"...ภายหลังจากที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นเรื่องฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ต่อศาลภาษีอากรกลาง ในช่วงเดือนมิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดีแต่หลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษากลับให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี ...หลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษากลับคดีนี้แล้ว ได้มีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมายต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา(แผนกคดีภาษีอากร)ก่อน..."
...................................
ประเด็นสอบสวนข้อครหาการทุจริตกรณีบริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลผลการสอบสวนข้อครหาการทุจริตกรณีนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลการสอบสวนภายในของ บริษัท โตโยตา คอร์ป ที่มีการมอบหมายบริษัทที่ปรึกษาที่ชื่อว่าวิลเมอร์เฮล (WilmerHale) เป็นผู้รับผิดชอบโดยมีรหัสการทำงาน คือ โปรเจกแจ็ค (Project Jack) จุดมุ่งหมายเพื่อพยายามตรวจสอบว่าบริษัทฯ ได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหรัฐฯ หรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนของประเทศอังกฤษหรือไม่
ระบุข้อมูลถึงพฤติกรรมการทุจริตว่า อาจมีความเป็นไปได้ของการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ และเงินดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปยังผู้พิพากษาไทย,ที่ปรึกษาศาลหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้ผลประโยชน์ในรูปคดีอันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10,958,500,000 บาท)
“เอกสารเหล่านี้ระบุถึงการตั้งข้อสังเกตสำหรับการตรวจสอบและความเป็นไปได้ที่ผู้ซึ่งดำเนินการในนามบริษัทโตโยต้าได้พยายามที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนใดก็ตาม ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อที่จะทำให้มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ของคดีรถพรีอุส” แนวทางการสอบสวนในเอกสารระบุ
ขณะที่ในการสอบสวนภายในของบริษัทโตโยต้าได้มุ่งเน้นไปว่ามีพนักงานคนใดของบริษัทโตโยต้าได้มีการจ่ายเงินไปสู่บริษัทกฎหมายไทยจำนวน 8 แห่ง หรือจ่ายเงินให้กับบุคคลจำนวน 12 คน ที่อาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีภาษีรถพรีอุส ในช่วงเวลาที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลไทยหรือไม่
(อ่านประกอบ : เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานศาลยุติธรรมถึงความคืบหน้าคดีข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่น พรีอุส (Prius) วงเงินนับหมื่นล้านบาทดังกล่าว ว่า ภายหลังจากที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นเรื่องฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ต่อศาลภาษีอากรกลาง ในช่วงเดือนมิ.ย.2560 ที่ผ่านมา
ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี
แต่หลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษากลับให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี
โดยในการพิจารณาคดีนี้มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ก่อนที่จะมีคำพิพากษากลับให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดีดังกล่าวด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษากลับคดีนี้แล้ว ฝ่ายโตโยต้าได้ยื่นฎีกา แต่ตามขั้นตอนของกฎหมาย ต้องให้ศาลฎีกา(แผนกคดีภาษีอากร)อนุญาตให้ฎีกาก่อนซึ่งในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้ฎีกาเพราะเข้าหลักเกณฑ์หลายประการตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาของ 2 ศาล ขัดกัน
เบื้องต้น ศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งที่ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณาให้คู่ความทั้งสองฝ่ายฟังในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อยู่ระหว่างให้คู่กรณียื่นแก้ฎีกา
สำหรับความเป็นมาของคดีนี้ ในฐานข้อมูลข่าวของสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องจากภายหลังที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ยกคำร้องอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หลังถูกสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ออกแบบแจ้งประเมินภาษี จำนวน 244 ฉบับ รวมวงเงินทั้งสิ้น 11,639,786,094.84 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) แต่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไม่เห็นด้วยและยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา
สำหรับวงเงินภาษี 11,639,786,094.84 บาท แยกเป็น อากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาท
โดยก่อนหน้านี้ สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ตรวจสอบพบว่า บริษัทโตโยต้าฯ ใช้สิทธิการสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KHOCK DOWN) และมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วสามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่ารหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลูกบาศก์เซนติเมตร ของรถยนต์ โตโยต้า รุ่น Prius จึงเห็นควรให้สินค้าตามใบขนสินค้าทั้ง 244 ฉบับ จัดเข้าประเภทพิกัด 8703.23.51 อัตราอากร 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2(ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่เข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดเก็บภาษีอากรที่ขาดไป เป็นจำนวนเงิน 11,639,786,094.84 บาท
@ รถยนต์ โตโยต้า รุ่น Prius
ขณะที่ฝ่ายบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ออกข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้มาตลอด โดยยืนยันว่า
1. บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนในขณะนำเข้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ
2. สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจดูเอกสารและมีความเห็นว่า บริษัทฯ ชำระอากรไว้ไม่ครบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและรายละเอียดต่าง ๆ ให้กรมศุลกากรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2556
3. ในกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดียนั้นเป็นกรณีที่บริษัทฯได้นำเข้าชิ้นส่วนชุดส่งกำลัง (Transmission) รถเพื่อการพาณิชย์ โดยตรงจากประเทศอินเดียและได้เสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงฯ แต่ปัญหาเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ในข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ เป็นปกติ แต่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ ได้ จึงให้บริษัทฯ ชำระภาษีและค่าปรับเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2555 กรมศุลกากร ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับความตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศอื่นๆ อาทิ ความตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระยะเวลากว่า 51 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส (Transparency) ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้ารวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกด้วยดีตลอดมา
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับคดีภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับผลการตรวจสอบภายในของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ตามที่นำเสนอไปในช่วงแรกไม่
คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/