“...เมื่อเป็นสัญญาร่วมดำเนินงาน แต่ อสมท ต้องการความมั่นคงเรื่องรายได้ ส่วนคุณ (เพลย์เวิร์ค) จะกำไรหรือขาดทุนไม่รู้ แต่ อสมท รับ 9% เสมอ แต่เอกชนต้องลงทุน และแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด เราจึงเห็นว่าทั้งคู่ เจตนาแบ่งเงินพอๆกัน และแบ่งเท่าๆกัน แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีรายงานการศึกษาบางฉบับบอกให้แบ่งตามสัญญา ถ้าทำอย่างนั้น อสมท จะได้เงินเยียวยาแค่ 9% แล้วคณะอนุกรรมการฯจะเลือกของใครล่ะ ก็เลยมาลงที่ 50 ต่อ 50...”
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) มีมติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 เห็นชอบการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz เป็นเงินทั้งสิ้น 3,235.83 ล้านบาท และเห็นชอบให้แบ่งเงินเยียวยาฝ่ายละ 50% หรือฝ่ายละ 1,617.9 ล้านบาทนั้น
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ จิตรนรา นวรัตน์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮริตซ์ ถึงที่มาที่ไปของหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดทำข้อเสนอให้จ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ของ อสมท ที่เสนอให้บอร์ด กสทช.ใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนที่บอร์ดกสทช.จะมีมติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 ดังต่อไปนี้
จิตรนรา เกริ่นว่า ที่มาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ มาจากคำสั่งแต่งตั้งของบอร์ดกสทช. โดยแต่งตั้งผู้แทนจาก 7 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งบอร์ดกสทช.ไม่ได้ระบุชื่อว่ามีใครบ้าง และสาเหตุที่ตนต้องออกมาอธิบายในเรื่องนี้ เพราะมีบางประเด็นที่สังคมมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อีกทั้งเมื่อบอร์ดกสทช.มีมติในเรื่องการจ่ายเยียวยาออกมาแล้ว ตนจึงออกมาให้ข้อเท็จจริงทั้งส่วนที่สนับสนุน และส่วนที่แย้งกับดุลพินิจของบอร์ด กสทช.
@หลักคิดการประเมินมูลค่าคลื่น 2600 MHz
จิตรนรา กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเริ่มอธิบายในเรื่อง ‘กรรมสิทธิ์’ และ ‘มูลค่าคลื่น’ ก่อน เพราะถ้าเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าเหตุใดคณะอนุกรรมการฯ จึงเสนอวิธีการเยียวยาคลื่น 2600 MHz ในรูปแบบนี้
ข้อแรก ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครเข้าใจเรื่อง 'มูลค่าคลื่น' ที่แท้จริงนัก ซึ่งในความเป็นจริง คือ ‘คลื่น’ มีมูลค่าแตกต่างจาก ‘ที่ดิน’ แต่คนชอบพูดว่า ทำไมเราไม่ใช่หลักการเวนคืนที่ดินมาใช้กับกรณีของคลื่น นี่คือคำถามแรก คำตอบ คือ คลื่นไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ในขณะที่การเวนคืนที่ดินต้องใช้หลัก ‘กรรมสิทธิ์’ คือ เมื่อคุณเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินมีเท่าไหร่ และถ้าถูกเวนคืนไป ก็ได้รับค่าชดเชยจากรัฐตามราคาที่ดินนั้นๆ แต่ถ้ามีสิ่งปลูกสร้างก็บวกเพิ่มค่าชดเชยเข้าไป แต่ค่าเสียโอกาสรัฐจะไม่ให้
