“…วันที่ 11 ต.ค.2553 บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และ อสมท ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในประเด็น ‘จำนวนสมาชิกโครงการขั้นต่ำ’ เป็นการพิจารณาจาก ‘ฐานรายได้ขั้นต่ำ’ แทน หากปีใดมีรายได้โครงการฯ ‘น้อยกว่า’ รายได้ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ต้องชำระ ‘เบี้ยปรับ’ ให้ อสมท เป็นเงิน 26.8 ล้านบาท…”
...............
คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกคืนคลื่น 2600 MHz กว่า 1.75 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนก.ย.2563 ที่ผ่านมา
ระหว่างบริษัท เพลย์เวร์ค จำกัด ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ,คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
กำลังถูกจับตามองอีกครั้ง
หลังจากปรากฏว่าในจำนวนรายชื่อ ‘ผู้สมควรได้รับเลือก’ เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) จำนวน 14 ราย ที่คณะกรรมการสรรหาฯเสนอไปให้วุฒิสภาคัดเลือกนั้น มีผู้สมควรได้รับเลือก ‘หลายราย’ เคยมีความเกี่ยวพันกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด
กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากบุคคลดังกล่าวได้รับคัดเลือกเป็น ‘กรรมการ กสทช.’ จะส่งผลกระทบต่อการสู้คดีพิพาทระหว่าง บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด กับสำนักงาน กสทช. และกสทช. หรือไม่ และอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปที่มาที่ไปข้อพิพาทการจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ระหว่าง บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และ กสทช. ดังนี้
ย้อนกลับไปในเดือน มิ.ย.2553 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อสมท มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการคัดสรรผู้ร่วมดำเนินกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS กรณีพิเศษ’ มีหน้าที่จัดทำข้อกำหนดและคัดสรรผู้ร่วมดำเนินกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS
ประกอบด้วย ธนวัฒน วันสม ประธาน ,สุนทรี แก้วภรณ์ รองประธาน ,กมลาศิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการ ,พลชัย วินิจฉัยกุล กรรมการ (นายพลชัย เปลี่ยนชื่อเป็น ณภัทร และต่อมามี.ค.2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการกระจายเสียง) ,นิคม ณ พัทลุง กรรมการ ,นายเชี่ยวชาญ นันธนพานิช กรรมการ และนายกิตติพงษ์ ขันติรัตน์ กรรมการและเลขานุการ
ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.2553 บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งได้รับการคัดเลือก ได้เข้าทำสัญญาธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS (สัญญา MMDS) กับ อสมท โดยนำคลื่น MMDS (คลื่น 2600 MHz) ไปใช้เพื่อบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกบนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) แต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัท เพลย์เวิร์ค มีหน้าที่บริหารและทำตลาดให้มีจำนวนสมาชิกโครงการขั้นต่ำ ‘เป็นไปตามที่กำหนด’
แต่แล้วเพียงอีก 10 วันต่อมา หรือ ในวันที่ 11 ต.ค.2553 บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และ อสมท ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในประเด็น ‘จำนวนสมาชิกโครงการขั้นต่ำ’ เป็นการพิจารณาจาก ‘ฐานรายได้ขั้นต่ำ’ แทน หากปีใดมีรายได้โครงการฯ ‘น้อยกว่า’ รายได้ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ต้องชำระ ‘เบี้ยปรับ’ ให้ อสมท เป็นเงิน 26.8 ล้านบาท
ขณะที่แบบ 56-1 ที่ อสมท รายงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในระหว่างปี 2553-2555 อสมท มีการรายงานถึงการร่วมดำเนินธุรกิจระหว่าง อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด โดยระบุว่า
“บมจ. อสมท และ บจก. เพลย์เวิร์ค จะร่วมดำเนินธุรกิจโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิกโดยใช้เทคโนโลยีบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นการให้บริการโทรทัศน์รูปแบบใหม่ที่มีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย เช่น บริการโทรทัศน์ ตามความต้องการ (TV on Demand) บริการโทรทัศน์แบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Television) และบริการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกล (Tuition on Demand) เป็นต้น
โดยสามารถรองรับการให้บริการได้ทั้งแบบประจำที่และแบบเคลื่อนที่ผ่านทาง 3 อุปกรณ์หลัก คือ เครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งภาวการณ์แข่งขันในปัจจุบัน โอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกยังมีการขยายตัวอีกมาก”
ทั้งนี้ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ระบุว่า การดำเนินการตามสัญญา MMDS ในช่วงแรก บริษัทฯได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยเคร่งครัดและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่าภายในเดือนส.ค.2554 นั้น โครงการฯตามสัญญา MMDS ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และมีผู้สนใจลงทะเบียนใช้บริการกว่า 1 หมื่นราย ขณะที่ อสมท ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการ 1 แสนรายในปี 2554
แต่ทว่าในระหว่างปี 2553-2557 ไม่มีรายงานปรากฏในงบการเงินของ อสมท ว่า บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด นำส่งรายได้จากการร่วมดำเนินธุรกิจธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกฯ บนคลื่น 2600 MHz เป็นเงินจำนวนเท่าใด และอสมท มีรายได้จากเบี้ยปรับหรือไม่ รวมทั้งมีการจัดส่งแผนฯ และเครื่องหมายการค้า (โทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกฯ) ให้ อสมท รับทราบหรือไม่ อย่างไร
กระทั่งต่อมาวันที่ 10 ก.พ.2557 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ 'อนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์' ว่า สัญญา MMDS ที่ อสมท ให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) นั้น
เป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่น นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม จึงเป็นการประกอบกิจการโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ก่อน ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแจ้งให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด แก้ไข
จากนั้นสำนักงาน กสทช. ได้นำข้อเสนอของ กสท. เสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2557 และที่ประชุม กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามผลการพิจารณาของ กสท.
ก่อนที่ในเวลาต่อมาที่ประชุม กสทช. ได้ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 9/2558 เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558
และมีมติเสียงข้างมากให้ ‘ยกเลิก’ มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2557 วาระที่ 5.1.2 เรื่อง รายงานผลการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาทางธุรกิจเกี่ยวกับกิจการระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS ระหว่าง อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด หลัง อสมท มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรทัศน์ 5 ฉบับ (อ่านประกอบ : เปิดมติ กสทช. ปี 57 ว่าด้วยปัญหาข้อกม. 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค' ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS)
บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ระบุว่า ระหว่างวันที่ 10 ก.พ.2557 ซึ่งเป็นวันที่ กสท. มีมติให้สัญญา MMDS ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนถึงวันที่ 1 ก.ย.2558 ซึ่งเป็นวันที่ กสทช. มีมติให้สัญญา MMDS ชอบด้วยกฎหมาย รวมเป็นเวลา 568 วันนั้น เพลย์เวิร์ค ต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินการตามสัญญาต่างๆ โดยที่อาจได้รับค่าตอบแทนและค่าเสียโอกาส
อย่างไรก็ตาม หลังจากสัญญา MMDS ชอบด้วยกฎหมาย บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด กลับมาทำตลาดบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอย่างจริงจังอีกครั้งในช่วงกลางปี 2561 และแจ้งทดลองการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกฯครั้งแรก ในวันที่ 1 ม.ค.2562
ก่อนที่อีกในไม่กี่เดือนต่อมา กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้งานไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ลงวันที่ 27 พ.ย.2561
ต่อมาในวันที่ 11 มี.ค.2562 กสทช.จะมีหนังสือที่ สทช. 2302/8397 ลงวันที่ 11 มี.ค.2562 เรียกคืนคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก อสมท ขณะที่มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 4/2562 ให้เรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก อสมท และว่าจ้างที่ปรึกษา 3 สถาบัน ศึกษาและประเมินมูลค่าการจ่ายเงินเยียวยาฯ
และมีการออกคำสั่ง กสทช.ที่ 26/1562 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ เสนอให้เยียวยาการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz เป็นเวลา 13 ปี และเสนอให้แบ่งเงินเยียวยาระหว่าง อสมท และ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เป็น 50 ต่อ 50 (อ่านประกอบ : ประธานอนุกก.เยียวยาคลื่น 2600 : ทำไมต้องแบ่งเงิน ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ 50 ต่อ 50)
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมกสทช.ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2563 ที่ประชุมมีมติเยียวยา อสมท และคู่สัญญาที่ได้รับความเสียหาย เป็นระยะเวลา 6 ปี 5 เดือน เป็นเงิน 3,235.86 ล้านบาท
ส่วนการแบ่งเงินเยียวยาให้ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัดนั้น อสมท เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ (อ่านประกอบ : แบ่ง ‘เพลย์เวิร์ค’50%เป็นเรื่องของ อสมท ‘ฐากร’ชี้ ไม่พอใจ3.2พันล้าน ให้ฟ้องศาล ปค.)
จากนั้นคณะกรรมการ อสมท มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 อนุมัติให้นำส่งเงินชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด อันเป็นสัดส่วนจำนวนเท่าๆกัน คือ 50 ต่อ 50 หรือเป็นเงิน 1,617.93 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายเงินจากบัญชี อสมท และ อสมท โอนงวดแรกให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เป็นเงิน 73.16 ล้านบาท
แต่บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเรียกร้องเงินเยียวยาการถูกเรียกคืนคลื่น 2600 MHz เป็นเงิน 17,543.96 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.5% ต่อปี ในที่สุด (อ่านประกอบ : ที่มาค่าเสียหาย! ‘เพลย์เวิร์ค’ ฟ้อง 'กสทช.' ชดใช้ 1.7 หมื่นล.-อ้างเคเบิลทีวีโกย 2 แสนล้าน)
ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทาง 10 ปี ของสัญญาธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกฯ บนคลื่น 2600 MHz ของบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และการฟ้องร้องเรียกเงินเยียวยานับหมื่นล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 10 วัน ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้องตรวจสอบประวัติของว่าผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กรรมการ กสทช. ทั้ง 14 คน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ก.พ.2564 ก่อนส่งชื่อไปให้วุฒิสภาโหวตคัดเลือกให้เหลือด้านละ 1 คน รวม 7 คน
จึงต้องติดตามว่าผลการลงมติของวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร ใครบ้างที่จะได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. !
อ่านประกอบ :
หวั่นเร่งรัดเกิน! ส.ว.ตั้ง กมธ.สอบประวัติฯ กสทช.ขีดเส้น 15 วันก่อนปิดสมัยประชุม
ที่มาค่าเสียหาย! ‘เพลย์เวิร์ค’ ฟ้อง 'กสทช.' ชดใช้ 1.7 หมื่นล.-อ้างเคเบิลทีวีโกย 2 แสนล้าน
ฟ้องชดใช้ 1.75 หมื่นล.! ‘เพลย์เวิร์ค’ ยื่นศาลฯสั่ง ‘อสมท-กสทช.’ เยียวยาคลื่น 2600 MHz
แบ่ง ‘เพลย์เวิร์ค’50%เป็นเรื่องของ อสมท ‘ฐากร’ชี้ ไม่พอใจ3.2พันล้าน ให้ฟ้องศาล ปค.
ไม่แบ่ง‘เพลย์เวิร์ค’! ‘เขมทัตต์’ปัดขอค่าเยียวยาคลื่นฯ 3.2 พันล.-ซัด กสทช.ไม่ทำตาม กม.
ประธานอนุกก.เยียวยาคลื่น 2600 : ทำไมต้องแบ่งเงิน ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ 50 ต่อ 50
เปิดมติ กสทช. ปี 57 ว่าด้วยปัญหาข้อกม. 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค' ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS
ไม่มีอำนาจ! ปธ.บอร์ด ‘อสมท’ งัดกม.แจง ‘เทวัญ’ หลังสั่งสอบกรณีเยียวยาคลื่น 3.2 พันล้าน
เบื้องลึก! กสทช. 'กลับลำ-กลับมติ' ปี 57 ว่าด้วยการใช้คลื่น 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค'
เปิดตัว บ.เพลย์เวิร์คฯ ได้รับเงินเยียวยาคลื่นจาก 'กสทช.- อสมท' 1.6 พันล.
อาจใช้อำนาจมิชอบ! 'ปาริชาต'ท้วง’เขมทัตต์'ชง กสทช.แบ่งเงิน 1.6 พันล.ให้ ‘เพลย์เวิร์ค’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/