"...รายละเอียดบทความชิ้นนี้ ระบุว่า อดีตนักกฎหมายของบริษัทวิลเมอร์เฮลที่ขณะนี้ทำงานอยู่ที่ทำเนียบขาวนั้นได้ถูกหมายเรียกให้มาให้ปากคำที่ศาลแขวงรัฐฟลอริดา เนื่องจากมีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือโตโยต้าในการปกปิดพฤติกรรมการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมไปถึงการปกปิดกรณีข้อบกพร่องที่พบในรถยนต์บางรุ่นของบริษัทโตโยต้า ..."
.............
ประเด็นตรวจสอบกรณี เว็บไซต์ LAW360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ออกมาเผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ โดย LAW360 มีการกล่าวอ้างผลการสอบสวนพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา สำนักงานกฎหมาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนด้วย
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกาะติดนำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเรื่องในคดีนี้
(อ่านประกอบ: กก.สอบชุด‘อธิคม’สั่งศึกษาคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.-สนง.ศาลฯประสานผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล, กรณีสินบนโตโยต้า ศาล ยธ.ไทย ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนรัฐเท็กซัส, ไฉนโตโยต้าไทยถึงเงียบ? ขมวดท่าที 'ผู้เกี่ยวข้อง' หลังถูกอ้างชื่อปมสินบนคดีภาษีพรีอุส)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ LAW360 อีกครั้งหนึ่ง พบว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ LAW360 เคยนำเสนอบทความหัวข้อว่า “อดีตพนักงานชั่วคราวของวิลเมอร์ เฮล กล่าวว่านักกฎหมายที่ทำเนียบข่าวนั้นมีการโกหกเพื่อโตโยต้า” (Ex-WilmerHale Temp Says White House Atty Lied For Toyota) โดยผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ก็คือ นายแฟรงค์ จี. รันยอน (Frank G. Runyeon) ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ LAW360 ที่เป็นผู้เขียนบทความเรื่องความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกของโตโยต้าอาจมีการให้สินบนกับผู้พิพากษาระดับสูงของประเทศไทยนั่นเอง
รายละเอียดบทความชิ้นนี้ ระบุว่า อดีตนักกฎหมายของบริษัทวิลเมอร์เฮลที่ขณะนี้ทำงานอยู่ที่ทำเนียบขาวนั้นได้ถูกหมายเรียกให้มาให้ปากคำที่ศาลแขวงรัฐฟลอริดา เนื่องจากมีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือโตโยต้าในการปกปิดพฤติกรรมการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมไปถึงการปกปิดกรณีข้อบกพร่องที่พบในรถยนต์บางรุ่นของบริษัทโตโยต้า
อดีตนักกฎหมายของบริษัทวิลเมอร์เฮล ที่ถูกหมายเรียกรายนี้ มีชื่อว่า นายไมเคิล โพซาดา ถูกเรียกตัวมาให้การเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีรายงานว่าอดีตนักกฎหมายคนอื่นที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ทำเนียบขาวนั้นก็ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำต่อหน้าศาลแขวงรัฐฟลอริดาเช่นกัน โดยผู้ที่เป็นฝ่ายโจทก์ในคดีดังกล่าว ก็คือ นายแอนดรูว์ เดลานีย์ อดีตทนายความจากสำนักกฎหมายบิ๊กลอว์ (Big Law) ที่เคยทำงานในฐานะทีมงานที่ถูกว่าจ้างและกำกับดูแลจากบริษัทวิลเมอร์เฮล ให้ดำเนินการสอบสวนภายในบริษัทโตโยต้า
นายเดลานีย์ กล่าวหาว่า นายโพซาดามีส่วนปกปิดข้อมูล และเคยให้การเท็จต่อหน้าผู้พิพากษาในกระบวนการพิจารณาคดีทางลับที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งนายโพซาดา อ้างว่า ตัวเขานั้นไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับข้อกล่าวหาการทุจริตของบริษัทโตโยต้าในประเทศไทยเลย
นายไมเคิล โพซาดา ที่มีการระบุประวัติว่าเป็นอดีตนักกฎหมายของบริษัทวิลเมอร์เฮล และปัจจุบันเป็นทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ขณะที่ นายเดลานีย์ ได้กล่าวยืนยันว่า นายโพซาดานั้นเข้าไปมีส่วนช่วยปกปิดข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น และยังมีพฤติกรรมการเข้าไปกำกับดูแลการตรวจสอบเอกสารด้วย ซึ่งเอกสารที่ว่านั้นทำให้โตโยต้าเกิดความกังวลว่าตัวของบริษัทเองอาจจะได้กระทำผิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกา (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA )
ทั้งนี้ นายโพซาดา เป็นพยานเพียงคนเดียวของทางฝั่งบริษัทโตโยต้า ในการให้ปากคำต่อหน้านายจอร์จ บี เทอร์เนอร์ ผู้พิพากษาศาลแขวงรัฐฟลอริดา ซึ่งนายเทอร์เนอร์ได้ตัดสินใจที่จะปกปิดรายละเอียดส่วนมากของคดีที่นายเดลานีย์เป็นผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ โดยทนายความส่วนตัวของนายเดลานีย์ ได้ออกมาระบุว่า บริษัทโตโยต้าได้โต้แย้งว่าข้อมูลที่ถูกนำมาฟ้องร้องคดีนั้นเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ
“โตโยต้าได้มีการสมรู้ร่วมคิดกับทนายความบริษัทวิลเมอร์เฮล เพื่อที่จะปกปิดกรณีการให้สินบน การหลบเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน และการฉ้อโกง จากทางการสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึงทั้งจากกระทรวงยุติธรรม,กรมสรรพากรสหรัฐฯ,จากสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐฯ และจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเอง” นายคริสโตเฟอร์ เบเรส ทนายความของนายเดลานีย์กล่าวยืนยันกับสำนักข่าว LAW360 พร้อมระบุด้วยว่า “โพซาดาโกหก ผมรู้ชัดเจนหลังกระบวนการถามค้าน (cross-examination) ของผมที่ถามเขา ผมรู้ว่าเขาโกหก”
ส่วนนายโพซาดาไม่ได้มีการตอบคำถามโดยทันทีกับคำถามที่ทางสำนักข่าว LAW360 ได้ถามทิ้งเอาไว้ในวอยซ์เมลเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และทำเนียบขาวเองก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข้อกล่าวหา
ส่วนทางตัวแทนของโตโยต้าก็ไม่ได้ตอบกลับโดยทันทีกับคำถามของทาง LAW360 เช่นกัน
ด้านโฆษกบริษัทวิลเมอร์เฮลกล่าวว่า “บริษัทจะไม่แสดงความเห็นในการพิจารณาคดี หรือลักษณะของพยานหลักฐาน” เนื่องจากบริษัทต้องเคารพต่อคำสั่งปกปิดข้อมูลการพิจารณาคดีของศาล
มีข้อมูลว่า นายแฟรงค์ อี เจมส์ (Frank E. James) นักวางแผนด้านสื่อของบริษัทได้ออกมาระบุว่า “ไมเคิล โพซาดา นั้นเป็นทนายความที่ยอดเยี่ยม และเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ บริษัทจะสนับสนุนไมเคิล โพซาดาและงานของเขาอย่างเต็มที่ในเรื่องต่างๆ โดยนายโพซาดานั้นได้ลาออกจากบริษัทเพื่อไปเข้าร่วมแคมเปญการเลือกตั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยความตั้งใจของตัวเอง”
ขณะที่ทางด้านของโตโยต้านั้นก็ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการสืบสวนภายในของบริษัทอันจะเกี่ยวข้องกับกรณีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎหมาย FCPA แต่อย่างใด และทางการสหรัฐฯเองก็ไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาทางโตโยต้าแต่อย่างใดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นายคริสโตเฟอร์ เบเรส ทนายความของนายเดลานีย์กล่าวยืนยันว่าบริษัทโตโยต้านั้นเคยมีประวัติว่าถูกปรับเป็นเงินถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (37,368,000,000 บาท) ในช่วงปี 2557 เนื่องจากปกปิดข้อบกพร่องจากผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาด้านคันเร่งของรถยนต์ และต่อมาในปี 2561 ทางโตโยต้าต้องมีการเรียกคืนรถยนต์พรีอุสจำนวนกว่า 1 ล้านคัน จากปัญหาอันตรายในการโยงสายไฟที่ผิดพลาด
รายงานข่าวการเรียกคืนรถยนต์พรีอุส (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว ABC)
ส่วนทางด้านของนายเดลานีย์ได้อ้างว่าในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะยื่นเรื่องให้มีการเปิดโปงข้อมูลตัวตนของเขา ในคดีที่เขาเป็นผู้ร้องในทางลับเพื่อเผยการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของโตโยต้า
นายเดลานีย์ยังได้อ้างต่อไปว่ามีความเชื่อมโยงอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของกรณีการเรียกคืนรถยนต์พรีอุส ที่ไปเกี่ยวโยงถึงข้อร้องเรียนของเขาว่าบริษัทโตโยต้าได้ดำเนินการปกปิดข้อมูลทางเอกสารการสอบสวนภายในของบริษัท โดยนายเดลานีย์นั้นได้ไปทราบข้อมูลเหล่านี้มาจากการอ่านข้อมูลทางเอกสารในช่วงเวลาที่เขาเข้าไปมีส่วนในการสอบสวนภายในของบริษัท
ส่วนนายเบเรสกล่าวต่อไปด้วยว่า ข้อกล่าวอ้างที่นายเดลานีย์ได้กล่าวถึงนั้นมีพื้นฐานมาจากกการที่ตัวนายเดลานีย์เองก็มีประสบการณ์ในการทำงานอยู่ที่ประเทศไทยนับสิบปี และนายเดลานีย์เองยังมีความสัมพันธ์กับคนที่ทำงานให้บริษัทโตโยต้าในประเทศไทย ซึ่งทำให้เขารู้ว่าคนไทยนั้นรับรู้ว่าบริษัทโตโยต้านั้นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
“ผมได้ตรวจสอบและแปลเอกสารในขั้นปกติ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องปัญหาด้านความปลอดภัยอย่างร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับรถยนต์โตโยต้าพรีอุสและรถยนต์โตโยต้ารุ่นอื่นๆที่ผลิตในประเทศไทย สำหรับที่จะส่งออกบางส่วนไปยังสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงในรัฐฟลอริดา” นายเดลานีย์ให้การสาบานในหนังสือรับรองที่มีการปิดผนึกในชั้นศาล ซึ่งทางด้านของสำนักข่าว LAW360 สามารถรวบรวมหนังสือดังกล่าวมาได้
“โตโยต้ามีประวัติการปกปิดข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงในรถยนต์ นี่รวมไปถึงปัญหาอันตรายที่เกี่ยวข้องกับไฟไหม้ในรถยนต์ไฮบริดซี-เอชอาร์ อาทิรถรุ่นพรีอุส”
แต่เมื่อนายโพซาดาถูกเรียกมาซักถามในกระบวนการถามค้านในช่วงการให้การเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคำถามว่าเขารู้หรือไม่เกี่ยวกับรายงานจากสื่อที่ระบุการสืบสวนของทางรัฐบาลในประเด็นว่าโตโยต้ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใส นายโพซาดาก็ได้กล่าวซ้ำๆไปว่า “ผมไม่รู้”
ซึ่งข้อมูลส่วนนี้อ้างอิงมาจากคำร้องที่ยื่นโดยทนายความของนายเดลานีย์ในศาลอุทธรณ์เขตที่ 5 ของรัฐฟลอริดา
และข้อความตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการถามค้านระหว่างนายเบเรสและนายโพซาดา
“คุณคิดว่าการปฏิบัติที่ทุจริตนั้นคืออะไร” นายโพซาดาถาม
“ตัวอย่างก็เช่นเรื่องการติดสินบนตุลาการ” นายเบเรสกล่าวตอบกลับ และถามคำถามถัดไปเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการหลบเลี่ยงภาษีและการฉ้อโกง
“ผมไม่รู้” นายโพซาดาตอบกลับมาในแต่ละครั้ง
ส่วนทางด้านของทนายจากทางฝั่งของโตโยต้าที่ชื่อว่านายวินเซนต์ เอ ซีโตร จากสำนักกฎหมายฮอร์วิทซ์ ซีโตร พีเอ (Horwitz Citro PA) ก็ได้ตัดบทว่าฝ่ายพยานนั้นไม่ได้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อบริษัทโตโยต้า
