‘กรมสอบสวนคดีพิเศษ’ รับคดีอดีตผู้บริหาร STARK ฉ้อโกงบริษัท-กระทำความผิดตาม ‘พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ’ เป็น ‘คดีพิเศษ’ แล้ว ขณะที่ ‘หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน’ นัดประชุม 26 มิ.ย.นี้ เปิดข้อกฎหมายให้อำนาจ ‘สำนักงาน ก.ล.ต.’ ยึด-อายัดทรัพย์ของผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องได้
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เผยแพร่เอกสารข่าวโดยะระบุว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งจะเร่งทำการสอบสวนบูรณาการร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้นัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการในวันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.2566 นี้
ก่อนหน้านี้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบจากหนังสือของผู้สอบบัญชีรายบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ว่า
ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงานและได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ และหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทตามนัยมาตรา 89/25 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2565
แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากการสอบสวนในเบื้องต้น DSI พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า มีอดีตผู้บริหาร STARK อย่างน้อย 3 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกรณี STARK ในข้อหาฉ้อโกง และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ล่าสุด DSI ได้ขอข้อมูลไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดย ตม.ระบุว่า บุคคลทั้ง 3 รายไม่ได้มีการเดินทางออกนอกประเทศ แต่ DSI ไม่อาจยืนยันได้ว่าบุคคลดังกล่าวได้หลบหนีออกนอกประเทศผ่าน ‘ช่องทางธรรมชาติ’ หรือไม่
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนความเคลื่อนไหวของหน่วยงานกำกับ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการดำเนินกับอดีตผู้บริหาร STARK ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี STRAK นั้น ล่าสุดยังไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด ขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ แทน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในมาตรา 267 มีการบัญญัติไว้ว่า
“ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน และสำนักงาน มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน ให้สำนักงาน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้น หรือ ทรัพย์สินซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้นได้ แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าว ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ ภายในหนึ่งงร้อยแปดสิบวัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของสำนักงานก็ได้ แต่จะขยายเวลาอีกเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันมิได้
ให้สำนักงานมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับ โดยอนุโลม
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร เมื่อสำนักงานร้องขอให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ และในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนให้คณะกรรมการก.ล.ต. มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการยึดหรืออายัดทรัพย์ของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในกรณี STARK แต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
(ที่มา : พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ)
อ่านประกอบ :
เปิดชื่อกรรมการ‘ไทยเคเบิ้ล’ กรณีพบธุรกรรมผิดปกติ STARK-ล่าสุด‘ชนินทร์-วนรัชต์’ลาออก
เปิดงบ‘เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ’ปี 65 ไม่พบ‘เงินค่าสินค้าล่วงหน้า’หมื่นล.จากบ.ย่อย STARK
เช็กชื่อ กก.'เฟ้ลปส์ ดอด์จ' ช่วงโอน'หมื่นล.'อ้างค่าสินค้าล่วงหน้า กรณีธุรกรรมผิดปกติSTARK
ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งผู้ถือหุ้น! STARK แจงธุรกรรมผิดปกติ‘PDITL-เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง’
เปิดชื่อ‘กก.-ผู้ถือหุ้น’7บริษัท ก่อน‘ผู้สอบบัญชี’พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’ในงบการเงิน STARK
ก.ล.ต.เตือน‘นักลงทุน’ พิจารณาข้อมูล‘งบการเงิน-ผลตรวจสอบ’ STARK ด้วยความระมัดระวัง
พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’! STARK โชว์งบปี 65 ขาดทุน 6.6 พันล.-‘ผู้สอบบัญชี’ไม่แสดงความเห็นฯ
ก.ล.ต.สั่ง STARK ชี้แจงข้อเท็จจริงปมพิพาทล้มดีลซื้อหุ้น LEONI 2.2 หมื่นล. ภายใน 7 วัน
‘ผู้เสียหาย’บุกร้อง‘ก.ล.ต.’เร่งสอบกรณีหุ้น STARK-‘สอบ.’จี้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘ก.ล.ต.’เร่งสอบ-เยียวยากรณีหุ้นกู้ STARK หลังผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ
เจ้าหนี้ STARK เรียกคืน‘เงินต้น-ดบ.’หุ้นกู้ 2 ชุด 2.24 พันล.-ส่อผิดนัดฯอีก 6.95 พันล้าน
'ก.ล.ต.'สั่ง STARK ขยายขอบเขตการตรวจสอบ'เป็นกรณีพิเศษ'-ขีดเส้นชี้แจงข้อเท็จจริงใน 7 วัน
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ‘เสียงข้างมาก’มีมติ‘ยกเว้นเหตุผิดนัด’หนี้หุ้นกู้ 9.1 พันล.
หวั่นซ้ำรอยEARTH! จับตาที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ถกความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ 9.1 พันล.