"....ข้อมูลในเว็บไซต์ ระบุปรัชญาการทำงานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งมั่นเป็นพลเมือง ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยจะยืดหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดีมีจรรยาบรรณ 9 ข้อ โตโยต้า ระบุเรื่องการเคารพกฏหมาย กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานต่างๆ ไม่รับและไม่ให้ประโยชน์ใดๆ เพื่อการตอบแทนทางธุรกิจโดยไม่ชอบธรรม และไม่ทำการใดๆ ที่เป็นการขัดแย้งกันของผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท และผลประโยชน์ส่วนตัวไว้ด้วย ..."
.....................................................
ไฉนโตโยต้าไทยถึงเงียบ? ขมวดท่าที 'ผู้เกี่ยวข้อง' หลังถูกอ้างชื่อปมสินบนคดีภาษีพรีอุส
คือ รายงานพิเศษที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ เกี่ยวกับท่าทีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลแต่ละฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพาดพิง กรณี เว็บไซต์ LAW360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ออกมาเผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ โดย LAW360 มีการกล่าวอ้างผลการสอบสวนพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา สำนักงานกฎหมาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนด้วย
โดยในรายงานชิ้นนี้ ระบุชัดเจนถึงท่าทีของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อกรณีเรื่องสินบน หลังถูก LAW360 นำข้อมูลลับที่มีการระบุชื่อผู้เกี่ยวข้องชัดเจนออกมาเปิดเผย ว่า ดูเหมือนจะสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้มากที่สุด
ปัจจุบันบริษัท โตโยต้าฯ ยังมิได้ออกมาแถลงข่าว หรือชี้แจงเกี่ยวกับกรณีถูกพาดพิงข้างต้นเป็นทางการแต่อย่างใด
โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานรายหนึ่งรับสาย ระบุว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามกับฝ่าย Social Responsibility (SR) ของบริษัท และมีการโอนสายไปให้
ต่อมาพนักงานรายหนึ่ง ฝ่าย SR บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายหนึ่งรับสาย เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พนักงานรายนี้ ขอปรึกษากับคนอื่นก่อน โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที ก่อนมาตอบว่า ต้องคุยกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท และมีการโอนสายไปให้
ผู้สื่อข่าวถือสายรอฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทประมาณ 3 นาที แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย และสายได้ตัดไป
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ศ.พิเศษ ชัยสิทธ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ 1 ใน 3 ผู้พิพากษา ที่ถูก LAW360 กล่าวอ้างผลการสอบสวนพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนด้วย ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อสาธารณชน ว่า ทำไมโตโยต้าประเทศไทย ไม่เร่งออกมาชี้แจงว่า ประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมไปถึงการจ่ายเงินค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานทนายความ หากเป็นจริงมีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ สูงกว่าปกติหรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเรื่องอะไร หากปรากฏข้อมูลเป็นจริงตามรายงานข่าว ประเด็นนี้อาจมีความผิดกฎหมายอาญา เท่ากับให้สินบน
(อ่านประกอบ : ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม : ทำไม 'โตโยต้าไทย' ไม่ออกมาชี้แจงคดีสินบนภาษีพรีอุส)
ล่าสุด ในช่วงสายวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทฯ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้แจ้งให้ทิ้งเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ติดต่อกลับไว้
พร้อมระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันทางบริษัทฯ มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านประมาณ 70 กว่า% จึงขอให้แจ้งข้อมูลทิ้งไว้ แล้วทางฝ่ายประชาสัมพันธ์จะส่งรายละเอียดทางอีเมล์เพื่อแจ้งให้เลขาฯ ฝ่ายบริหารรับทราบเรื่องอีกครั้ง
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรารายงานไปแล้วว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2505 ทุนปัจจุบัน 7,520,000,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศการขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการส่งออก ตั้งอยู่ที่ 186/1 หมู่ที่ 1 ถนนทางรถไฟเก่า ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ปรากฏชื่อ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ นายโนริอากิ ยามาชิตะ นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย นายสุรศักดิ์ สุทองวัน นายโทะโมะฮิโกะ เดะกุชิ นายกลินท์ สารสิน นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล และนายวิรยศ พฤทธากรวงศ์ เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 135,159,756,719 บาท (ราว 1.3 แสนล้านบาท) มีหนี้สินรวม 79,860,600,501 บาท (ราว 7.9 หมื่นล้านบาท) แจ้งมีรายได้รวม 368,256,288,932 บาท (ราว 3.6 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น รายได้หลัก 363,210,611,276 บาท ต้นทุนการขาย 322,187,509,991 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 30,676,219,979 บาท รายจ่ายรวม 352,863,729,970 บาท (ราว 3.5 แสนล้านบาท) ดอกเบี้ยจ่าย 443,967,154 บาท เสียภาษีเงินได้ 2,462,402,449 บาท กำไรสุทธิ 12,486,189,359 บาท (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
ข้อมูลในเว็บไซต์ ระบุปรัชญาการทำงานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งมั่นเป็นพลเมือง ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยจะยืดหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดี
มีจรรยาบรรณ 9 ข้อ โตโยต้า ระบุเรื่องการเคารพกฏหมาย กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานต่างๆ ไม่รับและไม่ให้ประโยชน์ใดๆ เพื่อการตอบแทนทางธุรกิจโดยไม่ชอบธรรม และไม่ทำการใดๆ ที่เป็นการขัดแย้งกันของผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท และผลประโยชน์ส่วนตัวไว้ด้วย
ขณะที่ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. 2564 โฆษกบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เคยออกมาชี้แจงผ่านอีเมลไปยังสื่อหลายฉบับว่า "บริษัทโตโยต้าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษามาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสูงสุดในแต่ละประเทศที่เราดำเนินงาน เราดำเนินการจัดการกับข้อกล่าวหาการกระทำผิดใด ๆ อย่างจริงจังและมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ได้พยายามติดต่อไปยัง นายกลินท์ สารสิน กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานอาวุโสหอการค้าไทยด้วย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับโตโยต้า
@ กลินท์ สารสิน บอร์ดโตโยต้า ประธานอาวุโส หอการค้าไทย
นายกลินท์ ตอบคำถามเพียงสั้นๆ ว่า "ผมขอไม่ให้คำตอบใดๆ เกี่ยวกับเรื่องโตโยต้า ขอให้ไปสอบถามจากฝ่ายบริหารเอาเอง"
อนึ่งสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นับเป็นองค์กรภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย
โดยเฉพาะในยุคที่มีนายดุสิต นนทะนาคร ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่มีการริเริ่มผลักดัน “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น” ร่วมกับ 29 องค์กร ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สร้างผลงานขับเคลื่อนสังคมเพื่อต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ก็มีตำแหน่งเป็นหนึ่งในกรรมการมูลนิธิองค์การต่อต้านคอร์รัปชันด้วย
กรณีข้อกล่าวหาการจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล้านบาท ที่ปรากฎเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้ จึงอาจนับเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญต่อบทบาทหน้าที่การต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในส่วนของภาคเอกชน อย่าง หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมไปถึงมูลนิธิองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน
อ่านประกอบ :
3 ผู้พิพากษา มอบอำนาจ สนง.ศาล ยธ. แจ้งความ ปอท. เอาผิดคนแพร่ข้อมูลเท็จปมสินบนโตโยต้า
เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.
พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว
ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!
เอ็กซ์คลูซีฟ! เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ 'โตโยต้า’แพ้คดีภาษี’พรีอุส’หมื่นล.ก่อนขอฎีกา
2 พ.ศาลฎีกาปฏิเสธ! เว็บLaw360 อ้างผลสอบเปิดชื่อรับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
เร่งขอข้อมูลสหรัฐฯ! ศาล ยธ.สั่งสอบ สื่อนอกเปิดชื่อผู้พิพากษารับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส
ไม่เป็นความจริง! สนง.กม.อันนานนท์ ปฏิเสธจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ : 2 ผู้พิพากษาไม่เคยมาหาหรือพูดคุยเรื่องคดีภาษีพรีอุส
สนง.กม.อันนานนท์ แจ้งเอาผิดเว็บ LAW360-เจ้าของบทความ ยันไม่มีเอี่ยวเรื่องสินบนโตโยต้า
ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม : ทำไม 'โตโยต้าไทย' ไม่ออกมาชี้แจงคดีสินบนภาษีพรีอุส
ทรงพล อันนานนท์ : ผมไม่ใช่เส้นทางการจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage