"...การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่ากับเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการจัดทำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือการให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนนั่นเอง..."
.........................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น 1 ใน 4 นักวิชาการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่อศาลในการวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ สำหรับนักวิชาการอีก 3 คนประกอบด้วย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 และ ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.........................................
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
1. ข้อกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า
มาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้
มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป
(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม
(8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
2. ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา
2.1 ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและไม่มีการลงประชามติ
หลายครั้ง เช่น
2.1.1 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 โดยมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 บังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.1.2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 เพื่อเพิ่มหมวด 12 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่มาตรา 211 ทวิ ไปจนถึงมาตรา 211 เอกูนวีสติ
โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
2.2 ในปี พ.ศ. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ความว่า “อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนอันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญนั้นเองกลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายที่ยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายโดยทั่วไป
การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291”
2.3 หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 2550 และ 2560 ในประเด็นเรื่องที่มาของการสถาปนารัฐธรรมนูญและการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการลงประชามติจะพบว่ามีความแตกต่างกัน ดังตาราง
2.4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยอาศัยบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมเคยเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ.1958) เกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 หมวด 11 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Titre XI De la revision de la Constitution) โดยในมาตรา 90 ที่อยู่ในหมวด 11 นี้บัญญัติให้รัฐสภาจะต้องจัดทำเป็นร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ (loi constitutionnelle) และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะต้องมีการนำไปให้ประชาชนลงประชามติ
การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศสเกิดจากความวุ่นวายในอัลจีเรียอันมีแนวโน้มจะนำไปสู่การทำรัฐประหารของคณะทหาร รัฐสภาจึงได้เชิญนายพลเดอโกลมาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา เดอโกลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับน่าจะเป็นทางออกของประเทศ จึงขอให้รัฐสภาตรากฎหมายรัฐธรรมนูญ(loi constitutionnelle) ตามมาตรา 90 ขึ้นเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐสภาก็ได้ตอบสนองกับข้อเรียกร้องดังกล่าว
กฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยกเว้นชั่วคราวในการใช้บทบัญญัติมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ลงวันที่3 มิถุนายน ค.ศ. 1958 (Loi constitutionnelle du 3 juin 1959 portant dérogation transitoire aux dispositions de l’article 90 de la Constitution) ได้กำหนดหลักการสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ 1. การมอบอำนาจให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเพื่อให้ได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและมีศาลที่เป็นอิสระ 3. กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐกับประชาชน 4. เมื่อสภาแห่งรัฐได้ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะต้องจัดให้ประชาชนได้ลงประชามติ
3. ความเห็น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบันได้ผ่านการลงประชามติของประชาชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 จึงถือได้ว่าประชาชนชาวไทยเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant originaire) ฉบับนี้ องค์กรทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ฯลฯ ล้วนเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) ทั้งสิ้น องค์กรเหล่านี้จึงมีอำนาจเท่าที่ผู้สถานปนารัฐธรรมนูญกำหนดให้มี อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างและกลไกทางการเมืองไว้ย่อมต้องสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญทั้งของไทยและต่างประเทศล้วนเล็งเห็นถึงการต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการกำหนดให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเอง โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีองค์กรผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant dérivé) รวมทั้งกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะให้มีการลงประชามติในประเด็นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ในกรณีของการกำหนดให้มีการจัดทำประชามติในประเด็นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางประเด็นมีความสำคัญหรือเปลี่ยนแปลงหลักการที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเคยกำหนดไว้ ยิ่งในกรณีที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเห็นว่าหลักการบางหลักการเป็นหลักการที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เช่น รูปของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่ากับเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการจัดทำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือการให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนนั่นเอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะได้บัญญัติไว้ในมาตรา 256 (8) ว่าจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในกรณีที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ก็ตาม ซึ่งก็สอดคล้องกับประสบการณ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศส และสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่วินิจฉัยว่า “ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
คำว่า “ก่อน” ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ไม่ควรตีความว่าศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึง “ก่อนการเสนอญัตติ” ตามมาตรา 256 (1) เพราะในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้เป็นเวลาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บังคับใช้และมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติแต่ประการใด คำว่า “ก่อน” ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้นี้จึงหมายเพียงต้องการให้มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นของผู้มีอำนาจสถานปนารัฐธรรมนูญก่อนเท่านั้น ไม่ใช่ต้องการจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนการเสนอญัตติแต่ประการใด การจัดให้มีการออกเสียงประชามติจึงสามารถทำได้ในช่วงเวลาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั่นเอง ดังเช่นการบัญญัติไว้ในมาตรา256 (8) คือหลังการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ก่อนการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะไม่ว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือหลังจากที่รัฐสภาได้ลงมติแล้วก็ตาม ก็ย่อมถือว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง
ดังนั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ซึ่งจะต้องมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วยตาม (8) ย่อมถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและการคลังของประเทศแล้ว
การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในกรณีดังกล่าวอาจทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก จัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ หากประชาชนให้ความเห็นชอบก็คือว่าประชาชนให้ความเห็นชอบว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้นเอง หรือวิธีที่สอง จัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยถามเป็น 2 คำถาม คำถามแรก ถามว่าประชาชนเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และคำถามที่สองถามว่าประชาชนเห็นชอบกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับคำถามแรก ก็คือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตกไป แต่ถ้าประชาชนให้ความเห็นชอบในคำถามแรก ก็จะต้องพิจารณาคำถามที่สองต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage