เผยเบื้องหลัง! คำชี้แจง 'มีชัย-อุดม' เห็นว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ ด้าน 'บวรศักดิ์-สมคิด' แย้งสภาแก้ได้เลยค่อยไปทำประชามติทีหลัง ก่อน ศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัย 11 มี.ค. 64 ชี้ขาดรัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เหตุเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่ต้องไต่สวน พิจารณาคำร้อง-บันทึกถ้อยคำ 4 ‘อดีตมือร่าง รธน.’ แล้ว หลัง ‘ไพบูลย์-สมชาย’ หัวหอกยื่นคำร้อง ใช้ช่อง ม.210 ครั้งแรก
................................................
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องเรื่องที่ 4/2564 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 256 (1) โดยห้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 มี.ค. 2564 นั้น (อ่านประกอบ : ศาล รธน.รับวินิจฉัยอำนาจสภาแก้รัฐธรรมนูญ-ให้‘มีชัย-บวรศักดิ์-สมคิด-อุดม’แจง 3 มี.ค.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษากันเพื่อพิจารณาเรื่องที่ 4/2564 โดยศาลพิจารณาคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ประชุมของรัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและประธานรัฐสภาส่งเรื่องต่อศาล มิใช่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาล จึงสั่งรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณา
ต่อจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 09.30 น.
รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ 4 อดีตมือร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายมีชัย นายบวรศักดิ์ นายสมคิด และนายอุดม ทำหนังสือชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ส่งภายใน 3 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
โดยนายมีชัย และนายอุดม มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะแก้ไขต้องทำประชามติก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และจะแก้ไขมาตรา 256 ได้ ต่อเมื่อมาทำประชามติอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) หลังจาก ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งด้วย หรือต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง
ขณะที่นายบวรศักดิ์ และนายสมคิด เห็นแย้งว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อน แล้วค่อยไปทำประชามติทีหลังได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) หรือมีการทำประชามติแค่ 1 ครั้ง
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ดังนั้นความเห็นของ 4 อดีตมือร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเท่ากันอยู่ที่ 2:2 ต้องรอดูในวันที่ 11 มี.ค. 2564 ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา และมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (8) บัญญัติว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป
ส่วนมาตรา 256 (7) คือ เมื่อมีการลงมติเห็นชอบวาระ 3 ในรัฐสภาแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบญัตติดังกล่าว ส่งศาลรัฐธรรมนูญ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 696 ราย โดยเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดมาจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ส่วนเสียงข้างน้อยมาจาก พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภามีมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
อ่านประกอบ :
มติรัฐสภาข้างมาก 366:316 ส่งศาล รธน.ชี้ขาด ส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage