“...ทั้งหมดคือเงื่อนปมสำคัญที่ 73 ส.ส.-ส.ว. ชงญัตติด่วนถึงที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตกลงอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาสามารถเปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่? หากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบ จะถือเป็น ‘คดีแรก’ และอาจเป็น ‘คดีประวัติศาสตร์’ ที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ 2 สภาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร…”
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. รวม 73 ราย เสนอญัตติถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการจัดตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้อำนาจแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเท่านั้น (อ่านประกอบ : เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ)
สำหรับกฎหมายที่ 73 ส.ส.-ส.ว. นำมาอ้างอิงคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ โดยถือว่าเป็นการใช้ ‘ช่องทางใหม่’ ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือ หากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว จะถือว่าเป็น ‘คดีแรก’ ที่มีการใช้มาตรา 210 (2) ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
ขณะที่เหตุผลตามญัตติที่นายสมชาย นายไพบูลย์ และ 73 ส.ส.-ส.ว.เสนอ สรุปได้ว่า ปัจจุบันมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาอยู่ 3 ฉบับ (เป็นร่างของ iLaw 1 ฉบับ) โดยทั้ง 3 ร่างดังกล่าวมีเนื้อหาสาระให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นตามหลักกฎหมายมหาชน ‘ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ’ หมายความว่า หากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือ ให้มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ดังนั้นหากมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 5 โดยมีเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้
หนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าให้กระทำได้ดังได้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และ 256 ตามความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้อำนาจรัฐสภาเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
สอง หากรัฐธรรมนูญปี 2560 จะบัญญัติให้อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยไม่มีข้อความจำกัดเพียงให้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังเช่นรัฐธรรมนูญบัญญัติให้จัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ใหม่ทั้งฉบับได้
สาม ด้วยเหตุที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เนื่องจากเป็นการต้องห้ามทำประชามติตามบทบัญญัติมาตรา 166
สี่ การพิจารณาและวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) มาตรา 41 (4) และมาตรา 44
ญัตติดังกล่าวตอนท้ายสรุปว่า ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นรัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจะมีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไปในวาระที่ 1 และ 2
“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ให้ดำเนินการลงมติในวาระ 3 ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้นมา เพื่อดำเนินการจัดทำญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป” ญัตติดังกล่าว ระบุ
ทั้งหมดคือเงื่อนปมสำคัญที่ 73 ส.ส.-ส.ว. ชงญัตติด่วนถึงที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตกลงอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาสามารถเปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่?
หากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบ จะถือเป็น ‘คดีแรก’ และอาจเป็น ‘คดีประวัติศาสตร์’ ที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ 2 สภาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage