‘สบน.’ เผยหนี้สาธารณะคงค้างไทยล่าสุด เดือน ส.ค.65 อยู่ที่ 10.31 ล้านล้าน คิดเป็น 60.7% ต่อจีพีดี ระบุ 70% เป็นการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุน พร้อมรับมือความเสี่ยงดอกเบี้ย 'ขาขึ้น'
....................................
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยผลการดำเนินงานสำคัญของ สบน. เนื่องในโอกาส สบน. ครบรอบ 20 ปี เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ณ สิ้นเดือน ส.ค.2565 ไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 60.7% ต่อ GDP ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้างเกือบ 70% เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุน
ส่วนหนี้สาธารณะคงค้างส่วนที่เหลือเกือบ 30% ประกอบด้วย หนี้จากการตรากฎหมายพิเศษเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ หนี้รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ
“เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนั้น ถูกนำไปใช้ในการวางรากฐานการพัฒนาและเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคมสาธารณูปการและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ” นางแพตริเซีย ระบุ
นางแพตริเซีย ระบุว่า ในช่วงปี 2563-65 วงเงินกู้เพื่อการลงทุน (ไม่รวมเงินกู้ COVID-19) เฉลี่ยปีละประมาณ 8.81 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ที่มีวงเงินกู้เพื่อการลงทุนประมาณ 6.52 แสนล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 ทั้ง 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท นั้น ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 สบน.ได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายแล้วกว่า 1.38 ล้านล้านบาท
ขณะที่การประเมินผลการเบิกจ่ายเงินโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทรอบที่ 1 ที่มีการเบิกจ่าย 8.05 แสนล้านบาท คิดเป็น 81.95% ของกรอบวงเงินกู้ โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินผลจาก OECD และ JICA พบว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (A) โดยสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 2.65ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุดถึง 5.13 แสนล้านบาท
นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า สบน. จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) สบน. มีแผนกู้เงินเพื่อลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ สาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมกว่า 8.98 แสนล้านบาท รวมทั้งผลักดันการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้มีบทบาทช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
นางแพตริเซีย ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา สบน.ได้ปรับกลยุทธ์การระดมทุน โดยเน้นใช้เครื่องมือระดมทุนที่หลากหลาย (Diversification) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลลดจาก 3.28% ในปีงบ 2562 เป็น 2.34% ในเดือน ส.ค.2565 รวมทั้งศึกษาเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับความผันผวนในตลาดเงิน อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1-3 ปี) เพื่อเพิ่มเครื่องมือการกู้เงินระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่
นางแพตริเซีย ระบุด้วยว่า การบริหารหนี้สาธารณะของ สบน. ในระยะต่อไป ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ 1.สภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง สบน.ต้องประสานงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เพียงพอสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป
และ2.การของบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่ม เพื่อให้พอเพียงและสอดรับกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะงบประมาณสำหรับภาระดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
“การกู้เงินของรัฐบาลหรือการก่อหนี้สาธารณะยังคงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ สบน. ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุน และดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบวินัยทางการคลัง” นางแพตริเซีย ระบุ
อย่างไรก็ดี สบน. ยังให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงเวลา และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล (Credit Rating Agency) อาทิ Moody’s S&P และ Fitch เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีความสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี
อ่านประกอบ :
รัฐเทงบปี 66 จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2 แสนล.-ก่อหนี้ใหม่ 1.15 แสนล้าน บริหารค่า Ft-ตรึงดีเซล
ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 66
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน