ธปท.เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/2563 เพิ่มเป็น 13.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.6% ต่อจีดีพี พบกู้ 'แบงก์พาณิชย์-บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล' เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท ‘เชาว์’ ชี้พฤติกรรมครัวเรือนสมัยใหม่ เน้นการใช้จ่ายมากกว่า ‘ออม’
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 หนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13.76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.32% เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท และสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 86.6% ต่อจีดีพี เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามประเภทผู้ให้กู้ยืม พบว่าหนี้สินธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 5.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.94 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 2/2563 ที่หนี้สินอยู่ที่ 5.79 ล้านล้านบาท ,หนี้สินสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินอยู่ที่ 3.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 2/2563 ที่อยู่ที่ 3.83 ล้านล้านบาท และหนี้สินบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 2/2563 ที่อยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ 30 ธ.ค.2563 หน่วย : ล้านบาท)
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับที่สูง เป็นเพราะจีดีพีปี 2563 หดตัว อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรมของครัวเรือนสมัยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของสังคมแบบใหม่ ซึ่งเน้นการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าการเก็บออมเงินสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ
“หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูง อาจไม่ได้มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจในทันที เพราะถ้าคนยังมีงานทำ หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เขาก็จะหาวิธีหารายได้เข้ามา เพื่อผ่อนชำระหนี้ และมีเงินสำหรับนำไปใช้จ่ายในวิถีชีวิตแบบของเขา ที่เคยไปเที่ยว ดูหนัง กินข้าว ซื้อของ เขาก็ยังทำแบบนั้น เพียงแต่ว่าการใช้จ่ายและหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตรงนี้จะไปเบียดบังการออม ซึ่งกว่าเขาจะเริ่มเห็นผลกระทบก็เมื่อมีอายุมากแล้ว หรือใกล้เกษียณแล้ว” นายเชาว์กล่าว
นายเชาว์ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 91% ต่อจีดีพี ซึ่งการประเมินดังกล่าวได้รวมปัจจัยผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ไว้บางส่วนแล้ว เนื่องจากศูนย์ฯประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวเพียง 2.6% ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ เพราะมีปัจจัยต่างๆมีความไม่แน่นอนสูง แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้เร็วเพียงใด
นายเชาว์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธปท.และสถาบันการเงินได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว โดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณีไป และเชื่อว่าทางลูกหนี้เอง หากมีงานทำหรือพอขยับขยายได้ก็ไม่ต้องการพักชำระหนี้ เพราะการพักชำระหนี้ไม่ได้หมายความว่าหนี้หยุด แต่ดอกเบี้ยเดินต่อ
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สวนทางสัญญาณอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ 86.6% ต่อจีดีพี และมีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย จะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90% ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นปี 2563 และมีโอกาสเร่งขึ้นต่อในปี 2564 โดยหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 อาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้จีดีพีในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%
นอกจากนี้ ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญเร่งด่วน คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้
อ่านประกอบ :
โควิดซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนพุ่ง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ห่วงฉุดการฟื้นตัวศก.-เร่งสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/