เช่น ถ้าคุณฝันว่าที่ดินแปลงนี้ในอนาคตจะสร้างเป็นโรงแรม แต่ไม่ได้สร้าง เพราะถูกเวนคืนที่ดินไปก่อน แล้วบอกว่าเสียโอกาส มันก็ไม่ใช่ นอกจากนี้ สิ่งที่คุณจะได้มีมากกว่านั้น และมีมูลค่ามากกว่าค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดินอีก นั่นก็คือ มูลค่าที่ดินที่เหลืออยู่ อย่างบางคนถึงกับบอกว่าตัดถนนผ่านที่เขาเลย ไม่ได้ค่าเวนคืนก็เอา เพราะว่าราคาที่ดินจะขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ดิน สิ่งที่รัฐยอมจ่ายให้ คือ ค่าเวนคืนเท่านั้น เพราะคุณได้ประโยชน์มหาศาลจากที่ดินที่ขึ้นราคาอยู่แล้ว
แต่คลื่นไม่ใช่ เพราะถ้าคลื่นมีแล้ว แต่ไม่ทำอะไร ก็คือศูนย์ และก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในคลื่น แต่เป็นเพียงผู้ใช้คลื่นในย่านความถี่ใดความถี่หนึ่ง และในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น จะ 10 ปี 15 ปี ก็ว่าไป และถ้าได้คลื่นมาแล้วนอนกอดไว้เฉยๆ ก็เท่ากับศูนย์อยู่ดี ต่างจากที่ดินที่ถ้ามีแล้วทิ้งไว้เฉยๆ ที่ดินก็มีราคาเหมือนเดิม ดังนั้น หลักการในเรียกคืนคลื่นจะใช้หลักกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ข้อสอง เรื่องมูลค่าคลื่น มูลค่าคลื่นเกิดจากการที่มีการนำคลื่นไปใช้ประโยชน์ คลื่นจะมีค่า เมื่อมีการใช้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีการใช้ประโยชน์ มูลค่าคลื่นก็เป็นศูนย์ ฉะนั้น การเยียวยาจึงต้องเยียวยา ‘การใช้ประโยชน์ที่เขาเสียไปจากการใช้คลื่น’ ไม่ใช่เยียวยามูลค่าคลื่น จึงกลับข้างจากการเยียวยาเวนคืนที่ดิน ที่เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ถ้าเป็นเรื่องคลื่น ถ้าเขามีการลงทุน เพื่อที่จะใช้คลื่นแบบนั้นจริง ค่าเสียโอกาสของเขาก็เกิดขึ้นจริงๆ
แต่การตีเป็นมูลค่าคลื่น จะตีมูลค่าโดยตรงไม่ได้ เพราะต้องดูว่าเขาลงทุนและใช้คลื่นไปทำประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งการใช้ประโยชน์มาจาก 2 ด้าน
คือ 1.จากตัวคลื่นเอง เพราะคลื่นแต่ละคลื่นไม่เหมือนกัน บางย่านถูก เพราะไม่มีใครเอา แต่บางคลื่นแย่งกันเป็นทอง คลื่นแต่ละตัวจึงใช้ประโยชน์ได้ไม่เท่ากับตามศักยภาพของคลื่น
และ2.คนที่ใช้คลื่น ถ้าเขาไม่มีความสามารถ ก็ใช้คลื่นไม่คุ้ม จึงเป็นที่มาของแนวคิดการประมูลคลื่น เพื่อให้คนที่มีความสามารถในการใช้คลื่นมากที่สุด ได้สิทธิไปใช้คลื่น ไม่ใช่ว่าได้คลื่นไปแล้วทำอะไรไม่เป็น เพราะคลื่นมีจำกัด ดังนั้น ใครที่ประมูลคลื่นโดยให้มูลค่าสูงสุด แสดงว่าคุณมีแนวทางการใช้คลื่น อย่างกรณีอสมท และเพลย์เวิร์ค เขาก็มีแนวทางที่จะนำคลื่น 2600 MHz ไปใช้ประโยชน์ เมื่อเรียกคืนคลื่นเขามาแล้วก็ต้องเยียวยาให้เขา
“การเยียวยา เราไม่ได้เยียวยาจากมูลค่าคลื่น แต่เยียวยาจากมูลค่า ‘การเสียโอกาสจากการที่เขาใช้ประโยชน์’ มันจึงมีคำว่าจ่ายค่าตอบแทน ‘การเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่น’ ไม่ได้บอกว่าจ่ายมูลค่าคลื่นเลย ดังนั้น แนวทางเยียวยา ซึ่งมี 3 แบบ คือ ทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนนั้น จึงไม่ใช่การเอามูลค่าคลื่นมาพูดกัน แต่คิดจากมูลค่าที่เกิดขึ้นเมื่อเขาเอาคลื่นไปใช้ประโยชน์ ถ้าเขาพิสูจน์ได้ และเขากำลังทำอยู่ ก็ต้องยอมให้เขา” จิตรนรากล่าว
@มองโมเดลธุรกิจ ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ สร้างรายได้ได้จริง
จิตรนรา กล่าวต่อว่า หลังจากได้หลักคิดการประเมินมูลค่าคลื่นแล้ว คณะอนุกรรมการฯก็มาพิจารณาต่อว่า อสมท และคู่สัญญา คือ เพลย์เวิร์ค นำคลื่นมาใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมการฯเรียก อสมท และเพลย์เวิร์คเข้ามาชี้แจง ก็เห็นว่าเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำได้จริง
จิตรนรา ระบุว่า ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ เชิญ อสมท เพลย์เวิร์ค เอไอเอส และทรู เข้ามาชี้แจงไม่ต่ำกว่าบริษัทละ 3 ครั้ง เพราะเดิมเราไม่เชื่อว่าที่ อสมท บอกว่าจะรายได้ 5 หมื่นล้านบาท ตลอดสัญญา 15 ปี จากธุรกิจที่ทำบนคลื่น 2600 MHz จะเป็นไปได้ แต่เมื่อเราได้ฟังไอเดียธุรกิจแล้ว คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่ามีความเป็นไปได้ และคนที่บอกว่าธุรกิจที่ อสมท ทำนั้น เป็นการทำทีวีบอกรับสมาชิกหรือเคเบิลทีวีนั้น ความจริงเป็นการเข้าใจผิดกันหมดเลย
เพราะธุรกิจที่ อสมท ทำในปี 2553-54 คือ การนำคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่เขามีอยู่ 146 MHz ซึ่งมากกว่าคลื่น 2100 MHz ที่ค่ายมือถือประมูลไปทำ 3G (ค่ายละ 15 MHz) ถึง 10 เท่าของแต่ละค่าย ไปให้บริการความบันเทิงบนมือถือ โดยใช้คลื่น 2600 MHz ส่งดาต้าหนัง และเพลงไปยังมือถือ คือ เอาหนังและเพลงไปไว้บนมือถือเลย เหมือนอย่าง Netflix ตอนนี้ เพียงแต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นบนมือถือ
ดังนั้น ถ้าคนอยากดูหนัง ฟังเพลง บนมือถือ ก็ต้องมาใช้บริการ อสมท เพราะลำพังคลื่นที่ 3 ค่ายมือถือ มีคนละ 15 MHz นั้น แค่โทรอย่างเดียวก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว และค่าบริการใช้ดาต้าบนคลื่น 3G ก็ยังแพงอยู่มาก เทียบกับของ อสมท ที่มีความจุคลื่นเป็นจำนวนมาก และสามารถทำราคาให้บริการดาต้าได้ถูกกว่า อีกทั้งในยุคนั้นไม่มีทางที่โหลดหนังบนเน็ตมือถือได้ เพราะถ้าโหลดคุณเจ๊งแน่ เพราะตอนเริ่มให้บริการ 3G ค่าเน็ตมือถือแพงมาก ทำให้คนยังซื้อซีดีกันอยู่
ส่วนการส่งดาต้าไปถึงผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องมีการลงทุนเสาสัญญาณและโครงข่ายนั้น จิตรนรา บอกว่า อสมท และเพลย์เวิร์ค ชี้แจงว่า เขาไม่ได้ลงทุนเอง แต่ให้พันธมิตรเจ้าอื่นมาลงทุน ซึ่งเดิม อสมท ได้จับมือกับ CAT (บริษัท กสท โทรคมนาคม) ซึ่งมีเสาสัญญาณ ในการส่งคลื่น โดยออกข่าวใหญ่โตเมื่อปี 2553-54 และ CAT ได้สงวนเงินไว้ทำเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อผ่านไป 3 ปี โครงการเริ่มต้นไม่ได้ เพราะมีการดึงกันไปดึงกันมาในขั้นตอนพิจารณาของ กสทช. ทำให้ท้ายที่สุด CAT ต้องถอนตัวไปจากโครงการ
ต่อมา อสมท เปิดประกวดราคาคัดเลือกผู้ให้บริการโครงข่ายฯแทน CAT ซึ่งมีค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย เข้ามาประมูล แต่เอามาทั้งหมดไม่ได้ จึงเอามาได้ 2 ใน 3 คือ เอไอเอส และทรู โดยเงื่อนไขที่ อสมท และเพลย์เวิร์คให้เขา คือ จ่ายค่าตอบแทนให้ 20% ของรายได้เป็นค่าโครงข่าย แลกกับการที่เอไอเอส และทรู ลงทุนเป็นพันล้าน โดยที่ อสมท และเพลย์เวิร์ค ไม่ควักเงินลงทุนเลย
