EIC เผย ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คาดสิ้นปี 64 ทะยานแตะ 90-92% พร้อมเผยผลสำรวจพบกว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นหนี้ มีปัญหาการชำระหนี้
...............................
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ โดยระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส ในขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 89.3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่ nominal GDP หดตัวรุนแรงที่ -14.7% (YOY)
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย นับว่าสูงกว่าระดับก่อนโควิดอย่างมีนัยสำคัญ และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
EIC ระบุว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 ที่เติบโตแบบเร่งตัวนั้น มาจากสินเชื่อจากกลุ่มผู้ให้กู้ยืมหลัก นำโดย ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อครัวเรือนจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนสูงที่สุดนั้น ขยายตัวที่ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2019 ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนที่กู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI) มีการเติบโตที่ชะลอลง
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดที่มาของการเร่งตัวของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ พบว่า เกิดจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 5.7% (YOY) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 5.3% (YOY) ตามการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เติบโตสูงถึง 8.4% (YOY) เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 5.9% (YOY) ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนอื่นในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตในอัตราเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่ 6.8% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตมีการชะลอตัวลงในช่วงเวลาเดียวกัน
“การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 นำโดยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจซบเซา สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้” “เงินด่วน” ซึ่งแม้ว่าล่าสุดดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างในไตรมาส 3 แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อ เพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซา” EIC ระบุ
EIC ระบุว่า ในสถานการณ์ที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ จึงมีความเสี่ยงที่บางส่วนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มักมีดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก อันจะก่อให้เกิดปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัวได้ในอนาคต
สำหรับในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีกในปีนี้ ภายใต้สมมติฐานการเติบโต Real GDP ปี 2564 ของ EIC ที่ 0.7% คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 90-92% นั่นหมายความว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นมาก และมีมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก
EIC คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยปัญหาหนี้สูงจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ ซึ่งจากผลสำรวจผู้บริโภคของ EIC พบว่าส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ และมากกว่า 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้ มีปัญหาหนัก
“แม้ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามลำดับ แต่ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยน่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขไปอีกหลายปี เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งบางส่วนยังมีการถูกพักชำระไว้ชั่วคราว ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนต้องกลับมาชำระหนี้ จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความท้าทาย ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการหนี้และการใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครัวเรือนที่มีสภาพคล่องจำกัด” EIC ระบุ
EIC มองว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะเข้าสู่ช่วงของการปรับตัวเพื่อลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (deleverage) ในระยะต่อไป เพื่อซ่อมแซมงบดุลของตนเอง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการเยียวยาด้านรายได้จากผลกระทบของมาตรการปิดเมือง ควบคู่กับการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ในอนาคตผ่านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและการปรับทักษะแรงงาน จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการปรับตัวลดหนี้ของภาคครัวเรือนให้เป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
อ่านประกอบ :
‘กู้ซื้อบ้าน-รูดบัตรฯ’ เร่งตัว ดัน‘หนี้ครัวเรือนไทย’ ไตรมาส 2 ขยับแตะ 14.27 ล้านล้าน
สูงสุดในรอบ 18 ปี! ธปท.เผยหนี้ครัวเรือนไทยทะยาน 14.13 ล้านล้าน แตะ 90.5% ต่อจีดีพี
‘บิ๊กตู่’ เซ็นตั้งบอร์ดแก้หนี้สินปชช.รายย่อย-‘สุพัฒนพงษ์’ ประธาน ดึง 'วิรไท' นั่งกก.
'บิ๊กตู่' ถกแก้หนี้ประชาชนรายย่อย ตั้งเป้าลดภาระดอกเบี้ย 2-3% ต่อปี
ว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน ชั่วโมงทำงานลดลง หนี้ครัวเรือนยังสูงขึ้นกว่า 14 ล้านล้านบาท
กู้แบงก์-รูดบัตร 1.2 แสนล.! ดันหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/63 แตะ 13.76 ล้านล้าน
โควิดซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนพุ่ง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ห่วงฉุดการฟื้นตัวศก.-เร่งสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/