ก.ล.ต.เดินหน้าตรวจสอบปมซื้อขายหุ้น STARK หลังมีคำสั่งอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิด 10 รายไปแล้ว ขณะที่ ‘ดีเอสไอ’ บุกค้น 5 บริษัท หาหลักฐานเพิ่ม-อายัดทรัพย์
..............................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รวม 10 ราย ได้แก่ (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
(6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (บ.เอเชีย) พร้อมทั้งห้ามมิให้ผู้กระทำผิดออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นั้น (อ่านประกอบ : กรณี STARK เสียหาย 3.8 หมื่นล.! ก.ล.ต.สั่งอายัดทรัพย์'วนรัชต์-ชนินทร์-พวก' ห้ามออกนอกปท.)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการกรณี STARK โดยระบุว่า หลังจาก ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 10 ราย กรณีการตกแต่งบัญชี STARK และกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยมุ่งประโยชน์จากทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งได้ดำเนินการอายัดทรัพย์ของผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องโดยอาศัย มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา นั้น
ในขั้นตอนต่อไปนั้น ก.ล.ต.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป รวมทั้งจะร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตรวจสอบกรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น STRAK ด้วย
“การทำ Big lot ที่เป็นการขายออกมานั้น เขาใช้ข้อมูลอะไรที่คนอื่นไม่รู้หรือเปล่า ถ้าเป็นการแพร่ข่าวที่เป็นเท็จ คือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับหุ้น ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าใครจะทำ ก็มีความผิด ส่วนการสร้างราคา คือ เกิด pattern ของการซื้อขายที่ไม่ปกติ สร้างปริมาณก็ดี สร้างราคาก็ดี หรือทำแบบต่อเนื่อง เพื่อทำให้คนเข้าผิดในสภาพที่ผิดปกติของตลาดฯว่า มันไม่ควรแกว่งแบบนี้ หรือเป็น pattern แบบนี้ อันนั้น เป็นเรื่องปั่นหุ้น ซึ่งต้องตรวจเรื่องพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้อง
แต่ถ้าเป็นการขายออกมา โดยไม่มีการสร้างราคาในลักษณะที่เป็น pattern ก็ต้องไปดูว่าการขายนั้น ใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) ที่คนอื่นไม่รู้หรือเปล่า ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าเขาดูแล้วพบว่ามี pattern หรือพบการกระทำที่มีลักษณะเข่าข่าย ก็จะส่งมาที่ ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบเชิงลึก และไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายธวัชชัย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงกรณีผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ขายหุ้นออกมา โดยใช้ประโยชน์จากงบการเงินที่มีการตกแต่งบัญชี
นายธวัชชัย กล่าวถึงการดำเนินการกับผู้สอบบัญชีที่เกี่ยวข้อง ว่า ขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างตรวจสอบ และในชั้นนี้ยังไม่ได้สรุปว่าใครบ้างที่กระทำความผิด
“หลายท่านถามว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบบัญชี ทำไมยังไม่มี ขอเรียนว่า คนที่ทำบัญชีและคนสอบบัญชีทั้งหมดมีหลายส่วน และอยู่ในบริษัทย่อยด้วย ตรงนี้ ก.ล.ต.ก็ต้องไปดูเหมือนกัน แต่ขั้นตอนยังมีอยู่ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่า ใครผิด ใครถูกในเวลานี้ แต่ไม่ใช่ว่า เราไม่ดู ไม่ทำ เรามีกระบวนการอยู่ และถ้าผู้สอบบัญชีผิด เรามีมาตรการทางบริหารในเรื่องพักและเพิกถอน (ใบอนุญาต) เฉพาะคนที่เป็นผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต.เห็นชอบ
ส่วนผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต.ไม่ได้เห็นชอบนั้น แม้ ก.ล.ต. ไม่มีอำนาจตรงนี้ แต่ ก.ล.ต. มีการทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชีฯด้วย ถ้าผู้สอบบัญชี มีความเกี่ยวพันในลักษณะที่ร่วมกันกระทำในสิ่งที่เราพบ เขาก็มีความผิด แต่หลักฐานในชั้นนี้ ยังไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น และไม่ได้เป็นการสรุปว่า มีแค่นี้ กำลังดูอยู่” นายธวัชชัย กล่าว
นายธวัชชัย ยืนยันว่า ก.ล.ต.จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดกรณี STARK ทุกคน หากพบพยานหลักฐานว่า มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งการดำเนินการในแต่ละเรื่องจะค่อยๆทยอยออกมา
นายธวัชชัย กล่าวถึงกรณีการอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดกรณี STARK ทั้ง 10 ราย ว่า แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ถูกอายัดทรัพย์ แต่การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต.ทำอย่างเป็นขั้นตอน ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายกับนิติบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดของ ก.ล.ต. นั้น เป็นคนละเรื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยบริษัทฯสามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการฯได้ เพราะการที่นิติบุคคลถูก ก.ล.ต.อายัดทรัพย์ไว้นั้น ไม่ได้เป็นข้อห้ามหรือเป็นข้อจำกัดในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการฯ
“คำถามว่าเจ้าหนี้จะทวงหนี้ได้หรือไม่ ในการฟื้นฟูกิจการฯมีขั้นตอนหลายขั้น ถ้าศาลฯรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ จะเกิดสภาพการพักชำระหนี้ชั่วคราว หรือ Automatic Stay เมื่อมีการตั้งผู้ทำแผน แล้วเอาแผนไปเสนอเจ้าหนี้ ถ้าแผนผ่านเจ้าหนี้ ตามขั้นตอนจะเสนอศาลฯเพื่อเห็นชอบ ซึ่งหากเจ้าหนี้ที่ต้องการรับชำระหนี้ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายล้มละลาย ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการฯ จึงไม่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.ที่มุ่งหาผู้ทำผิดมาลงโทษ” นายธวัชชัย ระบุ
นายธวัชชัย ยังกล่าวถึงที่มาของมูลค่าความเสียหายของบริษัท STARK ที่มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท ว่า เป็นตัวเลขที่มาจากมูลหนี้ตามงบการเงินปีล่าสุดของ STARK
(ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. และ พัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ชี้แจงการดำเนินการกรณี STARK เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566)
@ก.ล.ต.ยืนยันไม่ได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดล่าช้า
ด้าน นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการยึดอายัดของผู้กระทำผิดกรณี STARK แล้ว โดยจะเป็นการยึดอายัดทุกประเภทของผู้ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งรวมถึงหุ้นที่ผู้ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษถืออยู่ในบริษัทต่างๆด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ก.ล.ต.ยังไม่ได้รับข้อมูลว่ามีการอายัดทรัพย์กี่รายการและคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เนื่องจากคำสั่งเพิ่งออกมาเมื่อวานตอนเย็น (6 ก.ค.)
“การที่เราใช้อำนาจอายัดทรัพย์ไว้ จะเชื่อมโยงว่าทรัพย์ยังอยู่ ซึ่งผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์ หรือไปทำอะไรเพื่อให้มีทรัพย์มาชดใช้ต่อไปได้ จึงเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการทำหน้าที่ของเรากับผู้ลงทุนที่จะมีโอกาสได้ทรัพย์คืน” นางพัฒนพร กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 10 คน กระทำผิดในกรณี STARK จริง จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้แบ่งสัดส่วนกันว่าใครต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ แต่เป็นความผิดที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ
นางพัฒนพร ยืนยันว่า ก.ล.ต.ไม่ได้ดำเนินการล่าช้าในการออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดกรณี STARK เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะการออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ตามมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ นั้น จะต้องมีการกระทำผิดเกิดขึ้น คือ มีการตกแต่งงบ และต้องมีพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ตกแต่งงบ รวมทั้งต้องมีหลักฐานที่บอกว่าคนๆนั้นเป็นผู้กระทำผิดด้วย จึงต้องหาหลักฐานดังกล่าวให้ได้ก่อน ซึ่งกระบวนการตรงนี้จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
“การเริ่มต้นกระบวนการตรวจของเรา เราต้องสงสัยก่อนว่าคนไหนกระทำผิด เมื่อสงสัยแล้ว ต้องไปหาหลักฐานที่ยืนยันความสงสัยของเรา เมื่อเราสงสัยว่ามีการตกแต่งงบ เราต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนทำอะไรบ้าง แค่สงสัยอย่างเดียวไม่พอ มีหลักฐานหรือไม่ว่า ใครเป็นคนเซ็น ใครเป็นคนสั่ง ถ้าบอกว่า แค่คำพูดว่าสงสัยว่างบจะผิด สงสัยว่าคนนี้จะทำนั้น ไม่พอในการดำเนินการ จึงต้องดูว่ามีลายมือไหม มีการสั่งการไหม และข้อสั่งการด้วยอะไร” นางพัฒนพร กล่าว
นางพัฒนพร ระบุด้วยว่า จากคำสั่ง ก.ล.ต.ที่สั่งอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดทั้ง 10 ราย นั้น ก.ล.ต. พยายามทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจของบริษัทที่ถูกอายัดทรัพย์ พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย ก.ล.ต.ได้กำหนดกระบวนการในการทำให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น ซัพพลายเออร์ ในขณะที่พนักงานจะยังได้รับเงินเดือนปกติ และบริษัทสามารถค้าขายได้ตามปกติ เพียงแต่จะมีกระบวนการบางอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามา
เมื่อถามว่า ผู้กระทำผิดที่หนีไปแล้ว มีกระบวนการติดตามอย่างไร นางพัฒนพร กล่าวว่า ตรงนี้น่าจะเป็นบทบาทของพนักงานสอบสวน ซึ่ง ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษไปยัง DSI แล้ว หาก DSI พบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ก็จะมีการใช้อำนาจกฎหมายระหว่างประเทศในการส่งตัวผู้ต้องหากลับมา อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ไม่ได้แจ้งมายัง DSI ว่า มีใครบ้างที่หนีไปต่างประเทศแล้ว แต่น่าจะเป็นไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (7 ก.ค.) พนักงานของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK มากกว่า 100 คน ได้รวมตัวที่สำนักงาน ก.ล.ต. และเข้ายื่นหนังสือถึง ก.ล.ต. เพื่อขอความชัดเจนกรณี ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์ของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้ในวันนี้ (7 ก.ค.) บริษัทต้องหยุดการเดินสายการผลิต ในขณะที่บรรดาซัพพลายเออร์ต่างๆไม่ส่งวัตถุดิบมาให้บริษัทฯ นอกจากนี้ พนักงานยังมีความวิตกกังวลว่า จะตกงานจากปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัท STARK
(พนักงานของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ รวมตัวที่สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอคำชี้แจงกรณี ก.ล.ต.มีคำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566)
@‘ดีเอสไอ’บุกค้น 5 บริษัทเกี่ยวข้องคดี STARK-อายัดทรัพย์
ส่วนความคืบหน้าในส่วนของ DSI นั้น ในวันนี้ (7 ก.ค.) น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษก DSI แถลงความคืบหน้าคดีบริษัท STARK ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และความผิดอาญาอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกัน ซึ่ง DSI รับเป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 ว่า ตามที่ DSI ได้รับคดีการทุจริตในบริษัท STARK เป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น
DSI ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยการออกหมายเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ได้แก่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด, บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชี และพนักงานภายในบริษัท รวมถึงได้มีการออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้หลบหนีจากการติดตามของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีการออกหมายเรียก นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา
ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญารวมจำนวน 15 จุด เพื่อค้นหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน รวมถึงเพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย โดยเป็นการเข้าตรวจค้นบริษัทจำนวน 5 จุด ได้แก่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
และบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พบการทำธุรกรรมในทางบัญชีและการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเข้าตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่มีชื่อของผู้ต้องสงสัยและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ครอบครองรวมจำนวน 10 จุด
ทั้งนี้ ผลการตรวจค้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พบและยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการสอบสวนทั้งเอกสารการทำธุรกรรมต่างๆ ในบริษัท STARK และบริษัทในเครือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ และเอกสารหลักฐานพยานวัตถุอื่น ๆ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่จะประกอบการสอบสวนและพิสูจน์ถึงพฤติการณ์อันมีลักษณะทุจริต รวมถึงขยายผลไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
รวมทั้งได้พบและยึดเงินสด อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดไว้เพื่อทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและขยายผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
(พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI ลงพื้นที่ตรวจค้น 5 บริษัท เพื่อหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวนในคดี STARK เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566)
อ่านประกอบ :
กรณี STARK เสียหาย 3.8 หมื่นล.! ก.ล.ต.สั่งอายัดทรัพย์'วนรัชต์-ชนินทร์-พวก' ห้ามออกนอกปท.
‘ก.ล.ต.’ กล่าวโทษ ‘วนรัชต์-ชนินทร์-พวก’ รวม 10 ราย ตกแต่งบัญชี STARK-ขยายผลสอบปมทุจริต
STARK แจ้ง‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 พ้น‘กก.ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันฯ’
ผู้เสียหายหุ้นกู้STARK บุกร้องตำรวจ‘ปอศ.’จี้เอาผิดกก.บริษัท‘ชุดเก่า-ปัจจุบัน’-ทวงเงินคืน
DSI จ่อออกหมายจับ 3 ผู้ถูกกล่าวหา คดี STARK ใน 2 สัปดาห์-ขอ‘ก.ล.ต.’ใช้อำนาจอายัดทรัพย์ฯ
หากผิดโทษคุก 10 ปี! ‘ก.ล.ต.’เร่งสอบเคส STARK-ไม่ตอบปม‘อดีต CFO’ขอกันตัวเป็น‘พยาน’
DSI รับคดี‘อดีตผู้บริหาร’ฉ้อโกง STARK เป็น‘คดีพิเศษ’-เปิดกม.ให้อำนาจ‘ก.ล.ต.’อายัดทรัพย์ได้
เปิดชื่อกรรมการ‘ไทยเคเบิ้ล’ กรณีพบธุรกรรมผิดปกติ STARK-ล่าสุด‘ชนินทร์-วนรัชต์’ลาออก
เปิดงบ‘เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ’ปี 65 ไม่พบ‘เงินค่าสินค้าล่วงหน้า’หมื่นล.จากบ.ย่อย STARK
เช็กชื่อ กก.'เฟ้ลปส์ ดอด์จ' ช่วงโอน'หมื่นล.'อ้างค่าสินค้าล่วงหน้า กรณีธุรกรรมผิดปกติSTARK
ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งผู้ถือหุ้น! STARK แจงธุรกรรมผิดปกติ‘PDITL-เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง’
เปิดชื่อ‘กก.-ผู้ถือหุ้น’7บริษัท ก่อน‘ผู้สอบบัญชี’พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’ในงบการเงิน STARK
ก.ล.ต.เตือน‘นักลงทุน’ พิจารณาข้อมูล‘งบการเงิน-ผลตรวจสอบ’ STARK ด้วยความระมัดระวัง
พบ 14 ‘รายการผิดปกติ’! STARK โชว์งบปี 65 ขาดทุน 6.6 พันล.-‘ผู้สอบบัญชี’ไม่แสดงความเห็นฯ