ดังนั้น การที่เอไอเอส และทรู กล้าลงทุนเป็นพันล้านแลกกับส่วนแบ่งรายได้ 20% แสดงว่ารายได้ที่ อสมท บอกว่าจะได้ 5 หมื่นล้านบาทจากธุรกิจที่จะทำบนคลื่น 2600 MHz ก็มีความเป็นไปได้ ต่อมา อสมท ได้ลงนามกับเอไอเอส และทรู จากนั้นได้เริ่มทดลองระบบ แต่สุดท้ายเอไอเอส และทรู ก็ถอนตัวจากโครงการไปอีก เพราะติดปัญหาที่กสทช.เช่นเดิม
อย่างตอนขออนุญาตครั้งแรก กสทช. บอกว่าธุรกิจเป็นเรื่องโทรคมนาคม จึงไม่อนุญาต เสียเวลาไป 2-3 ปี พออนุญาตมาก็สูญโอกาสไปแล้ว แล้วตอนสั่งอุปกรณ์เข้ามา กสทช. ก็ไม่อนุญาตอีก ต้องมีการทบทวนตลอดใช้เวลาอีก 2-3 ปี ต่อมา กสทช. บอกว่าสัญญาที่ อสมท ทำกับเอกชนคู่สัญญา ไม่ชอบ แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าถูกต้อง ต้องกลับมติ ผ่านไปอีก 2-3 ปี พอออกอากาศได้ก็ขอ Network Code ไม่ให้อีก ต้องรออีก 2-3 ปี จนมาออกออกอากาศได้ก็ปลายปี 2561 ไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีอย่างน้อย 4 เหตุการณ์สำคัญๆ ที่ทำให้เขา (อสมทและเพลย์เวิร์ค) เสียโอกาส และต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี จึงเริ่มต้นประกอบกิจการได้ในช่วงปลายปี 2561 แต่ระหว่างนั้นเขาลงทุนอย่างเดียว และเมื่อเริ่มธุรกิจได้ระยะหนึ่ง กสทช. มีการประกาศเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ก็เลยไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย และเสียเปล่าไปทั้งหมด
(จิตรนรา นวรัตน์)
“ตอนนั้นทราฟฟิกคลื่น 3G หนาแน่นมาก แต่ถ้าการส่งข้อมูลข่าวสารเพื่อการบันเทิงไม่ได้ไปเบียดตรงนั้น แต่แยกออกมาทำบนคลื่น 2600 MHz ของ อสมท ถ้าปี 55 เขาทำสำเร็จ ถามว่ารวยไหมล่ะ เพราะมันคือทีวีบนมือถือ ไม่ใช่เคเบิลทีวี แต่เนื่องจากการส่งข้อมูลแบบนี้ ไม่ได้ส่งแค่หนัง แค่เพลง แต่ส่งข้อมูลได้ด้วย กสทช.เลยไม่ยอมอนุญาต สู้กันอยู่หลายปี
ส่วนเขาเองก็ลงทุนไปมากมาย เช่น ไปจ้างผู้ผลิตที่เมืองจีน ทำมือถือที่เป็นทีวีอย่างเดียว ไม่ใช่โมบาย ต้องจ่างเช่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่นำมาออกออกอากาศ ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายในสำนักงาน เป็นต้น และถ้าเขาทำได้ตั้งแต่ตอนนั้นจริง ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดูหนัง ฟังเพลง จะอยู่บนมือถือ และที่ อสมท จะมีรายได้ 5 หมื่นล้านบาท ตามที่คาดการณ์ไว้ตลอด 15 ของสัญญา ก็เป็นไปได้จริง” จิตรนรากล่าว
@ที่มาวิธีการคิดค่าเสียโอกาสใช้คลื่น 2600 MHz
จิตรนรา กล่าวว่า เมื่อได้หลักคิดเกี่ยวกับมูลค่าคลื่น และความเป็นไปได้ของการธุรกิจบนคลื่น 2600 MHz แล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาต่อว่า การเยียวยาผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จะเป็นอย่างไรและใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใด แต่ปรากฏว่าในรายงานการผลศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาคลื่น 2600 MHz ทั้ง 3 ฉบับ ที่ กสทช. ว่าจ้างมหาวิทยาลัย 3 แห่งจัดทำนั้น มีข้อมูลไม่ครบถ้วน
เพราะตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2561 ข้อ 12 ระบุว่า ให้สถาบันการศึกษาที่ได้รับการว่าจ้าง ต้องประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นฯ แต่ผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่ง กลับระบุเพียงการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนฯเท่านั้น ไม่มีการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นเอาไว้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ซึ่งอาจจะไม่มีความเข้าใจในธุรกิจที่ อสมท ทำอยู่ ทำให้ผู้ศึกษาเลือกใช้สมมติฐานที่ว่า อสมท จะมีสมาชิกกี่คน จะมีรายรับเท่าไร่ ซึ่งคิดแบบเดียวกับธุรกิจเคเบิลทีวี ทำให้ผลศึกษาทั้ง 3 ฉบับ ออกมาแตกต่างและไม่สอดคล้องกันกัน เช่น บางแห่งบอกว่า อสมท จะขาดทุน 133 ล้านบาท แต่บางแห่งบอกว่า อสมท จะกำไร 3,000 ล้านบาท เมื่อเป็นอย่างนี้ คณะอนุกรรมการฯจึงเลือกฟังเหตุผลของ อสมท มากกว่า
“ในการเรียกคืนคลื่น เขาให้มหาวิทยาลัยทำรายงานเบื้องต้น เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกคืนคลื่น คือ ต้องทำการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่อย่างหนึ่ง และศึกษาแนวทางการชดใช้ ทดแทน และจ่ายค่าตอบแทนฯ อีกอย่างหนึ่ง แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ทำในเรื่องการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่น เพราะเข้าใจผิด จึงไม่ได้ทำมา และไม่มีผลศึกษาเรื่องประเมินมูลค่าคลื่นเข้ามา คณะอนุกรรมการฯ ก็ต้องมาตั้งสมมติฐานของเราเอง” จิตรนรากล่าว
จิตรนรา กล่าวต่อว่า เมื่อคณะอนุกรรมการฯต้องตั้งสมมติเอง คณะอนุกรรมการฯจึงไปดูในข้อกฎหมายว่าจะใช้ข้อใดได้บ้าง เพราะการเยียวยากรณีเรียกคืนคลื่น จะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่อง คือ 1.ทดแทน เช่น กรณีเรียกคืนคลื่นจากทหารมา ก็ต้องหาคลื่นใหม่ไปให้เขาและเอาอุปกรณ์ใหม่ไปให้เขาด้วย 2.ชดใช้ คือ เมื่อมีการลงทุนไปเท่าไร่ ก็ต้องชดใช้ไปเท่านั้น และ3.การค่าตอบแทน แต่เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุถึง ‘ค่าเสียโอกาส’ เอาไว้ แต่มีคำว่า 'ด้วยความสมเหตุสมผลและเป็นธรรม'
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องหาความ ‘สมเหตุสมผลและเป็นธรรม’ ให้เจอ เราจึงใช้วิธีการเปรียบเทียบกับ 3 กรณี คือ 1.การเยียวยาตามหลักสากลของ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ซึ่งวิธีนี้ใช้กับไทยไม่ได้ เพราะหลักของ ITU ต้องใช้วิธีให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันโดยความพอใจ แต่ของไทยใช้วิธีบังคับ 2.การเยียวยาคลื่นในต่างประเทศ ซึ่งมี 2 ประเทศ คือ อเมริกา และรัสเซีย แต่รัสเซียไม่เปิดตัวเลข จึงใช้ตัวเลขของอเมริกาที่เยียวยา 41-42%
และ3.การเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งนำเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 MHz มาเยียวยา ซึ่งตัวเลขของ กสทช. พบว่าเงินที่ใช้เยียวยาผู้ประกอบการอยู่ที่ 70% ของมูลค่าเริ่มต้นของคลื่น 700 MHz ที่นำมาประมูล ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯจึงนำกรณีดังกล่าวมาเทียบเคียงใช้กับเยียวยาคลื่น 2600 MHz ได้ แม้ว่าการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ของ อสมท จะต่างกับคลื่น 700 MHz เพราะรัฐไปดึงคลื่นเขามา ทำให้เขาเสียโอกาส จึงต้องตอบแทนให้คุ้มค่า
“ถ้าเอาตัวเลขเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมาใช้ ซึ่งตก 70% ของมูลค่าคลื่น 700 MHz เราเห็นว่าเยอะไป และเราเห็นว่าถ้าจะเป็นธรรมและเหมาะสมที่สุด เราก็ตั้งตุ๊กตาเป็น 30% 40% และ50% ของมูลค่าเริ่มต้นประมูลคลื่น 2600 MHz พูดกันอยู่นานมาลงตัวที่ 40% เพราะ 1.เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่อเมริกาทำ 2.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของมูลค่าคลื่น 2600 MHz เพราะถ้าถึงกึ่งหนึ่งคำถามสังคมก็จะตามมาเยอะ
และ3.ถ้าเป็น 40% หากเทียบกับการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็น้อยกว่าเกือบครึ่ง จึงตอบคำถามได้หมดว่าทำไม่ต้องเป็น 40% ของราคาตั้งต้นของคลื่น 2600 MHz และการเยียวยาคลื่น 2600 MHz เราคิดเฉพาะคลื่นที่ อสมท ถืออยู่ 146 MHz เท่านั้น จากคลื่น /2600 MHz ทั้งหมดที่ กสทช. นำมาประมูล 190 MHz” จิตรนรากล่าว
ส่วนการ ‘ชดใช้’ เงินลงทุนที่เอกชนคู่สัญญาได้ลงทุนไปตั้งแต่ปี 2553 นั้น คณะอนุกรรมการฯไม่ให้จ่าย โดยให้ถือว่าถูกรวมอยู่ในมูลค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว เพราะมูลค่าคลื่นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนก่อน และถ้าไปดูจริงๆผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเยียวยาคลื่น 2600 MHz ไม่ใช่เพลย์เวิร์ค แต่เป็น อสมท เพราะ อสมท ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และเอกชนก็ลงทุนไปเป็นพันล้านแล้ว ถ้าได้เงินเยียวยามาก็จะเหลือแค่ 600 ล้านบาท
“คนที่ได้ประโยชน์ คือ อสมท เพราะเขาไม่ต้องลงทุนอะไรซักบาท ตามสัญญาไม่ต้องควักซักบาทเดียว เอกชนต่างหากที่ลงเงินไปแล้วเป็นพันล้าน ถ้าได้เงินเยียวมาก็จะเหลือแค่ 600 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่ารายได้จะเป็นหมื่นล้าน ถามว่าเอกชนจะยอมเหรอ ผมจึงเชื่อว่าเรื่องนี้อาจจะไปจบที่ศาล” จิตรนรากล่าว
@เหตุผลที่ต้องแบ่งเงินเยียว ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ ฝ่ายละ 50%
ส่วนหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯใช้พิจารณาก่อนนำไปสู่การแบ่งเงินเยียวยาให้ อสมท และเพลย์เวิร์ค เป็น 50 ต่อ 50 นั้น จิตรนรา กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแบ่ง 50 ต่อ 50 เพราะ อสมท และเพลย์เวิร์ค ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญานั้น เขาผูกพันกันด้วยสัญญา ถ้าจะแบ่งเงินกัน ก็ต้องแบ่งกันตามสัญญา และแม้ว่าชื่อของสัญญาจะบอกว่าเป็นสัญญา ‘จ้างทำของ’ แต่เนื้อหาของสัญญาจริงๆ เป็นสัญญา ‘การร่วมดำเนินการ’
“ที่บอกว่าเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น อย่าไปสนใจชื่อ เพราะเรามีคำพิพากษาอยู่ตลอดเวลาว่า จะเรียกว่าจ้างทำของหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เนื้อหาคืออะไร เพราะชื่ออาจกำหนดคลาดเคลื่อนได้ แต่ให้ดูเนื้อหาของสัญญาที่ อสมท ทำกับ เพลย์เวิร์ค คณะอนุกรรมการฯวิเคราะห์แล้วเห็นว่า มันคือ ‘การร่วมดำเนินงาน’ ที่มีแบ่งหน้าที่กัน แบ่งภารกิจกันทำ แต่ตอนนั้นคงไปกังวลอะไรบางอย่าง จึงไปอธิบายว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ
เพราะถ้าจ้างทำของ อสมท ต้องจ่ายเงิน แต่เอาเข้าจริง ไม่มีตรงไหนที่ อสมท จ่ายเงินเลย มีแต่ได้ส่วนแบ่งรายได้อย่างเดียว เพียงแต่ต้องเอาคลื่นมาลง จึงเป็นการเรื่อง ‘การร่วมดำเนินงาน’ และก็ไม่ใช่การร่วมทุนฯด้วย ขณะที่เอกชนซึ่งเป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียวนั้น ต้องรับความเสี่ยงทั้งหมด สัญญาจึงกำหนดให้รายได้ 91% เป็นของเอกชน และรายได้อีก 9% เป็นของ อสมท แต่ก็มีคนไปต่ออีก ซึ่งถ้ามีตรวจสอบก็ดี เพราะจะได้รู้ว่ามีสัญญานี้เกิดขึ้น” จิตรนรา กล่าว
จิตรนรา ย้ำว่า “เมื่อเป็นสัญญาร่วมดำเนินงาน แต่ อสมท ต้องการความมั่นคงเรื่องรายได้ ส่วนคุณ (เพลย์เวิร์ค) จะกำไรหรือขาดทุนไม่รู้ แต่ อสมท รับ 9% เสมอ แต่เอกชนต้องลงทุน และแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด เราจึงเห็นว่าทั้งคู่ เจตนาแบ่งเงินพอๆกัน และแบ่งเท่าๆกัน แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีรายงานการศึกษาบางฉบับบอกให้แบ่งตามสัญญา ถ้าทำอย่างนั้น อสมท จะได้เงินเยียวยาแค่ 9% แล้วคณะอนุกรรมการฯจะเลือกของใครล่ะ ก็เลยมาลงที่ 50 ต่อ 50”
จิตรนรา กล่าวด้วยว่า สัญญาที่ อสมท ทำกับ เพลย์เวิร์ค ในปี 2553 ถือว่าเป็นคุณกับ อสมท เพราะหากไม่มีสัญญาฉบับนี้ เมื่อ กสทช. เรียกคืนคลื่นในปี 2554-55 อสมท จะต้องคืนคลื่นไปฟรีๆ โดยไม่ได้ซักบาทเดียว เพราะเมื่อไม่มีสัญญาคุ้มครอง ก็แปลว่าไม่มีการใช้คลื่น และไม่มีหลักฐานไปยืนยันว่า กำลังใช้ประโยชน์ในคลื่นนี้อยู่ โดยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว 2 กรณี คือ
1.กรณีเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ในรอบนี้ ซึ่งมาจาก 3 แหล่ง คือ อสมท ทหาร และกรมประชาสัมพันธ์ แต่ กสทช. ไม่ได้เยียวยาค่าคลื่นให้กรมประชาสัมพันธ์ แม้ว่ากรมประชาสัมพันธ์จะไปทำสัญญากับเอกชนไว้เหมือนกัน เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไปทะเลาะกับคู่สัญญา มีการฟ้องร้องกัน เมื่อ กสทช.เรียกคืนมา ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ไม่ยอม ก็ฟ้องกัน และศาลตัดสินให้ กสทช.ชนะ เพราะกรมประชาสัมพันธ์มีสัญญาก็จริง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่านำคลื่นไปทำกิจการ ก็เลยฟรี
2.กรณี อสมท ถูกเรียกคืนคลื่น 700 MHz ก่อนหน้านี้ กสทช. ก็ไม้ต้องจ่ายเงินให้ อสมท เลย และเอาไปประมูลฟรี ก็เหตุผลเดียวกัน
@เชื่อ อสมท เลือก ‘เพลย์เวิร์ค’ แม้เป็นบริษัทเล็กแต่มีไอเดีย
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท เพลย์เวิร์ค อาจเป็นบริษัทแค่ในกระดาษที่ไม่ได้มีการลงทุนอะไร แต่กลับได้รับส่วนแบ่งเงินเยียวยากว่า 1,600 ล้านบาท จิตรนรา กล่าวว่า “เพราะคนอาจไม่รู้ว่าไอเดียของธุรกิจนี้คืออะไร และคนทั่วไปมองแต่ว่าเขาเป็นบริษัทเล็ก เหมือนผมที่ตอนแรกไม่เชื่อว่าจะทำธุรกิจได้ขนาดนี้ แต่ทันทีที่ได้ฟัง ถ้าเขาทำสำเร็จ เขาจะเป็นบริษัทที่ใหญ่ เหมือนสตีฟ จ็อบ ,มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ทำธุรกิจในโรงรถ แต่ไอเดียบรรเจิด แม้จะเป็นบริษัทเล็กๆ
ส่วนเรื่องจดทะเบียนที่ไหน ผมไม่ได้ติดใจ แต่ด้วยไอเดียธุรกิจของเขาทำให้ อสมท ยอมทำธุรกิจด้วย และที่ อสมท เลือกเขา ก็เพราะเพลย์เวิร์คมีไอเดีย ผมจึงเชื่อผู้บริหารขณะนั้น ฟังไอเดียแล้วปิ๊งว่าใช้คลื่นอย่างนี้แล้วมีประโยชน์กับ อสมท ทำให้เขาขายดาต้าได้โดยไม่อั้น เพราะคลื่นมันใหญ่มาก จะดูหนัง ฟังเพลงก็ทำได้บนคลื่นนี้ได้เลย ไม่ต้องห่วงและไม่แพงด้วย ต่างกับคลื่น 3G ที่ยังแพงอยู่
และธุรกิจนี้ไม่ใช่เคเบิลทีวี แต่มันการเอาคลื่นที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือมารับส่งข้อมูล แต่เป็นภาพยนตร์ หรือเพลง ซึ่งมันก็คือ Netflix ดีๆนี้เอง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว Netflix ยังไม่เกิด ถ้าทำสำเร็จเรื่องนี้ เราจะเป็นประเทศแรกในโลกเลย และ อสมท จะเป็นผู้นำในตลาดนี้ของโลก เราอาจได้เอี่ยวกับธุรกิจบันเทิงอื่นๆ มันน่าจะได้มาก”
จิตรนรา ยังประเมินว่า ส่วนตัวเชื่อว่าแม้ว่าบอร์ด กสทช. จะมีมติให้แบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ให้ อสมท กับคู่สัญญา คือ เพลย์เวิร์คไปแล้ว แต่น่าอาจจะมีการฟ้องกันในศาลฯ เพราะตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ นั้น การรับสัญญาจะเริ่มนับปีที่ 1 ปลายปี 2561 เพราะเป็นปีที่ อสมท และคู่สัญญา เริ่มธุรกิจนี้ได้ ดังนั้น เมื่อหักกับอายุสัญญาที่มี 15 ปี จะเท่ากับว่า อสมท มีเวลาใช้คลื่น 13 ปีกว่าๆ แต่สุดท้ายกสทช. ตัดสินให้เขา 6 ปี 5 เดือน
“เราเริ่มนับว่าเขาสามารถเริ่มประกอบธุรกิจได้ปลายปี 2561 แล้วต่อมา กสทช.เรียกคืนคลื่นไป สัญญา 15 ปี แต่แหว่งไปปีกว่าจึงเหลือ 13 ปี แต่ในท้ายที่สุด กสทช. ให้เขา 6 ปี 5 เดือน ผมว่าเขาคงไปฟ้องที่ศาลปกครอง เพราะกสทช.ตีความต่างจากอนุกรรมการฯเสนอ สุดท้ายเขาคงไม่ว่ากันที่ศาลฯว่า สุดท้ายแล้วใครมีสิทธิ์ใช้คลื่นได้เท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลังจาก อสมท ได้หนังสือแจ้งมติ กสทช.แล้ว” จิตรนรากล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดมติ กสทช. ปี 57 ว่าด้วยปัญหาข้อกม. 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค' ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS
ไม่มีอำนาจ! ปธ.บอร์ด ‘อสมท’ งัดกม.แจง ‘เทวัญ’ หลังสั่งสอบกรณีเยียวยาคลื่น 3.2 พันล้าน
เบื้องลึก! กสทช. 'กลับลำ-กลับมติ' ปี 57 ว่าด้วยการใช้คลื่น 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค'
เปิดตัว บ.เพลย์เวิร์คฯ ได้รับเงินเยียวยาคลื่นจาก 'กสทช.- อสมท' 1.6 พันล.
อาจใช้อำนาจมิชอบ! 'ปาริชาต'ท้วง’เขมทัตต์'ชง กสทช.แบ่งเงิน 1.6 พันล.ให้ ‘เพลย์เวิร์ค’
ยันรักษาผลประโยชน์ อสมท! ‘เขมทัตต์’ แจงปมแบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้คู่สัญญา
เยียวยาคลื่น 2600! กสทช.จ่ายชดเชย 'อสมท' 3.2 พันล. แบ่ง 'เพลย์เวิร์ค' 50%
‘พล.ต.ท.จตุพล’กก.อสมท ทรัพย์สิน 95 ล.รายได้ 58 ล.-‘พสุ’พ้นปลัดอุตฯเดือนเศษเพิ่ม 14 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/