“…ปรากฏข้อมูลว่า รัฐบาลจะมีการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประจำปีงบประมาณ 2564 อีก 127,430 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 ตามเอกสารงบประมาณ วงเงิน 623,000 ล้านบาท จะทำให้วงเงินกู้เพื่อชดชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 เพิ่มเป็น 750,430 ล้านบาท…”
.......................
แม้ว่า ณ เดือน พ.ค.2564
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้รายงานว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 55.42% ต่อ GDP โดยมียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 8.69 ล้านล้านบาท เทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย (ณ เดือน ม.ค.2563) ซึ่งหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 41.27% โดยมียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 6.98 ล้านล้านบาท
แต่ทว่าระดับ ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ของประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท และประกาศใช้ในช่วงเที่ยงของวันที่ 25 มิ.ย.2564
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ออกมาแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ว่า หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ‘เต็มวงเงิน’ จะทำให้ หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 58.56% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี (อ่านประกอบ : เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?)
(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ)
ที่มา : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
@ 8 เดือนแรกปีงบ 64 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 1.98 แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด มีความเป็นไปได้สูงว่า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ที่ รมว.คลัง เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 58.56% ของ GDP นั้น เป็นตัวเลขที่น่าจะต่ำกว่า ‘ความเป็นจริง’
เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบ 2564 (ต.ค.2563-พ.ค.2564) ปรากฏว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.44 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 198,672 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบทั้งสิ้น 2.11 ล้านบาท
ส่งผลให้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลแล้ว 5.02 แสนล้านบาท
“การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบแสดงรายการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2564
ที่มา : กระทรวงการคลัง
@รื้อแผนบริหารหนี้ฯ-กู้ชดเชยขาดดุลงบอีก 1.27 แสนล.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2 โดยเป็นการปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ การบริหารหนี้เดิม และการชำระหนี้ของรัฐบาล
ปรากฏข้อมูลว่า รัฐบาลจะมีการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประจำปีงบประมาณ 2564 อีก 127,430 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 ตามเอกสารงบประมาณ วงเงิน 623,000 ล้านบาท จะทำให้วงเงินกู้เพื่อชดชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 เพิ่มเป็น 750,430 ล้านบาท
(ที่มา : เอกสารการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2 ,มติ ครม. วันที่ 6 ก.ค.2564)
@ใช้เงินกู้พ.ร.ก.กู้เงินฯ ‘บางส่วน’ ตรึงหนี้สาธารณะ 58.56%
กระทรวงการคลังชี้แจงต่อว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย.2564) อยู่ที่ 57.94% ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564
กระทรวงการคลังยังระบุด้วย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ,การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท เต็มจำนวน และการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (วงเงิน 5 แสนล้านบาท) ‘บางส่วน’
จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 58.56%
แตกต่างจากที่ รมว.คลัง เคยระบุว่า หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ‘เต็มวงเงิน’ จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 อยู่ที่ระดับ 58.56% ต่อ GDP ขณะที่ล่าสุด ครม.อนุมัติใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ก้อนแรกไปแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : เคาะ 4.2 หมื่นล.เยียวยาล็อกดาวน์ 10 จว. ส่วนทั่วประเทศ ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือน)
ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนครึ่ง ก่อนจะสิ้นปีงบ 2564 (30 ก.ย.2564) จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จะชะลอการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อเลื่อนเวลาไม่ให้ ‘หนี้สาธารณะ’ ทะลุกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
(ที่มา : เอกสารการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2 ,มติ ครม. วันที่ 6 ก.ค.2564)
@อาจต้องกู้ชดเชยขาดดุลงบเพิ่ม-เหตุโควิดไม่คลี่คลาย
แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลัง จะพยายามตรึงระดับหนี้สาธารณะเอาไว้ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะทะลุเพดาน 60% ต่อ GDP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะงักงันไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน
“ผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นคน/วัน ภายในต้นเดือน ส.ค. และคาดว่าประเทศไทยจะฉีดวัคซีน 2.5 แสนโดส/วันในช่วงที่เหลือของปีนี้ และฉีดครบ 55 ล้านโดสภายในสิ้นปี ซึ่งจะช่วยลดผู้ป่วยรายใหม่ได้…โดยเราคาดว่าผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงต่ำกว่า 1,000 คน/วัน ภายในเดือน พ.ย.นี้
แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุด วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง และการล็อกดาวน์ในเดือน ก.ค. ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน อาจเกิน 2 หมื่นคน/วัน และการล็อกดาวน์จะยาวนานขึ้น” วิจัยกรุงศรี (Krungsri research) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) ระบุในรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในไทย
ที่มา : วิจัยกรุงศรี (Krungsri research)
ซึ่งนั่นจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบ 2564 มีแนวโน้มลดลงอีก จากในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบ 2564 ที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่า 1.98 แสนล้านบาท และจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 ‘สูงกว่า’ วงเงินกู้ที่ตั้งไว้ 7.5 แสนล้านบาท
ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมากกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว รวมถึงการเผชิญหน้ากับโควิดสายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ระลอกล่าสุด เรียกได้ว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย
อ่านประกอบ :
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/