“...ชิ้นส่วนรถยนต์พิพาท ย่อมไม่ใช่ชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งโจทก์ผู้นำเข้า อาจได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากร ที่ออกตามความในมาตรา 12, 14 แห่ง พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ แต่อย่างใด…”
...........................................................
เงื่อนปมบริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย. 2563 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอย่างหนาหูในทุกองคาพยพของสังคมไทย
นอกเหนือจากเว็บไซต์ Law360 ที่เชี่ยวชาญด้านการรายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลผลการสอบสวนข้อหาดังกล่าว โดยอ้างอิงข้อมูลการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป จะพบว่า อาจมีความเป็นไปได้ของการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย หรือบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ และเงินดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังผู้พิพากษาในไทย ที่ปรึกษาศาล หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้ผลประโยชน์ในรูปคดีอันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีนำเข้ารถยนต์ ‘พรีอุส’ คิดเป็นมูลค่ากว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยราว 10,958,500,000 บาท
โดยการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป มุ่งเน้นว่า มีพนักงานรายใดของบริษัท จ่ายเงินไปสู่บริษัทกฎหมายไทยจำนวน 8 แห่ง หรือจ่ายเงินให้กับบุคคลจำนวน 12 ราย ที่อาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีภาษีรถยนต์ ‘พรีอุส’ ในช่วงเวลาที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในไทยหรือไม่
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานแล้วว่า ความคืบหน้าข้อพิพาทคดีการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่น พรีอุส มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทดังกล่าว บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ต่อศาลภาษีอากรกลาง ในช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี
แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษากลับให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดีไป อย่างไรก็ดีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฎีกาเพื่อสู้คดีต่อแล้ว โดยศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้ฎีกาได้ เพราะเข้าหลักเกณฑ์หลายประการตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาของ 2 ศาลขัดกัน เป็นต้น
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ ก่อนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะพิพากษาให้ฝ่ายโตโยต้าแพ้คดี มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษด้วย? (อ่านประกอบ : พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว)
การพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หารือเรื่องนี้กันอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
ในการประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คดีหมายเลขดำที่ ภ.90-91/2561 ระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลยที่ 1 และกรมสรรพสามิต จำเลยที่ 2
@โตโยต้ายันทำตามข้อตกลง JTEPA-ได้รับสิทธิยกเว้นอัตราอากร
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2555 โจทก์นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส หลายครั้งต่อเนื่องกัน รวมเป็นใบขนสินค้าหลายฉบับ เฉพาะพิพาทในคดีนี้ 24 ฉบับ โดยอาศัยสิทธิตามประกาศที่ออกตามมาตรา 12, 14 แห่ง พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 อันเป็นกรณีสิทธิยกเว้น และลดอัตราอากรสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นรถยนต์ไฮบริด และสิทธิยกเว้นและลดอัตราอากรสำหรับชิ้นส่วนที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกรมศุลกากรอีกหลายฉบับ ตามความตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่นสำหรับเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA)
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2555-20 ส.ค. 2556 จำเลยที่ 1 (กรมศุลกากร) มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปชำระเงินค่าภาษีตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเพื่อมหาดไทย รวม 24 ฉบับ เป็นเงินค่าภาษี 626,585,370 บาท โดยระบุเหตุผลว่า ผู้นำเข้าสำแดง TOYOTA CKD COMPONENT PARTS โดยแยกสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดตามของนั้น ๆ และใช้สิทธิยกเว้นอากร ลอดอัตราอากร ตามมาตรา 12 และยกเว้นอากร และลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำหนดจากญี่ปุ่นไม่ถูกต้อง เนื่องจากสินค้านำเข้าเป็นส่วนรถยนต์ นำเข้าโดยแยกเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ในลักษณะ CKD (Complete Knock Down) และมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ เห็ฯควรให้จัดเข้าประเภท 8703.23.41 และพิกัด 8703.23.51 ตามปีที่มีการนำเข้า อัตราร้อยละ 80 ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2 (ก) ของบัญชีท้าย พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยคณะกรรมการฯตามประมวลรัษฎากร ต่างวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากการนำเข้าและชำระภาษีสำหรับสินค้าพิพาทของโจทก์ มีพิกัดชัดเจน ไม่อาจนำหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2 (ก) มาใช้ในการตีความขยายความหรือขัดกับเงื่อนไขในการได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรของโจทก์ได้ การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พิพาท ยังไม่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ครบถ้วนสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วตามหลักเกณฑ์การตีความตามข้อ 2 (ก) สินค้าของโจทก์ต้องนำไปผ่านกระบวนการผลิตอีกหลายกระบวนการ นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมศุลกากร ใช้อำนาจประกาศแจ้งพิกัดตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ ตีความพิกัดเช่นว่านั้น
การนำเข้าของโจทก์ทุกครั้งนับแต่การนำเข้าครั้งแรกในปี 2553 ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2555 โจทก์สำแดงรายการและเสียภาษีต่อจำเลยที่ 1 ครบถ้วน ได้รับการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่เคยปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งทักท้วง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า โจทก์สำแดงรายการและเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประเมินย้อนหลังเช่นนี้ย่อมเป็นการไม่เป็นธรรม จึอขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ กรมศุลกากร เพิกถอนการประเมินอากรขาข้าวของจำเลยที่ 1 รวม 24 ฉบับ ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2555 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ ตามประมวลรัษฎากร
“การที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการ นำเข้าสินค้าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาภายใต้ความตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร” บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุ
@กรมศุลฯ-สรรพสามิตโต้ชิ้นส่วน‘ไฮบริด’มิใช่ของที่ได้รับการยกเว้นภาษี
ด้านกรมศุลกากร (จำเลยที่ 1) และกรมสรรพสามิต (จำเลยที่ 2) ให้การทำนองเดียวกันว่า ระหว่างปี 2553-2555 โจทก์นำเข้าสินค้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์โตโยต้า (Toyota CKD Component Parts) ตามใบขนสินค้าขาเข้า 244 ฉบับ โดยใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทในคดีนี้ (24 ฉบับ) เป็นส่วนหนึ่งของใบขนสินค้าขาเข้า 244 ฉบับดังกล่าว โดยเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการนำเข้าโดยการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ละใบสำแดงรายการสินค้าเป็นชิ้นส่วนย่อย ประเภทพิกัดราคาของอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำแดงประเภทพิกัด และอัตราอากรตามแต่ละชนิดสินค้านำเข้าที่จำแนกเข้าในประเภทพิกัดนั้น ๆ และใช้สิทธิชำระอากรในอัตราตามความตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่นสหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA) ในลักษณะเป็นรายชิ้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือใช้สิทธิชำระอากรตามอัตราตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนไม่สำคัญ เช่น กระบะพลาสติก เป็นต้น
ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เหล่านี้แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1.ชิ้นส่วนย่อยที่ต้องนำไปประกอบก่อนจะนำไปติดตั้ง 2.ชิ้นส่วนที่สามารถนำไปติดตั้งได้ทันที ก่อนที่โจทก์จะนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ยื่นขออนุมัตินำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น โดยขอนำเข้ามาในไทยเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์หรือยานยนต์และใช้สิทธิชำระภาษีตามความตกลง JTEPA สำหรับรถยนต์โตโยต้า พรีอุส จำนวน 1 แบบ คือ ZVW30R-AHXEBT และใช้เครื่องยนต์รุ่น 2ER-FXE โดยมีแผนการผลิตระหว่างปี 2553-2554 จำนวน 13,110 คัน
จากการตรวจสอบรายละเอียดชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ที่โจทก์นำเข้า ตามใบขนสินค้าขาเข้า 244 ฉบับ รวมใบขนสินค้าในคดีนี้ด้วย เปรียบเทียบกับบัญชีชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ยื่นไว้กับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า โจทก์ประสงค์นำเข้าสินค้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และยื่นบัญชีแสดงรายการชิ้นส่วนรถยนต์ที่จะใช้ในการประกอบหรือผลิตรถยนต์ทั้งคันต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประกอบด้วยรายการชิ้นส่วนนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และรายการชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ โดยรายการชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นชิ้นส่วนปลีกย่อยและเป็นของใช้สิ้นเปลือง เป็นส่วนที่ไม่มีผลให้รายการชิ้นส่วนนำเข้าทั้งหมดเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรถโตโยต้า รุ่นพรีอุส แต่อย่างใด
เพียงแต่โจทก์อ้างว่า ชิ้นส่วนเหล่านั้นยังไม่ได้มีการประกอบเข้าด้วยกัน จนเห็นเป็นรูปร่างลักษณะที่บ่งบอกได้ว่าเป็นรถรุ่นใดเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาประกอบรวมกันแล้ว สามารถระบุได้ว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวสามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ทั้งคัน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรท้าย พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ ข้อ 2 (ก) ที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ โดยมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรฯ ฉบับที่ 18)
สำหรับชิ้นส่วนไฮบริด ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ประเภทพิกัดของของที่จะได้รับยกเว้นหรือลดอัตราอากร ได้แก่ ประเภทพิกัดใดบ้าง ดังนั้นเมื่อชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์โตโยต้า (Toyota CKD Component Parts) รุ่น พรีอุส ที่โจทก์นำเข้า จัดเป็นของตามประเภทพิกัด 8703.23.41 และ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลานำเข้า) แต่ประเภทพิกัด 8703.23.41 และ 8703.23.51 มิใช่ประเภทพิกัดของของที่ระบุไว้ว่าได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร จึงไม่ได้สิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรศุลกากรแบบแจ้งการประเมินอากร การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
@ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โตโยต้าชนะ
เบื้องต้นคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ชนะคดี โดยพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลรัษฎากร ตามฟ้อง
@ชงที่ประชุมศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกภาษีอากรพิจารณา
ต่อมา จำเลยทั้ง 2 ราย อุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษีอากร ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 2 รายว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ตามประมวลรัษฎากร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปัญหานี้ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ มาตรา 15 วรรคท้าย ประกอบหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 บัญชีท้าย พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ข้อ 2 (ก) และคำอธิบายพิกัดศุลกากร ระบบฮาโมไนซ์ ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร พร้อมคำแปล อธิบายหลักเกณฑ์การตีความระบบฮาร์โมไนซ์เอาไว้ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 (ก) คือ ของที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกัน หรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน หมายความถึงองค์ประกอบซึ่งจะนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้อุปกรณ์ที่ยึดติด หรอืใช้หมุดย้ำ หรือเชื่อมเป็นต้น ทั้งนี้ต้องเกี่ยวข้องกับการประกอบกับของที่นำเข้าเท่านั้น ไม่ต้องคำนึงถึงความซับซ้อนในวิธีการประกอบ อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนเหล่านี้จะต้องไปใช้ได้ทันทีโดยไม่นำไปทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์จนขึ้นสำเร็จ
@ยกระบบฮาร์โมไนซ์อธิบายละเอียด
การตีความว่าชิ้นส่วนรถยนต์พิพาทถูกจำแนกให้ต้องเสียภาษีตามอัตราพิกัดอัตราศุลกากรใด จึงต้องยึดถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ 4 ก.พ. 2515 ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ มาตรา 15
เอกสารที่โจทก์ยื่นต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งให้แก่จำเลยที่ 1 รถยนต์โตโยต้า พรีอุส 1 คัน จะประกอบด้วยชิ้นส่วน 1,396 รายการ เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์ขอนำเข้า 1,366 รายการ และเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 30 รายการ เห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าประกอบด้วย ชิ้นส่วนประกอบของตัวถังรถยนต์สมบูรณ์ เครื่องยนต์สำเร็จรูป เกียร์สำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศรถยนต์ แบตเตอรี่ เข็มขัดนิรภัย เพลา ถุงลมนิรภัย และชิ้นส่วนอื่น ๆ เป็นสัดส่วนกับชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ประกอบด้วย ล้อแม็กซ์ นอต สกรู พรม คู่มือ รีเลย์ ล้ออัลลอยด์ เทปกาว ทินเนอร์ น้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเพียงลำพังชิ้นส่วนโจทก์นำเข้า ย่อมมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์โตโยต้า พรีอุส สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว เพราะหากขาดชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนดังกล่าว ก็มิได้ทำให้ชิ้นส่วนที่โจทก์นำเข้ามาสูญเสียความเป็นรถยนต์โตโยต้า พรีอุส หรืออาจทำให้บุคคลอื่นสำคัญผิดไปได้ว่า เป็นรถยนต์ยี่ห้ออื่น รุ่นอื่น
แม้ภายหลังการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พิพาท โจทก์ยังต้องดำเนินการแก่ชิ้นส่วนรถยนต์พิพาทในการประกอบหรือผลิตเป็นรถยนต์โตโยต้า พรีอุส มีขั้นตอนซับซ้อน และมีค่าใช้จ่าย หรือต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมากดังที่โจทก์อ้าง แต่กระบวนการดังกล่าวคงเป็นเพียงขั้นตอนเพื่อเพิ่มมูลค่าของรถยนต์โตโยต้า พรีอุส ให้มีความสวยงาม มีคุณภาพ และขณะเดียวกันอาจเป็นผลให้รถยนต์โตโยต้า พรีอุส มีราคาจำหน่ายสูงขึ้นไปกว่ารถยนต์รุ่นอื่น หรือยี่ห้ออื่น แปรผันไปตามต้นทุนการประกอบ หรือผลิตรถยนต์เท่านั้น โดยมิได้มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปลักษณะและคุณสมบัติของรถยนต์โตโยต้า พรีอุส ย่อมไม่มีผลทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าจากเดิม ที่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ให้กลับกลายเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไม่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือสำเร็จแต่อย่างใด
@ชี้การประเมินกรมศุลฯ-คำวินิจฉัย กก.อุทธรณ์ ถูกแล้ว
การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ตามประมวลรัษฎากร ที่ว่า ชิ้นส่วนรถยนต์พิพาทที่โจทก์นำเข้านั้น ขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ที่ครบสมบูรณ์ตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 8703.23.41 หรือ 8703.23.51 ตามปีที่มีการนำเข้า จึงเป็นการตีความตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ ข้อ 2 (ก) ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์แล้ว
ชิ้นส่วนรถยนต์พิพาท ย่อมไม่ใช่ชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งโจทก์ผู้นำเข้า อาจได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากร ที่ออกตามความในมาตรา 12, 14 แห่ง พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ แต่อย่างใด
@อุทธรณ์ฟังขึ้น พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-สู้ต่อชั้นฎีกา
อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 2 รายฟังขึ้น อุทธรณ์อื่นของจำเลยทั้ง 2 รายไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความทั้ง 2 ศาลรวม 2 แสนบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 8 หมื่นบาท
ทั้งหมดคือรายละเอียดในสาระสำคัญในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่พิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีนำเข้ารถโตโยต้าพรีอุสดังกล่าว กระทั่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษีอาการ พิพากษาให้ 'โตโยต้า' พ่ายแพ้ไปในยกนี้ อย่างไรก็ดีขั้นตอนต่อไปโตโยต้าได้ยื่นฎีกาสู้ต่อ และศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาแล้ว
ดังนั้นต้องรอลุ้นกันในศาลสูงสุดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรต่อไป?
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ปี 2012 (พ.ศ. 2555) จาก https://cars.usnews.com/
อ่านประกอบ :
ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!
เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.
พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/