อย่างไรก็ตาม ในใบคำร้องขออุทธรณ์ ทนายความของนายเดลานีย์ได้ระบุว่าคำให้การของนายโพซาดานั้นเป็นการโกหกและเป็นแค่คำบอกเล่า เนื่องจากเขาได้ละเลยต่อข้อกล่าวหาการทุจริตอย่างจงใจ รวมไปถึงการที่นายโพซาดาได้กล่าวอ้างว่ามีประเด็นเรื่องคดีความทางกฎหมายเกิดขึ้นมามากมาย นั่นก็เป็นคำกล่าวอ้างเพื่อสร้างความได้เปรียบเท่านั้น
สำหรับนายโพซาดานั้นเป็นหนึ่งใน 4 อดีตนักกฎหมายของบริษัทวิลเมอร์เฮลที่ทำงานให้กับสำนักงานที่ปรึกษาทำเนียบขาว โดยการที่นายโพซาดาถูกหมายศาลเรียกตัว ซึ่งในการเปิดโปงข้อมูลเอกสารศาลในคดีความของนายเดลานีย์ พบว่ามีการระบุชื่อบริษัทโตโยต้าและนายอะกิโอะ โตโยะดะ ประธานของบริษัทโตโยต้า ในฐานะผู้ที่เป็นจำเลยในคดีด้วยเช่นกัน
และนอกเหนือจาก นายโพซาดาที่ถูกหมายศาลเรียกแล้ว อดีตนักกฎหมายของวิลเมอร์เฮลคนอื่นๆอีก 3 คนที่ทำงานในทำเนียบขาวและถูกหมายเรียกได้แก่นางเมารี ริกแกน และนายแดเนียล คอนลีย์ ซึ่งทั้ง 2 คนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสมทบเช่นเดียวกัน และคนที่ 3 ก็คือนายโจนาธาน ซีดาร์บาม ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทางด้านของโฆษกบริษัทวิลเมอร์เฮลได้ยืนยันว่านอกเหนือจากนายไมเคิล โพซาดาแล้ว ทั้ง 3 คนที่เหลือที่ถูกกล่าวชื่อมานั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลยกับการสืบสวนภายในของโตโยต้า
อนึ่ง สำหรับบุคคลอื่นที่มีการถูกเรียกในหมายศาลอันเกี่ยวข้องกับคดีโตโยต้านั้นก็ประกอบไปด้วยนางดานา เรมัส ที่ปรึกษาทำเนียบขาว ซึ่งสาเหตุที่นางเรมัสถูกหมายศาลเรียกตัวมานั้น ก็เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการมอบหมายงานจากวิลเมอร์เฮล สำหรับกรณีของโตโยต้ามาให้เธอได้ดำเนินการ
นอกจากนี้ยังได้มีการเรียกตัวนายเท็ตสึโอะ โอกาวะ ผู้บริหารสูงบริหารสูงสุดหรือซีอีโอของบริษัทโตโยต้า นอร์ธ อเมริกา และที่ปรึกษาทั่วไปของบริษัทที่ชื่อว่านายคริสโตเฟอร์ เจ หยางมาให้ปากคำตามหมายศาลด้วยเช่นกัน
ซึ่งการยื่นฟ้องคดีในชั้นศาลนั้นไม่ได้มีการระบุรายละเอียดข้อกล่าวหาที่เจาะจงกับที่ปรึกษาทางกฎหมายคนอื่นๆของทำเนียบขาว นอกเหนือจากนายโพซาดา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีรายงานว่าบริษัท 3 แห่ง อันได้แก่บริษัทวิลเมอร์เฮล,โตโยต้า, และบริษัทที่ชื่อว่าไฮร์คอนเซล (Hire Counsel) ซึ่งเป็นบริษัทจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ได้ว่าจ้างนายเดลานีย์ให้เข้ามามีส่วนในโครงการสอบสวนภายใน
บริษัททั้ง 3 แห่งดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการต่อสู้มาเป็นระยะเวลาเกือบปีแล้วเพื่อที่จะปิดปากในสิ่งที่นายเดลานีย์ได้กล่าวอ้าง และพยายามทำให้ข้อกล่าวหาของนายเดลานีย์นั้นกลายเป็นความลับไป
โดยในช่วงเดือน เม.ย. 2563 นายเดลานีย์ได้มีการยื่นฟ้องคดีโดยไม่ระบุชื่อและใช้ชื่อว่าจอห์น โด (ในทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กรณีที่มีความจำเป็นต้องปิดชื่อคู่ความ ถ้าเป็นผู้ชายจะใช้ชื่อว่าปกปิดว่าจอห์น โด ส่วนผู้หญิงจะใช้ชื่อว่าเจน โด) เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อโตโยต้าในศาลรัฐฟลอริดา ซึ่งในคำฟ้องระบุว่ามีการเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นครนิวยอร์ก และกล่าวหาด้วยว่าบริษัทผลิตรถยนต์นั้นได้มีพฤติกรรมปกปิดข้อผิดพลาด เพื่อหลอกลวงนักลงทุนให้เข้ามามีส่วนในการลงทุนเป็นจำนวนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ซึ่งภายในไม่กี่วันหลังจากที่นายเดลานีย์ได้มีการฟ้องคดีที่รัฐฟลอริดา,บริษัทโตโยต้าก็ได้มีการปกปิดข้อมูลการร้องเรียนทั้งหมดไว้เป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าข้อมูลเหล่านั้นมีรายละเอียดเป็นชั้นความลับและเป็นข้อมูลที่ต้องมีเอกสิทธิ์เข้าถึง