STARK นำส่งงบปี 65 โชว์ผลขาดทุน 6.6 พันล้าน พร้อมรื้องบปี 64 พลิกเป็นขาดทุน 5.9 พันล้าน จากเดิมที่กำไร 2.7 พันล้าน พบ ‘รายการผิดปกติ’ 14 รายการ มีการโอนเงินเข้า บ.ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้ถือใหญ่’ แจง 3 สาเหตุหลัก ‘ผู้สอบบัญชี’ ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2566 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชัน (STARK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า STARK ได้นำส่งงบการเงินสำหรับปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 โดยผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัทฯ ได้ทำการปรับตัวเลขเปรียบเทียบย้อนหลังสำหรับปี 2564 และสำหรับงบการเงินรวมที่จะออกสำหรับปี 2565 ให้ถูกต้องตามข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ดังนี้
ในปี 2564 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 17,486.6 ล้านบาท (เดิม 25,217.2 ล้านบาท) และมีรายได้จากการให้บริการ 1,568.4 ล้านบาท (เดิม 1,828.8 ล้านบาท) โดยกลุ่มบริษัทฯ ประสบการขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 5,989.3 ล้านบาท (เดิมกำไรสุทธิ 2,794.9 ล้านบาท) ส่วนงบดุลของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯมีลูกหนี้การค้า 6,306.2 (เดิม 15,570.8 ล้านบาท) และส่วนของเจ้าของติดลบ 2,844.9 ล้านบาท (เดิม 6,591.2 ล้านบาท)
ขณะที่ในปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 25,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,158 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.31% จากปี 2564 และมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,609 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.57% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยกลุ่มบริษัทฯ ประสบการขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.04% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3,473 ล้านบาท
“(บริษัทฯ) ขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 11 เมื่อเปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 5,989 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย
อนึ่ง ผลขาดทุนสุทธิประจำปี 2564 ของกลุ่มบริษัทฯ จะแตกต่างจาก หน้า 5 จาก 6 ผลกำไรสุทธิจากงบการเงินประจำปี 2564 ฉบับลงวันที่ 23 ก.พ.2565 เนื่องจากทางกลุ่มบริษัทต้องดำเนินการปรับปรุงรายการทางบัญชีเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของการบันทึกบัญชีที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่ผ่านมา” STARK ระบุ
@ปี 65 ‘ส่วนของผู้ถือหุ้น’ลบ 4,403 ล้าน จากปี 64 ที่ติดลบ 2,844 ล.
สำหรับฐานะทางการเงินของบริษัทฯสำหรับปี 2565 และสำหรับปี 2564 หลังจากปรับปรุงปรับปรุงรายการทางบัญชีเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของการบันทึกบัญชีที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่ผ่านมา มีดังนี้
1.สินทรัพย์
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กลุ่มบริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 34,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จาก 29,877 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินทรัพย์หมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น 5,396 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นจากเงินสดที่ได้รับมาจาการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด และลูกหนี้การค้า
2.หนี้สิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 38,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% จาก 32,722 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้การค้าที่ได้เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เจ้าหนี้ทรัสต์รีซีทส์ และหุ้นกู้ที่ออกในปี 2565 ขณะที่เงินกู้ยืมธนาคารระยะยาวบางส่วนมียอดลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนเมื่อถึงกำหนด
3.ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กลุ่มบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากยอดติดลบ 2,844 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ทั้งนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบของปี 2565 และ 2564 เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงานและการปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ หน้า 6 จาก 6 ปี 2565 มีส่วนผู้ถือหุ้น 2,492 ล้านบาท ลดลง 9,554 ล้านบาท เปรียบเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นในปี 2564 จำนวน 12,046 ล้านบาท เป็นผลมาจากการตั้งสำรองการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินให้กู้ยืมจำนวนมากในปี 2565
“กลุ่มบริษัทฯตระหนักถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากข้อมูลความจริงที่ถูกเปิดเผย และนำเสนอในงบการเงินนี้ ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทฯ คณะกรรมการและคณะผู้บริหารชุดใหม่ของกลุ่มบริษัทฯ กำลังเร่งดำเนินการร่วมกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างเร่งด่วน
เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ กลุ่มบริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งกำลังเร่งแก้ไขสาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ทั้งการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก” STARK ระบุ
@พบ‘รายการผิดปกติ’ 14 รายการ-โอนเงินให้ บ.เกี่ยวข้อง‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’
STARK ระบุด้วยว่า ในระหว่างการตรวจสอบงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ผู้บริหารของกลุ่มกิจการได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีถึงรายการผิดปกติจำนวนมากหลายรายการที่มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่องบการเงินรวมของกลุ่มกิจการ รวมถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบัญชี ผู้บริหารของกลุ่มกิจการได้พิจารณาและปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและงบการเงินรวมปีก่อนแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.รายละเอียดของรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีสาระสำคัญต่องบการเงินรวม มีดังนี้
1.1 ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 เฟ้ลปส์ ดอด์จ มียอดลูกหนี้การค้าคงค้างเป็นจำนวนมาก ในยอดดังกล่าว เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขาย โดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 5,005 ล้านบาท ในปี 2565 รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 923 ล้านบาท ในปี 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 97 ล้านบาท ก่อนปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
1.2 รายการขายหลายรายการให้แก่ลูกหนี้การค้าหลายราย รวมเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท ซึ่งบันทึกบัญชีขายและบันทึกการรับชำระเงินภายในเดือน ธ.ค.2565 ซึ่งโดยปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะให้กำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ (credit terms) ให้แก่ลูกหนี้การค้าเป็นเวลา 60 ถึง 90 วัน ซึ่งรายการดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ และ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขาย โดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าในปี 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท
นอกจากนี้ เงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า ไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีในงบการเงินรวมปีปัจจุบันให้ถูกต้องแล้ว
1.3 เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้ว สำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจำนวน 569 ล้านบาท 35 ล้านบาท และ 7 ล้านบาท ในปี 2565 และปี 2564 และก่อนปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
1.4 รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี) ซึ่งรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 โดยปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าโดยการเปิด Letter of Credit (L/C) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้า
รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ และยังพบว่ามีการจ่ายเงินออกไปจริง แต่มิได้เป็นการจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการโอนเงินออกไปให้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีในงบการเงินรวมปีปัจจุบันให้ถูกต้องแล้ว
1.5 เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือนธ.ค.2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าเป็นลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าในปี 2564 เป็นจำนวนเงิน 2,034 ล้านบาท และในเดือนเดียวกัน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ยังได้รับเงินอีกจำนวน 4,052 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นการรับเงินชำระเงินจากการขายสินค้าในปี 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะสนับสนุนว่ามีรายการขายเกิดขึ้นจริง และจากเส้นทางการรับชำระเงิน ได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
1.6 รายการสินค้าคงเหลือที่แสดงในรายงานสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 มีปริมาณสินค้าคงเหลือหลายรายการซึ่งแสดงปริมาณ (quantity) ติดลบ คิดเป็นเงินจำนวนรวม 1,375 ล้านบาท ซึ่งปริมาณสินค้าคงเหลือที่ติดลบดังกล่าวเกิดจากผลแตกต่างจากการตรวจนับสินค้าประจำปีที่เกิดก่อนปี 2565 ที่ยังไม่ได้ทำรายการปรับปรุงในรายงานทางบัญชี
ผู้บริหารได้ตัดสินใจที่จะปรับปรุงผลกระทบของรายการสินค้าคงเหลือที่มีปริมาณสินค้าคงเหลือติดลบทั้งจำนวนในงบการเงินรวมปี พ.ศ. 2565 แต่อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวจะต้องกระจายไปปรับปรุงงบการเงินรวมย้อนหลังหรือไม่แต่อย่างไร
1.7 เฟ้ลปส์ ดอด์จ บันทึกกลับรายการต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือ สำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง เป็นจำนวนเงิน 2,222 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ในปี 2564 และก่อนปี 2564 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสินค้าคงเหลือภายหลังการปรับปรุงมียอดปริมาณสูงกว่ายอดปริมาณทางบัญชีในอดีตอย่างมีสาระสำคัญ จึงรับรู้ผลแตกต่างดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
1.8 รายงานอายุลูกหนี้ (aging report) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 และปี 2564 ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลวันที่ในใบแจ้งหนี้และ/หรือวันครบกำหนดชำระในรายงานอายุลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับใบกำกับการขาย (sales invoice) ข้อผิดพลาดดังกล่าวมีผลต่อการคำนวนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้า ซึ่งมีผลทำให้การบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้การค้าต่ำไปหรือกำไรสุทธิสูงไป 65 ล้านบาท และ 729 ล้านบาท ในปี 2565 และ ปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
2.รายละเอียดของรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท อดิสรสงขลา จํากัด (อดิสรสงขลา) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีสาระสำคัญต่องบการเงินรวม มีดังนี้
2.1 บริษัท อดิสรสงขลา ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล โดยมีรายได้จากการให้บริการจากการจัดส่งพนักงานไปทำงานให้แก่ลูกค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และในปี 2565 มีลูกหนี้การค้าจากการให้บริการด้านทรัพยากรคงค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่ง อดิสรสงขลา บันทึกรายได้การให้บริการโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือในการให้บริการ ซึ่งมีผลให้มีการรับรู้รายได้จากการให้บริการและลูกหนี้การค้าสูงเกินจริงเป็นจำนวน 394 ล้านบาท 240 ล้านบาท และ 411 ล้านบาท ในปี 2565 ในปี 2564 และก่อนปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
2.2 รายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้าในปี 2565 มีจำนวน 136 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 ซึ่งมีจำนวน 18 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญและไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ลดลงในปี 2565 อดิสรสงขลา บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงพนักงานในปี 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวน 99 ล้านบาท ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีในงบการเงินรวมปีปัจจุบันให้ถูกต้องแล้ว
2.3 อดิสรสงขลา แสดงรายการส่วนลดจากการให้บริการเป็นรายการหักในรายได้จากการให้บริการในปีปัจจุบัน จึงทำให้ต้องมีการปรับแก้ไขตัวเลขเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับการแสดงรายการในปีปัจจุบัน โดยการปรับปรุงรายได้จากให้บริการกับต้นทุนการให้บริการในงบการเงินรวมปีก่อนจำนวน 21 ล้านบาท ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
3.รายละเอียดของรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ไทยเคเบิ้ล) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในงบการเงินรวม มีดังนี้
3.1 ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 600 ล้านบาท ในปี 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 89 ล้านบาท ก่อนปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
3.2 ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายสูงเกินความเป็นจริงและเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง (เนื่องจากเงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน) ผู้บริหารจึงบันทึกรับรู้เจ้าหนี้การค้าบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน เป็นจำนวน 121 ล้านบาท ในปี 2564 และเป็นจำนวน 39 ล้านบาท ก่อนปี 2564 ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
3.3 ไทยเคเบิ้ล ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้วสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจำนวน 50 ล้านบาท และ 9 ล้านบาท ในปี 2564 และก่อนปี 2564 ตามลำดับ ผู้บริหารได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
@‘ผู้สอบบัญชี’ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 65 ของ STARK
อย่างไรก็ตาม รายงานงบการเงินสำหรับปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ที่ STARK นำส่งตลาดหลักทรัพย์ฯดังกล่าว ผู้สอบบัญชี คือ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน โดย STARK ได้ชี้แจงเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2565 ของบริษัทฯ ว่า มาจากสาเหตุสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ด้วยสาเหตุหลัก ดังนี้
1.1. การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (ทั้งในระยะแรก และระยะที่สองตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้ขยายขอบเขตเพิ่มเติม) ซึ่งต้องทำการตรวจสอบบริษัท บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จ ากัด (PDITL) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) และบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) ยังไม่แล้วเสร็จ
1.2. ไม่สามารถตรวจสอบการบันทึกรายการรับเงินและรายการจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ของ PDITL ได้ครบถ้วน เนื่องจากขาดหลักฐานประกอบการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวนมาก
1.3. ผู้สอบบัญชีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบบัญชีของ PDITL ในระหว่างปี จึงไม่ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือต้นปีบัญชี ณ วันที่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 5,702 ล้านบาท จึงไม่สามารถระบุได้ว่า มีรายการปรับปรุงใดที่จำเป็นต่องบการเงินประจำปี 2565 หรือไม่
2. มีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก
2.1.มีผลการดำเนินงานรวมขาดทุนสุทธิจำนวน 6,651 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท : 15,134 ล้านบาท )
2.2. มีขาดทุนสะสมรวมจำนวน 10,379 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท : 14,999 ล้านบาท)
2.3. มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 6,628 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท : 1,198 ล้านบาท )
2.4.มีส่วนของเจ้าของติดลบจำนวน 4,404 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท : 2,492 ล้านบาท)
2.5. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A มีมติเรียกให้บริษัทชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดช าระโดยพลัน ซึ่งมียอดเงินต้นค้างชำระรวมเป็นเงินจำนวน 2,241 ล้านบาท
3.รายงานการสอบบัญชีแบบไม่แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีบริษัทย่อย ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยราย Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) และ Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic Joint Stock Company (DVN) ได้ออกรายงานการสอบบัญชีแบบไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ตามรายงานลงวันที่ 15 มิ.ย.2566
ทั้งนี้ STARK ได้แจ้งแนวทางจัดการ ได้แก่
(ก) ร่วมหาแนวทางที่เหมาะสมกับผู้สอบบัญชีในการปรับปรุงรายการบัญชีที่สำคัญ
(ข) เร่งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ธนาคารต่างๆ) เพื่อขอข้อมูลมาให้ผู้สอบบัญชีดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม และเร่งดำเนินการเตรียมข้อมูลและจัดชุดเอกสารทางบัญชีในช่วงเวลาที่ต้องทำการตรวจสอบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขต ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit)
(ค) ปรับแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มบริษัท เพื่อให้มีผลกำไรและแก้ไขให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถใน การดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
@พบชื่อ‘วิฑูรย์ สุริยารังสรรค์’นั่งกก.‘บ.เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ’
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่มีการอ้างถึงในรายงานงบการเงินของ STARK นั้น ปรากฏข้อมูลว่า บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2553 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แจ้งประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุดว่า การขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม
ปรากฏรายชื่อกรรมการ 2 ราย ได้แก่ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ และนายกิจจา คล้ายวิมุติ และปรากฏรายชื่อกรรมการลงชื่อผูกพัน ได้แก่ (1) นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท และ (2) นายกิจจา คล้ายวิมุติ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทฯแจ้งงบปี 2565 ว่า บริษัทฯรายได้รวม 464.9 ล้านบาท ,มีรายจ่ายรวม 527.82 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 71.05 ล้านบาท ส่วนฐานะทางการเงินของบริษัทฯนั้น บริษัทฯแจ้งว่า มีสินทรัพย์รวม 808.9 ล้านบาท ,มีหนี้สินรวม 883.93 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 75.01 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.สั่ง STARK ชี้แจงข้อเท็จจริงปมพิพาทล้มดีลซื้อหุ้น LEONI 2.2 หมื่นล. ภายใน 7 วัน
‘ผู้เสียหาย’บุกร้อง‘ก.ล.ต.’เร่งสอบกรณีหุ้น STARK-‘สอบ.’จี้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘ก.ล.ต.’เร่งสอบ-เยียวยากรณีหุ้นกู้ STARK หลังผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ
เจ้าหนี้ STARK เรียกคืน‘เงินต้น-ดบ.’หุ้นกู้ 2 ชุด 2.24 พันล.-ส่อผิดนัดฯอีก 6.95 พันล้าน
'ก.ล.ต.'สั่ง STARK ขยายขอบเขตการตรวจสอบ'เป็นกรณีพิเศษ'-ขีดเส้นชี้แจงข้อเท็จจริงใน 7 วัน
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ‘เสียงข้างมาก’มีมติ‘ยกเว้นเหตุผิดนัด’หนี้หุ้นกู้ 9.1 พันล.
หวั่นซ้ำรอยEARTH! จับตาที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ถกความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ 9.1 พันล.