‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค. อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากอุปสงค์ภายในประเทศ-นักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง มอง ‘ปัจจัยการเมือง’ ไม่กระทบการใช้จ่ายของภาครัฐ
....................................
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.2565 ว่า เศษฐกิจไทยเดือน ส.ค.2565 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนฯที่บรรเทาลง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไทยปรับลดลง ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทาน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.ย.2565 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะดีต่อ และมองว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป คือ การส่งผ่านการปรับต้นทุนค่าจ้างและราคาสินค้าและบริการ และต้องดูว่าอุปสงค์ในต่างประเทศที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบในประเทศมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงผลกระทบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ว่า แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพหรือภาระของผู้เป็นหนี้ แต่เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องดูแล เพราะถ้าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด จะดับยาก เราจึงป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับเจ้าหนี้ต่างๆในการจัดมาตรการเพื่อลดภาระลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระลูกหนี้
เมื่อถามว่า ธปท. ได้รวมปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองไว้ในประมาณการเศรษฐกิจหรือไม่ น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯผ่านไปแล้ว และนี่ไม่ใช่ครั้งที่เราเจอปัญหาทางการเมือง ส่วนในแง่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น นักลงทุนจะดูว่าเศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อเนื่องหรือไม่ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะสนับสนุนเศรษฐกิจให้เดินต่ออย่างมีเสถียรภาพหรือไม่
“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่เศรษฐกิจในหลายๆช่วงก็เดินหน้าต่อไปได้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.2565 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน นอกจากนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางหมวดปรับลดลง เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยางและพลาสติก
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและโลหะไปจีน ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทานในหมวดปิโตรเลียมจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และในหมวดสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอุปโภคและบริโภคตามการนำเข้าสินค้าคงทน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางรวมทั้งสินค้าทุนปรับลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าในเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากทั้งหมวดอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้นจากการส่งกลับกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์ช่วงเดือนสิงหาคมว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยลง ประกอบกับตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไทย
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณชะลอฟื้นตัว-ค่าครองชีพสูงกระทบบริโภคภาคเอกชน
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