ประเดิมครั้งแรก! มติรัฐสภาข้างมาก 366 ต่อ 316 เสียง ส่งศาล รธน.วินิจฉัยอำนาจหน้าที่สภา แก้ไขร่าง รธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่ แม้ฝ่าย ส.ส.ระดมค้าน ส่วน ส.ว.ไฟเขียว
....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา (ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในช่วงเช้า เพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ
ในช่วงบ่ายที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตตินี้ต่อ โดยเมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 696 ราย โดยเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดมาจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ส่วนเสียงข้างน้อยมาจาก พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภามีมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
@ภท.-ชาติไทยฯ-ก้าวไกล ออกโรงค้าน-'พิธา'ชี้ถ้าส่งญัตติเท่ากับแช่แข็ง รธน.ฉบับ คสช.
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในการประชุมร่วมรัฐสภา มี ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง รวมถึง ส.ว. อภิปรายเกี่ยวกับญัตตินี้ เช่น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยืนยันจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยเหมือนกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งจากทั่วประเทศ แล้วยกร่างเสร็๗กลับไปถามประชาชนเพื่อทำประชามติ อย่างไรก็ดีไม่แน่ใจว่าการยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นการใช้ดีเลย์แทกติกเพื่อให้การแก้ไขช้าหรือไม่
ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายไม่เห็นชอบกับญัตติที่นำเสนอดังกล่าว เพราะถือเป็นการชักนำองค์กรอื่นให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ทั้งที่ทำหน้าที่โดยสุจริต โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาดำเนินการมีเหตุผลสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤติการเมือง และญัตตินี้อาจสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญขึ้นได้
เช่นเดียวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า 1 ปีที่ผ่านมาเห็นความพยายามของรัฐสภาในการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำมาซึ่งการยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความอำนาจของรัฐสภาดังกล่าว โดยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการตัดทอนอำนาจรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปตลอดกาล และเป็นการแช่แข็งประเทศไทยด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. เป็นฉบับชั่วนิรันดร์
ส่วนนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้มีการยื่นญัตติดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยนายเสรี ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ตัดสินใจกันเองไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยต้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า กระบวนการเดินไปตามครรลองอยู่แล้ว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเดินหน้าได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่หากขัด ต้องไม่เสียเงินทำประชามติ
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยตามที่สมาชิกหลายคนระบุจริง ทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนส่งเรื่องต่าง ๆ ไปยังศาลขอให้วินิจฉัย เช่น การขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. อย่างไรก็ดีการยื่นญัตติ เพื่อให้การทำหน้าที่ของรัฐสภาถูกต้อง อย่าให้ต้องเสียเงินทำประชามติแล้วบอกว่า การกระทำดังกล่าวทำไม่ได้ ดังนั้นวันนี้วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีความเห็นในทางเดียวกันหรือไม่ก็ตาม เป็นความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน ทุกคนเกิดจากรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนให้ศาลวินิจฉัยหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจรัฐสภา เพราะฉะนั้นรัฐสภาจำเป็นต้องนำเรื่องนี้ไปสู่ศาล เพื่อวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความ
อ่านประกอบ :
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage