"...อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 ถึงวันนี้เป็นเวลา 7 เดือนมีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 2 รอบ รวม 244,400 ล้านบาท และข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ย. มีวงเงินที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 120,065.65 ล้านบาท จำนวน 195 โครงการ แต่ผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 11 พ.ย.กลับมีเพียง 9,732.37 ล้านบาท คิดเป็น 8.11% ของวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ..."
----------------------------------------------------------
ตลอดปี 2563 ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เพิ่งกลับมาฟื้นตัวได้หลังคลายล็อคดาวน์ ผ่อนปรนกิจการกิจกรรมหลายประเภทให้กลับมาดำเนินได้ตามปกติ
กระสุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี – เงินกู้ทุกช่องทางถูกรัฐบาลใช้ยิงใส่แผนการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม ที่ส่วนใหญ่ยังเห็นแต่ระยะหวังผลระยะสั้นให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
หนึ่งในวงเงินที่ถูกจับตามองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคือการใช้จ่ากเงินตามกรอบของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะวงเงิน 4 แสนล้านบาทที่ถูกตั้งไว้เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาฯ สศช.เป็นประธาน ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการกลั่นกรองอย่างละเอียด เพื่อให้เงินถูกใช้จ่ายอย่างคุ้ม และถูกกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 ถึงวันนี้เป็นเวลา 7 เดือนมีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 2 รอบ รวม 244,400 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกรอบเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติในรอบที่ 1 จำนวน 92,4200 ล้านบาท และกรอบเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติในรอบที่ 2 จำนวน 152,000 ล้านบาท
ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ย. มีวงเงินที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 120,065.65 ล้านบาท จำนวน 195 โครงการ แต่ผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 11 พ.ย.กลับมีเพียง 9,732.37 ล้านบาท คิดเป็น 8.11% ของวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ
ทั้งนี้เพื่อให้การเบิกจ่ายและพิจารณาโครงการใหม่เป็นไปด้วยความเร็วมากขึ้น ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.จึงได้มีมติรับทราบการปรับปรุงแนวทางพิจารณาโครงการใหม่ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1.กลุ่มแผนงานโครงการที่เสนอผ่านหน่วยงานส่วนกลาง ให้ใช้กระบวนการเดิม คือ หน่วยงานเจ้าของแผนงาน เสนอผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อจัดส่งให้ สศช.พิจารณา และเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนส่งต่อให้ ครม.พิจารณาต่อไป
2.กลุ่มแผนงานโครงการที่เสนอจากหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เน้นเรื่องความต้องการของพื้นที่ (Bottom-up) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่แผนการใช้เงินกู้รอบที่ 2 กลุ่มการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพท้องถิ่น วงเงิน 45,000 ล้านบาทจากกรอบที่ได้รับการอนุมัติ 152,000 ล้านบาท โดยจะใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณา
สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีคณะกรรมการเป็นส่วนราชการในพื้นที่
โดยก่อนหน้านี้ยังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรี รวม 29 คน เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำคณะกรรมการขับเคลื่อนไปด้วยกันระดับจังหวัด (ข่าวประกอบ : 'บิ๊กตู่' ส่ง 29 รัฐมนตรี คุมพื้นที่ 'ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน')
สศช.เสนอด้วยว่า เพื่อให้งบประมาณและการช่วยเหลือลงสู่พื้นที่ในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน จึงได้กำหนดวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการพิจารณาไว้ 45,000 ล้านบาท โดยแบ่งการจัดสรรตามสัดส่วนองค์ประกอบสำคัญ 7 ข้อ คือ 1) จำนวนประชากร 2) ขนาดพื้นที่ 3) จัดสรรเฉลี่ยเท่ากัน 4) จัดสรรตามสัด่วนคนจนในแต่ละจังหวัด 5) จัดสรรผกผันกับรยาได้ต่อครัวเรือน 6) จัดสรรตามผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) และ 7) รายได้จากการท่องเที่ยว
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ให้ ผู้ว่าฯ เป็นประธานในการพิจารณา จากนั้นให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ มอบนโยบาย เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนให้หน่วยงานองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเสนอโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ธ.ค.2563
ต่อมาให้คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด พิจารณากลั่นกรองโครงการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน รวมถึงดูรายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และราคามาตรฐานของทางราชการ โดยให้เพิ่มผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใจภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรองด้วย
เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว ให้ฝ่ายเลขาฯ จัดทำรายงานสรุปเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณ รวมทั้งจัดส่งให้ สศช.รวบรวมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.2564
ขณะที่กระทรวงการคลัง เสนอว่า ควรมีการเตรียมความพร้อมตลอดจนซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ ขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกู้ และระยะเวลดำเนินโครงการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินโครงการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2564
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการการใช้เงินกู้สู้โควิด 4 แสนล้านบาทในรอบที่ 2 ที่มีกรอบวงเงิน 152,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนจีดีพีของไทยให้ขยายตัวเพิม่ขึ้นจากกรณีฐาน (กรณีไม่มีเงินกู้) 0.2% ในปี 2563 และ 0.25% ในปี 2564 โดยมีผลสัมฤทธิ์คาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรม ดังนี้
เกิดการรักษาจ้างงานและจ้างงานใหม่รวม 310,000 ราย และยกระดับทักษะแรงงานอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไปได้กว่า 160,000 ราย
เกษตรกร และผู้ประกอบการในระดับชุมชน ทั้งในภาคการผลิตและบริการทั้ง 76 จังหวัด มีการยกระดับประสิทธิกระบวนการผลิต สามารฟื้นฟูธุรกิจให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปภายหลังวิกฤติโควิด
ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 10 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า และเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท
พื้นที่ทำการเกษตร 96.4 ล้านไร่ จะเก็บกักน้ำได้มากขึ้นด้วยการบริหารจัดการระบบน้ำชุมชน
โดยโครงการที่ว่าจะเกิดขึ้นในรอบที่ 2 นี้ อาทิ โครงการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน , โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก , โครงการคนละครึ่ง , โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ทั้งหมดเป็นแผนการใช้เงินกู้จากกรอบ 4 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2564 ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะทั้งเม็ดเงิน-โครงการที่เดินหน้าอย่างจริงจัง จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาเติบโตมได้หลังวิกฤติโควิด
อ่านประกอบ :
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
แห่ขอใช้เงินกู้ทะลุ 1.36 ล้านล้านบาท 'สภาพัฒน์'คาดกลั่นกรองเสนอ ครม.8 ก.ค.นี้
สแกนเงินกู้ 1 แสนล้านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจล็อตแรก สศช.ตั้งการ์ดสูงกันการเมืองล้วงลูก
ไฟเขียวกรอบเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ อนุมัติแล้ว 5 โครงการรวม 1.5 หมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage