“...คาดว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้จะเผยแพร่ประมาณวันที่ 15-16 มี.ค. 2564 โดยในคำวินิจฉัยกลางจะบอกรายละเอียดว่า การทำประชามติทำได้ช่วงเวลาไหน อย่างไร เนื่องจากในการประชุมปรึกษากันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. 2564 มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นในคำวินิจฉัยกลางน่าจะบอกกระบวนการว่าประชามติต้องทำช่วงไหน อย่างไร…”
..........................................
ยังคงเป็นประเด็นค้างคาใจใครหลายคน ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่!
แม้ว่าเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ‘ชี้ขาด’ แล้วว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องมีการเปิดให้ทำประชามติก่อนว่าประชาชนต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นหากมีการแก้ไข เมื่อแล้วเสร็จต้องมีการทำประชามติอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า ประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ (อ่านประกอบ : ต้องทำประชามติ 2 รอบ! ศาล รธน.มติ 8:1 เคาะรัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ)
อย่างไรก็ดีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับย่อ’ จำนวน ‘2 ย่อหน้า’ ดังกล่าว ยังไม่เคลียร์ และสร้างความสับสนให้กับบรรดาฝ่ายการเมือง รวมถึงวุฒิสภา และบุคคลในรัฐบาลอีกหลายราย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ปัจจุบันรัฐสภานัดประชุม 17-18 มี.ค. 2564 เพื่อพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในวาระที่ 3 ว่า สามารถโหวตผ่านได้หรือไม่?
แม้แต่ ‘เนติบริกรครุฑ’ อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่า “คำสรุปเผยแพร่ออกมาไม่กี่บรรทัด อ่านดูแล้วยังไม่เข้าใจ”
แต่นายวิษณุแสดงความเห็นว่า หากรัฐสภายังเดินหน้าผ่านวาระ 3 ต่อไป อาจมีปัญหาได้ จึงแนะนำให้สมาชิกรัฐสภา ‘งดออกเสียง’ เพื่อ ‘ทำแท้ง’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย
ซีกของ ส.ว. มีรายงานว่า ในวันที่ 15 มี.ค. 2564 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นัดประชุมคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เพื่อหาทางออกเรื่องนี้กันอีกครั้งหนึ่งด้วย (อ่านประกอบ : ผ่านวาระ 3 มีปัญหา! ‘วิษณุ’แนะสภางดออกเสียงทำแท้งแก้ รธน.-15 มี.ค.วิป ส.ว.ถกหาทางออก)
อย่างไรก็ดีฝ่ายการเมืองบางพรรค เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่ ส.ว.บางราย เริ่มโหมโรงปี่กลองกันตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ว่า การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไม่อาจทำได้แล้ว เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าอยากให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นควรต้องคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นี้ลงไปก่อน แล้วนับ 1 กันใหม่
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นคาดว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้จะเผยแพร่ประมาณวันที่ 15-16 มี.ค. 2564 โดยในคำวินิจฉัยกลางจะบอกรายละเอียดว่า การทำประชามติทำได้ช่วงเวลาไหน อย่างไร เนื่องจากในการประชุมปรึกษากันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. 2564 มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นในคำวินิจฉัยกลางน่าจะบอกกระบวนการว่าประชามติต้องทำช่วงไหน อย่างไร
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า คำวินิจฉัยฉบับย่อที่ออกมา ศาลรัฐธรรมนูญเลือกแนวทางค่อนไปทางความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ส.ว. และอดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ 2 ใน 4 นักวิชาการ (อีกรายคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ที่เสนอว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นค่อยทำประชามติอีกรอบว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขหรือไม่
ข้อมูลในส่วนนี้สอดคล้องกับที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้ว โดยสาระสำคัญคือในการทำประชามติให้มีคำถาม 2 ข้อ คือ
1.ถามว่าประชาชนเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
2.ถามว่าประชาชนเห็นชอบกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
ในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับคำถามแรก ก็คือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตกไป แต่ถ้าประชาชนให้ความเห็นชอบในคำถามแรก ก็จะต้องพิจารณาคำถามที่สองต่อไป
ส่วนประเด็นว่าการทำประชามติในช่วงเวลาเดียวกับรัฐสภานัดพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทำได้หรือไม่นั้น นายสมคิด อธิบายแล้วว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) คือหลังการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ก่อนการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะไม่ว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือหลังจากที่รัฐสภาได้ลงมติแล้วก็ตาม ก็ย่อมถือว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง
ดังนั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ซึ่งจะต้องมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วยตาม (8) ย่อมถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและการคลังของประเทศแล้ว (อ่านประกอบ : เปิดความเห็น ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ต่อศาล รธน.อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ)
นี่คือประเด็นทางข้อกฎหมายที่หลายฝ่ายพยายามอธิบายจากคำวินิจฉัยฉบับย่อ ‘2 ย่อหน้า’ ของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ท้ายที่สุดคงต้องรอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มกันอีกครั้งว่า มีรายละเอียด และแนวทางชัดเจนอย่างไรต่อไป
อ่านประกอบ :
ผ่านวาระ 3 มีปัญหา! ‘วิษณุ’แนะสภางดออกเสียงทำแท้งแก้ รธน.-15 มี.ค.วิป ส.ว.ถกหาทางออก
เปิดความเห็น ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ต่อศาล รธน.อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ
ต้องทำประชามติ 2 รอบ! ศาล รธน.มติ 8:1 เคาะรัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
'บวรศักดิ์-สมคิด'ยันสภาแก้ รธน.ได้-ประชามติทีหลัง! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด 11 มี.ค.
มติรัฐสภาข้างมาก 366:316 ส่งศาล รธน.ชี้ขาด ส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage