9 ก.พ. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาญัตติ 73 ส.ส.พปชร.-ส.ว. สกัดแก้ รธน. ม.256 หวังส่งศาล รธน.ชี้ขาดสภาฯมีอำนาจหรือไม่ ยกคำวินิจฉัยปี 55 ยันแก้มาตราเดียวเพื่อยกร่างใหม่ทำไม่ได้ – ลุ้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ด้วย
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) ครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาคือ ญัตติด่วน เรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ
โดยญัตติดังกล่าวมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.รวม 73 รายเป็นผู้ยื่นญัตติถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการจัดตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้อำนาจแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเท่านั้น โดยอ้างอิงตามมาตรา 210 (2) เป็นบทบัญญัติใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
ทั้งนี้หากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว จะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาตรา 210 (2) ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา
“การที่รัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว” ตอนท้ายของญัตติดังกล่าว ระบุ
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564 ไทยโพสต์ออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. และหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม ของรัฐสภา และเป็นหนึ่งใน ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าว ว่า การส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติอย่างไร เพราะขณะนี้มี ส.ว. บางส่วนเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ เนื่องจากหลักการที่ขอแก้มาตรา 256 ที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นการทำเพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันมีความหมายว่าให้แก้ทั้งฉบับ แต่มาตรา 256 น่าจะมีเจตนาเพียงให้แก้เป็นรายมาตรา
นพ.เจตน์ ยังยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียว เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่อาจทำได้ เพราะประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ประชาชนย่อมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/92262)
(อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?, เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอด้วย (อ่านประกอบ : เปิดหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ฯ ปรับเงินประจำตำแหน่ง-นับเวลาเลื่อนขั้นเหมือนปี 49)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage