เว็บ LAW360 สหรัฐฯ เปิดข้อมูลล่าสุดกรณีโตโยต้า สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล้าน อ้างผลสอบระบุชื่อผู้เกี่ยวข้องในไทยชัดเจน มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา -สำนักงาน กม.- อดีตพนง.บริษัท 3 คน อิศรา ต่อสายตรง อดีตประธานศาลฎีกา -ผู้พิพากษาอาวุโส ที่ถูกอ้างชื่อ ต่างปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีเว็บ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ และมีการพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาฎีกา ในกระบวนการยุติธรรมของไทย
ขณะที่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์กรณีนี้ ยืนยันว่า หากได้รับข้อมูลแน่ชัดว่ามีผู้พิพากษารายใดกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ จะตรวจสอบลงโทษอย่างเด็ดขาด ฐานทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ทำลายความเป็นกลางของศาล
(อ่านประกอบ : ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!, เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ LAW360 ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดกรณีนี้ เป็นรายชื่อและพฤติการณ์ผู้เกี่ยวข้องในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีรายชื่อผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา สำนักข่าวกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้าอีก 3 ราย เกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบนด้วย
เว็บไซต์ LAW360 รายงานความคืบหน้าคดีนี้ว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เร่งดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจิตในต่างประเทศ เพื่อที่จะสอบสวนกรณีบริษัทโตโยต้า ควบคู่ไปกับการที่อัยการกลางของสหรัฐฯได้เริ่มกระบวนการจัดตั้งคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัส เพื่อที่จะสืบหาหลักฐานว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายดังกล่าวนั้นได้มีการจ่ายสินบนให้กับคณะผู้พิพากษาของประเทศไทยด้วยจุดประสงค์เพื่อที่จะพลิกคำพิพากษาคดีการจ่ายภาษีนำเข้าคิดเป็นมูลค่าเงินจำนวนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10,958,500,000 บาท) ใช่หรือไม่
โดยข้อมูลจากเอกสารของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระบุว่า การสอบสวนที่กำลังดำเนินการภายใต้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯและสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทโตโยต้าได้ยื่นข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เมื่อช่วงต้นปี 2564 รายละเอียดของเอกสารพบว่ามีการสืบสวนภายในบริษัทโตโยต้าที่กระทำโดยบริษัทวิลเมอร์เฮล (WilmerHale) และมีการนำเสนอข้อมูลโดยบริษัทสำนักกฎหมายดีเบวส์และพลิมตัน (Debevoise & Plimpton LLP) ให้กับทางการสหรัฐฯเมื่อช่วงเดือน เม.ย.2563
เมื่อลงลึกในรายละเอียดข้อมูลเอกสาร พบว่าทางบริษัทโตโยต้านั้นสงสัยว่าทนายความระดับอาวุโสของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย หรือที่มีตัวย่อว่า TMT อาจจะมีส่วนกระทำการมอบสินบนผ่านบริษัทสำนักกฎหมายของประเทศไทยแห่งหนึ่ง (ในเว็บไซต์LAW360 ระบุชื่อชัดเจน) เพื่อให้สำนักกฎหมายแห่งนี้นำเงินสินบนไปมอบต่อผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อให้ส่งผลกระทบไปถึงการตัดสินใจที่อันเกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์ที่ยังรอการดำเนินการในคดีอันเกี่ยวกับภาษี
โดยมีรายงานว่ากระบวนการสอบสวนภายในบริษัทโตโยต้านั้นพบว่าทางโตโยต้า ประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับบริษัท สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ในการสร้างช่องทางไปถึงทางผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผ่านทางผู้พิพากษาและที่ปรึกษา
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบข้อมูลตามเอกสารด้วยว่าบริษัทโตโยต้าประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินจำนวนเกือบ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (562,734,000 บาท) ในสัญญามูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (844,101,000 บาท) และมีการตกลงกันอีกว่าจะมีการจ่ายเงินอีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (281,367,000 บาท) ถ้าหากบริษัทชนะการอุทธรณ์อันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส
เว็บไซต์ LAW360 รายงานด้วยว่า ในกระบวนการสอบสวนของทางรัฐบาลกลาง ได้มีการพิจารณาด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่บริษัทโตโยต้าประเทศไทยได้มีการจ่ายสินบนไม่ว่าจะโดยตรงหรือว่าทางอ้อมผ่านทางสำนักงานกฎหมายดังกล่าว เพื่อจ่ายไปยังผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกาและผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา (ในเว็บไซต์LAW360 ระบุชื่อชัดเจน) ด้วยจุดประสงค์เพื่อที่จะโน้มน้าวอดีตประธานศาลฎีกาอีกคนหนึ่งเพื่อที่จะรับฟังข้อโต้แย้งของบริษัทโตโยต้า และเพื่อให้ศาลได้มีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณกับบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณปี 2562
ซึ่งทางด้านของเว็บไซต์ Law360 เองก็ได้มีการส่งคำถามอันเกี่ยวกับกรณีของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทยไปยังสำนักงานกฎหมายแห่งนี้เช่นกัน แต่สำนักกฎหมายได้ส่งคำตอบกลับมาว่าให้กลับไปถามทางโตโยต้าในเรื่องนี้
ขณะที่ เว็บไซต์ Law360 ที่ส่งไปยังอีเมลไปสอบถามข้อมูลในส่วนผู้พิพากษาทั้ง 2 รายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานศาลได้มีการตอบกลับมาว่าผู้พิพากษาทั้ง 2 คนนั้นได้รับข้อความแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้
เว็บไซต์ Law360 รายงานอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมพบว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการทั้งหมดในฝ่ายของบริษัทโตโยต้าประเทศไทยก็คือนาย ว. นาย ส. และนายพ. (ในเว็บไซต์LAW360 ระบุชื่อชัดเจน) โดยทั้ง 3 ราย ได้ออกจากบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการสอบสวนการทุจริตภายในของบริษัทโตโยต้าไปแล้ว
และบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ตอบคำถามทางอีเมลทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในการโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล นาย ว. ได้รับสายโทรศัพท์ติดต่อ โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่าเขาไม่เข้าใจและวางสายโทรศัพท์ไป ส่วนนาย พ. สายโทรศัพท์และกล่าวว่าเขายังทำงานอยู่และวางสายโทรศัพท์ไป และทั้ง 2 คนไม่สามารถติดต่อได้อีกเลยในภายหลัง ขณะที่นาย ส.นั้นไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา 2 รายที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้รับสินบน รายแรก เป็นอดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้เรื่องดังกล่าว และแทบไม่ค่อยได้พบกับอดีตประธานศาลฎีกา ที่ถูกระบุว่าให้มาโน้มน้าวเพื่อที่จะรับฟังข้อโต้แย้งของบริษัทโตโยต้าตามข้อมูลดังกล่าว ขณะเดียวกันมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ได้ติดต่อผ่านลูกชาย เพื่อจะขอสัมภาษณ์ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร
ส่วนรายที่สอง เคยเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษี ได้กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่ถูกอ้างว่ารับสินบน แต่ตนเป็นหนึ่งในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และเป็นผู้ที่อภิปรายและสนับสนุนว่าการนำเข้าชิ้นส่วนของรถพรีอุสไม่ถูกต้องตามข้อตกลงระหว่างประเทศของไทยกับญี่ปุ่น จนกระทั่งคดีพลิก ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้โตโยต้าเป็นฝ่ายแพ้คดีต่อสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย
เรียบเรียงจาก:https://www.law360.com/legalindustry/articles/1388032/doj-takes-toyota-thai-bribery-probe-to-texas-grand-jury
ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!
เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.
พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว
เอ็กซ์คลูซีฟ! เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ 'โตโยต้า’แพ้คดีภาษี’พรีอุส’หมื่นล.ก่อนขอฎีกา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/