือกับ ก.ล.ต.ก่อนมีการออกข่าวเปิดให้ซื้อขายหุ้น STARK เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้บริษัทจัดชี้แจงต่อสาธารณะในวันที่ 30 พ.ค.2566” นายภากร ระบุ
นายภากร กล่าวต่อว่า เมื่อ STARK นำส่งงบการเงินปี 2565 ในวันที่ 16 มิ.ย.2566 พบว่ามีการปรับปรุงข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง ซึ่งผลกระทบจากการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังดังกล่าว ทำให้มีเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้น 5 เรื่อง ได้แก่ 1.มีการสั่งซื้อวัตถุดิบและการชำระหนี้ให้กับบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 มีการปรับตัวเลขเป็นสูงถึง 10,451 ล้านบาทในปี 2565
2.มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริงในช่วงก่อนปี 2564-2456 เป็นจำนวนเงิน 7,759 ล้านบาท ได้แก่ ก่อนปี 2564 จำนวน 597 ล้านบาท, ปี 2564 จำนวน 1,763 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 5,399 ล้านบาท 3.มีการตัดจำหน่ายภาษีขาย (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในช่วงก่อนปี 2564-2565 รวม 670 ล้านบาท ได้แก่ ก่อนปี 2564 จำนวน 16 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 85 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 569 ล้านบาท
4.มีการตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจาก hedging ลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ในช่วงปี 2564-2565 รวม 794 ล้านบาท ได้แก่ ปี 2564 จำนวน 729 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 65 ล้านบาท และ 5.มีการบันทึกการขาดทุนจากสินค้าคงเหลือ-หาย 1,790 ล้านบาทในปี 2565
นายภากร กล่าวว่า สิ่งที่ ตลท.ทำไป และจะทำในอนาคต คือ 1.เราทำงานร่วมกับสมาคมนักลงทุนรายย่อยในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลุ่มผู้ถือหุ้นในการติดต่อ STARK และดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถือหุ้น STARK แจ้งข้อมูลความเสียหายมาที่ TIA แล้ว 2.เราทำงานร่วมกับนักลงทุนสถาบัน เช่น สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เป็นตัวแทนในการหาแนวทางดำเนินการกฎหมายกับผู้กระทำผิด
3.ตลท.อยู่ระหว่างตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการซื้อขายหลักทรัพย์ฯที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ 4.การยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนฯ ตั้งแต่กระบวรการรับหลักทรัพย์ไปจนถึงการดำรงอยู่ เพื่อทำให้ ตลท.สามารถดูแลให้บริษัทจดทะเบียนฯมีความเข้มแข็งขึ้น และจะมีการเพิ่มเครื่องมือในการเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่หุ้นมีสัญญาณว่าจะมีปัญหา
@ระบุหาก‘ผู้สอบบัญชี’บกพร่อง มีโทษพัก-เพิกถอนใบอนุญาต
นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในวิชาชีพบัญชีและตลาดทุนไทย ซึ่งมาตรฐานการบัญชีที่ใช้อยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก และมีการปรับปรุงเป็นระยะๆตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่สภาวิชาชีพบัญชีได้กำกับดูแลมาตรฐานของผู้สอบบัญชีอย่างใกล้ชิด
“เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของผู้สอบบัญชีนั้น สามารถไปร้องเรียนกับคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ ถ้าคณะกรรมการฯพบว่าผู้สอบบัญชีมีข้อบกพร่องจริง ผู้สอบบัญชีจะถูกลงโทษโดยการพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต” นายสุพจน์ กล่าว
นายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ระบุ สมาคมฯ เห็นว่ากฎเกณฑ์ที่กำกับบริษัทจดทะเบียนมีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งบริษัทฯส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามอยู่แล้ว สำหรับในส่วนของบริษัทจดทะเบียน การดูแลรายงานทางการเงิน โดยเฉพาะการกำกับดูแลเรื่องรายการระหว่างกันที่มีขนาดที่มีนัยสำคัญ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารบริษัท และผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชี รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท
“ในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนควรต้องพิจารณาทำงานร่วมมือกับฝ่ายบริหารใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมกับหน่วยงานอื่นในตลาดทุนต่อไป” นายไพศาล กล่าว
นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า สมาคมทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบแก่กรรมการบริษัทอย่างต่อเนื่อง สมาคมฯเชื่อว่ากรรมการบริษัทที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ควรมีอยู่มากมาย กรณี STARK จะเป็นกรณีศึกษา เพื่อกรรมการและฝ่ายจัดการจะได้ไปสำรวจความรัดกุม และความเพียงพอของการกำกับดูแลกิจการ และการควบคุมภายในของบริษัทต่อไป
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า “เหตุการณ์แก้ไขงบที่เกิดขึ้นกับหุ้นSTARK นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของ นักวิเคราะห์และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล จึงไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี
“เพื่อป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย ต้องหาวิธีที่จะสามารถตรวจทานหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องมา Opportunity Day หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึง ปีละ 2-4 ครั้ง ส่วนสมาคมนักวิเคราะห์ฯเอง จะเพิ่มเติมการพัฒนาทักษะของนักวิเคราะห์ ในการคัดกรองข้อมูลและประเมินความสมเหตุผล ตลอดจนทักษะในการตรวจจับจุดอันตรายในงบการเงิน” นายสมบัติ กล่าว
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ปฏิบัติหน้าที่เข้มงวดในการกลั่นกรองบริษัทที่ออกและเสนอหุ้น IPO เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน กรรมการและผู้บริหารมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม มีบางบริษัทจดทะเบียนที่อาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ชมรมฯ จึงพร้อมร่วมหารือและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงเกณฑ์และมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมโดยยังรักษาสมดุลของการกำหนดเกณฑ์และไม่เป็นภาระกับบริษัทจดทะเบียนมากจนเกินไป ทั้งนี้ ชมรมฯ ยินดีให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ backdoor listing ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเทียบเท่ากับเกณฑ์ IPO ต่อไป
@ผู้เสียหายหุ้น STARK กว่า 1 พันคน แจ้งความเสียหาย 4 พันล.
นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยในการรวมกลุ่มผู้เสียหาย จากการลงทุนในหุ้นสามัญ STARK สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงเปิดระบบลงทะเบียนให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทะเบียน โดยคำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัด และจะพิจารณาช่วยดำเนินการ รวมถึงอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่อไป กรณีที่มีการร้องขอให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action
นางสิริพร ระบุว่า หลังจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดให้ผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ STARK เข้ามาลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 19-25 มิ.ย.2566 ปรากฏว่าเบื้องต้นมีผู้มาลงทะเบียน 1,759 คน มูลค่าความเสียหายที่ลงทะเบียน 4,063 ล้านบาท
นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า ทริสเรทติ้งฯจะปรับปรุงขั้นตอนในการคัดกรองผู้ออกตราสารใหม่ให้เข้มงวด โดยเพิ่มความระมัดระวังสำหรับผู้ออกตราสารที่เข้าจดทะเบียนฯ โดย backdoor listing และผู้ออกตราสารที่ไม่มีประวัติในการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง หรือเน้นสร้างการเติบโตจากการซื้อกิจการ รวมถึงหลีกเลี่ยงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับผู้ออกตราสารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้บริหารที่มีประวัติหรือชื่อเสียงในทางลบทางด้านธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งจะเพิ่มการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ ในส่วนเทคนิคการสังเกตลักษณะของงบการเงินที่น่าสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงินและสถานะทางการเงินที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า บลจ. ที่มีการลงทุนใน STARK มีความเห็นตรงกันในแนวทางการทำ class action และในฐานะนายกสมาคมฯ มองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทจัดอันดับเครดิต นักวิเคราะห์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ThaiBMA ในฐานะของ Bond Information Center ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และสำนักงาน ก.ล.ต.ในการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็วกับผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางออนไลน์ของสมาคมฯ นอกจากนี้ เรายังได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เหตุแห่งการผิดนัดชำระหนี้ สิทธิของผู้ลงทุน หน้าที่และขั้นตอนการดำเนินงานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นต้น
@‘3 หน่วยงาน’หารือบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกรณี STARK
วันเดียวกัน นายธวัชชัย รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ประชุมร่วมกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และ พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล รองผู้บังคับการ ปอศ. (ซึ่งได้รับมอบหมายโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง)
โดยคณะผู้บริหารทั้ง 3 หน่วยงาน ได้หารือเกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดกรณีบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
“กรณี STARK ซึ่งอยู่ในกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายโดยเป็นไปตามขั้นตอนปกติ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้เร่งดำเนินการกับกรณีนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก และอาจมีผลกระทบต่อตลาดทุนในภาพรวม นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับ DSI และ ปอศ. เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง DSI ได้รับกรณีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษแล้ว ซึ่งก.ล.ต. มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ DSI อย่างเต็มที่
สำหรับการร่วมประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่ทำได้อย่างรวดเร็วและรัดกุม และช่วยยับยั้งความเสียหายต่อประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันต่อไปอีกด้วย” รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
อ่านประกอบ :
DSI รับคดี‘อดีตผู้บริหาร’ฉ้อโกง STARK เป็น‘คดีพิเศษ’-เปิดกม.ให้อำนาจ‘ก.ล.ต.’อายัดทรัพย์ได้
เปิดชื่อกรรมการ‘ไทยเคเบิ้ล’ กรณีพบธุรกรรมผิดปกติ STARK-ล่าสุด‘ชนินทร์-วนรัชต์’ลาออก
เปิดงบ‘เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ’ปี 65 ไม่พบ‘เงินค่าสินค้าล่วงหน้า’หมื่นล.จากบ.ย่อย STARK
เช็กชื่อ กก.'เฟ้ลปส์ ดอด์จ' ช่วงโอน'หมื่นล.'อ้างค่าสินค้าล่วงหน้า กรณีธุรกรรมผิดปกติSTARK
ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งผู้ถือหุ้น! STARK แจงธุรกรรมผิดปกติ‘PDITL-เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง’
เปิดชื่อ‘กก.-ผู้ถือหุ้น’7บริษัท ก่อน‘ผู้สอบบัญชี’พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’ในงบการเงิน STARK
ก.ล.ต.เตือน‘นักลงทุน’ พิจารณาข้อมูล‘งบการเงิน-ผลตรวจสอบ’ STARK ด้วยความระมัดระวัง
พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’! STARK โชว์งบปี 65 ขาดทุน 6.6 พันล.-‘ผู้สอบบัญชี’ไม่แสดงความเห็นฯ
ก.ล.ต.สั่ง STARK ชี้แจงข้อเท็จจริงปมพิพาทล้มดีลซื้อหุ้น LEONI 2.2 หมื่นล. ภายใน 7 วัน
‘ผู้เสียหาย’บุกร้อง‘ก.ล.ต.’เร่งสอบกรณีหุ้น STARK-‘สอบ.’จี้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘ก.ล.ต.’เร่งสอบ-เยียวยากรณีหุ้นกู้ STARK หลังผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ
เจ้าหนี้ STARK เรียกคืน‘เงินต้น-ดบ.’หุ้นกู้ 2 ชุด 2.24 พันล.-ส่อผิดนัดฯอีก 6.95 พันล้าน
'ก.ล.ต.'สั่ง STARK ขยายขอบเขตการตรวจสอบ'เป็นกรณีพิเศษ'-ขีดเส้นชี้แจงข้อเท็จจริงใน 7 วัน
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ‘เสียงข้างมาก’มีมติ‘ยกเว้นเหตุผิดนัด’หนี้หุ้นกู้ 9.1 พันล.
หวั่นซ้ำรอยEARTH! จับตาที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ถกความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ 9.1 พันล.