‘สบน.’ แจงยอดหนี้สาธารณะของไทยล่าสุดเดือน พ.ย.64 อยู่ที่ 9.62 ล้านล้าน คิดเป็น 59.58% ต่อจีดีพี ยันยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
..............................
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน พ.ย.2564 ยอดหนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทยอยู่ที่ 9.62 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 59.58% ต่อ GDP อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) พร้อมทั้งติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและมุมมองความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ทาง Moody’s รายงานว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะแข็งแกร่ง และมีหนี้ระยะยาวช่วยสนับสนุนภาคการคลังให้เข้มแข็ง และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 Fitch Ratings รายงานว่าภาคการคลังของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง โดยความเสี่ยงภาคการคลังสาธารณะจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐบาลได้รับการบริหารจัดการ โดยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะที่เข้มแข็ง
“กระทรวงการคลังขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า รัฐบาลยังมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้” นางแพตริเซีย กล่าว
นางแพตริเซีย ระบุว่า ในช่วงปลายปี 2562 ได้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน (PANDEMIC) ขณะที่การดำเนินมาตรการควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันอย่างฉับพลัน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย
ดังนั้น หลายประเทศจึงดำเนินทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน โดยกู้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงรัฐบาลไทยที่ได้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าการกู้เงินในช่วงวิกฤตดังกล่าวทำให้ระดับหนี้สาธารณะ และสัดส่วนหนี้สาธารณะ/GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อปัญหาคลี่คลายและเงินกู้ดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและธุรกิจเติบโต GDP จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับตัวลดลงเป็นลำดับ ต่ำกว่าในอดีตเมื่อเกิดวิกฤติ ดังเช่นที่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 59.98% ในปี 2543 และอยู่ที่ระดับ 42.36% ในปี 2552
นางแพตริเซีย ย้ำว่า ในช่วงปี 2557–2564 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อวางรากฐานการพัฒนาสร้างรายได้และเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในปี 2557–2564 เป็นช่วงเวลาที่รัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดถึง 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
โดยมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและก่อสร้างปรับปรุงขยาย การประปาส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ มีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานในสาขาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า การที่ สบน.ออกมาชี้แจงประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะดังกล่าวนั้น มีขึ้นหลังสื่อรายหนึ่งเผยแพร่บทความเรื่อง ‘รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ กู้เงินสนั่นเมือง หนี้ท่วมการคลังประเทศสาหัส’
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?