ผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองครั้งที่ 19/2564 ซึ่งเสนอให้ ครม.พิจารณา ระบุว่า อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ รวม 980,828.23 ล้านบาท ขณะที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วงเงินที่เหลือประมาณ 15,000 ล้านบาท ต้องเก็บไว้สำรองจ่าย สำหรับการชดเชยในมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชน เท่ากับว่า พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับ 1 ล้านล้านบาท ถูกจับจอง – อนุมัติกรอบจนเต็มวงเงินทั้งหมดแล้ว
------------------------------------------------------------------------
9 มิ.ย.2564 สภาผู้แทนราษฎร มีระเบียบวาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับบนี้ กำหนดวงเงินไว้ 5 แสนล้านบาท ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 โดยแบ่งวงเงินตามแผนงานหรือโครงการ 3 ส่วน คือ
1.วงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด มีกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับบำบัดรักษาผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายเกี่ยวบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2.วงเงิน 300,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
3.วงเงิน 170,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด มีกระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้สามารถปรับปรุงวงเงินในแต่ละแผนงานได้ แต่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินนอกเหนือแผนงานที่กำหนดได้
(ข่าวประกอบ : เหลือ 5 แสนล.! แพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯใหม่ แก้โควิด-สธ.ได้ 3 หมื่นล.-คลัง 4.7 แสนล.)
@ 1 ปี พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับ 1 ล้านล้านบาทมีกรอบใช้จ่ายเต็มเพดาน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ควบคู่กับ พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับ เพื่อใช้แก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการะบาดของโควิด โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2563
ต่อมา สภาผู้แทนราษฎร นัดอภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับ รวม 5 วัน ตั้งแต่ 27 – 31 พ.ค. 2563
กระทั่งวันที่ 31 พ.ค.2563 หลังจากอภิปรายกันอย่างเข้มข้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 274 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
จนถึงปัจจุบัน ผ่านไป 1 ปี คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ประชุมไปแล้ว 51 ครั้ง แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 32 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 19 ครั้ง
ข้อมูลจากผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองครั้งที่ 19/2564 ซึ่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 ระบุว่า มีการอนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ รวม 980,828.23 ล้านบาท
หากนับรวมกับโครงการที่ได้รับการอนุมัติวันที่ 9 มิ.ย.2564 วงเงิน 3210.56 ล้านบาท จะทำให้ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับ 1 ล้านล้านบาท มีกรอบวงเงินคงเหลือ 15,961.19 ล้านบาท
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า วงเงินที่เหลือประมาณ 15,000 ล้านบาท จำเป็นต้องเก็บไว้สำรองจ่าย สำหรับการชดเชยในมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟให้กับประชาชน
เท่ากับว่า ขณะนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับ 1 ล้านล้านบาท ถูกจับจอง – อนุมัติกรอบจนเต็มวงเงินทั้งหมดแล้ว
(วงเงินคงเหลือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หลังผ่าน ครม. 9 มิ.ย.64)
@ เฉพาะเยียวยาประชาชนเฉียด 7 แสนล้านบาท
สำหรับข้อมูลจนถึง วันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่ระบุว่า มีการอนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ รวม 980,828.23 ล้านบาท มีรายละเอียดแบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ
แผนงานด้านสาธารณสุข อนุมัติแล้ว 46 โครงการ วงเงิน 44,478.69 ล้านบาท คงเหลือ 521.30 ล้านบาท ครอบคลุมฃค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ , การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรค ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ , ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค , เตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
แผนงานด้านช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ อนุมัติแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 690,136.57 ล้านบาท คงเหลือ 11,101.42 ล้านบาท
แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติแล้ว 236 โครงการ วงเงิน 246,212.97 ล้านบาท ครอบคลุมแผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้กู้เงินตาม พ.ร.ก. แล้วรวม 763,841 ล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 169 โครงการ วงเงิน 716,961.94 ล้านบาท คิดเป็น 73.10%
(สรุปวงเงินใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถึงวันที่ 1 มิ.ย.2564)
@ จ้างที่ปรึกษาประเมินผล - รายงานทุก 3 เดือน
อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 มีมติอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ปี 2564 – 2565 วงเงินรวม 37.96 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้เสนอเรื่อง รายงานว่า โครงการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว มีขอบเขตการดำเนินงาน 9 ด้าน ดังนี้
1.จัดทำกรอบแนวคิดในการประเมินผล ครอบคลุมหลักเกณฑ์การประเมินผลเป็นไปตามมาตรฐานสากล 5 ด้าน ได้แก่ ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืนตามความเหมาะสมของการประเมินในระดับต่าง ๆ ได้แก่
- ระดับผลกระทบ (Impact) ของการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- ระดับผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ของการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการ
- ระดับโครงการ ประเมินความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) กิจกรรมหรือกระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ ทั้งนี้ ผลการประเมินจะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินกู้ด้วย
2.จัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการดำเนินแผนงานหรือโครงการ
3.ประเมินผลโครงการ โดยยึดหลักการและกรอบแนวทางที่กำหนด ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
4.จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรคและเสนอแนวทางแก้ไข เป็นราย 3 เดือน
5.จัดทำรายงานประเมินผลโครงการและผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย รายงานประเมินผลโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน ราย 6 เดือน และรายงานการประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
6.จัดทำแบบจำลองที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
7.นำเสนอข้อมูลการติดตามและประเมินผลภาพรวมในรูปแบบการสรุปข้อมูลในหน้าเดียวและเป็นข้อมูลที่ทันสมัย (Dashboard) ภาพเคลื่อนไหว (VDO Animation) และการเล่าเรื่องหรืออธิบายข้อมูลโดยใช้ภาพในการสื่อสาร (Infographics)
8.จัดประชุมและลงพื้นที่ดำเนินโครงการ
9.จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้ตามขอบเขตการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวภาพรวมของ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับ 1 ล้านล้านบาท ที่ถูกอนุมัติ-ดำเนินโครงการเพื่อใช้แก้ปัญหาโควิดตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
อ่านประกอบ :
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
แห่ขอใช้เงินกู้ทะลุ 1.36 ล้านล้านบาท 'สภาพัฒน์'คาดกลั่นกรองเสนอ ครม.8 ก.ค.นี้
สแกนเงินกู้ 1 แสนล้านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจล็อตแรก สศช.ตั้งการ์ดสูงกันการเมืองล้วงลูก
ไฟเขียวกรอบเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ อนุมัติแล้ว 5 โครงการรวม 1.5 หมื่นล้าน
ปรับแผนรีดเงินกู้โควิด 4 แสนล.ส่ง รมต.'ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน'ดูโครงการระดับจังหวัด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/