และต่อมาไม่นานบริษัทไฮร์คอนเซลหรือที่มีตัวย่อว่า HC2 ก็ได้ปลดนายเดลานีย์ออก และมีการฟ้องร้องกันที่ศาลที่นครนิวยอร์กในข้อกล่าวหาว่านายเดลานีย์นั้นมีพฤติกรรมขโมยข้อมูลอันเป็นความลับ และมีพฤติกรรมกรรโชกทรัพย์ “บริษัทกฎหมาย” ที่ไม่ระบุนามแห่งหนึ่ง และ “บริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของสำนักงานกฎหมายนั้น”
และเมื่อรู้ว่ามีคดีฟ้องร้องนายเดลานีย์ได้เปิดเผยตัวตนของทั้ง 2 แห่งที่เป็นปัญหากับเขาว่าคือบริษัทโตโยต้าและบริษัทวิลเมอร์เฮล
ซึ่งผลในคดีดังกล่าวนั้น นายลูวิส เจ. ไลแมน ผู้พิพากษาในคดีก็ได้พิพากษาปัดตกคำร้องเรื่องการกรรโชกทรัพย์ไป โดยระบุว่าเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง และพิพากษาว่าจดหมายที่นายเดลานีย์ได้ยื่นไปถึงประธานบริษัทโตโยต้านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่อันเป็นกิจวัตรประจำอยู่แล้ว
เรียบเรียงจาก:https://www.law360.com/articles/1349517/ex-wilmerhale-temp-says-white-house-atty-lied-for-toyota
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาในเรื่องคดีสินบนของบริษัทโตโยต้ากับประเทศไทย ที่สำนักข่าวอิศราพบข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลระดับสูงในทำเนียบขาว อดีตนักกฎหมายบริษัทตรวจสอบภายใน ที่ให้ความช่วยเหลือปกปิดข้อมูลการกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของศาลยุติธรรมไทยในขณะนี้
*อนึ่งข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราได้สืบค้นเบื้องต้นบนเว็บไซต์ LAW360 นั้นเป็นข้อมูลที่ระบุวันที่ 18 ก.พ. 2564 ดังนั้น ข้อเท็จจริงในปัจจุบันอาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากในบทความนี้เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของเวลา
อ่านประกอบ :
กรณีสินบนโตโยต้า ศาล ยธ.ไทย ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนรัฐเท็กซัส
กลินท์ สารสิน : ให้ถามฝ่ายบริหารโตโยต้าไทยปมสินบนคดีพรีอุสหมื่นล้าน
3 ผู้พิพากษา มอบอำนาจ สนง.ศาล ยธ. แจ้งความ ปอท. เอาผิดคนแพร่ข้อมูลเท็จปมสินบนโตโยต้า
เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.
พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว
ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!
เอ็กซ์คลูซีฟ! เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ 'โตโยต้า’แพ้คดีภาษี’พรีอุส’หมื่นล.ก่อนขอฎีกา
2 พ.ศาลฎีกาปฏิเสธ! เว็บLaw360 อ้างผลสอบเปิดชื่อรับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
เร่งขอข้อมูลสหรัฐฯ! ศาล ยธ.สั่งสอบ สื่อนอกเปิดชื่อผู้พิพากษารับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส
ไม่เป็นความจริง! สนง.กม.อันนานนท์ ปฏิเสธจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ : 2 ผู้พิพากษาไม่เคยมาหาหรือพูดคุยเรื่องคดีภาษีพรีอุส
สนง.กม.อันนานนท์ แจ้งเอาผิดเว็บ LAW360-เจ้าของบทความ ยันไม่มีเอี่ยวเรื่องสินบนโตโยต้า
ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม : ทำไม 'โตโยต้าไทย' ไม่ออกมาชี้แจงคดีสินบนภาษีพรีอุส
ทรงพล อันนานนท์ : ผมไม่ใช่เส้นทางการจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล้าน
'อิศรา' ถามข้ามโลก! เปิดตัว 'แฟรงค์ จี. รันยอน' LAW 360 ผู้ตีแผ่สินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage