วุฒิสภาตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ผู้สมัคร กสทช.ใหม่ 14 ราย ขีดกรอบกำหนดใน 15 วันเพื่อให้ทันก่อนปิดประชุมสมัยสภา เผยบางส่วนค้านหนัก หวั่นเร่งรัดเกินไป-กระทบการทำงานไม่รอบคอบ
.........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาเรื่องด่วน การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. นำเสนอรายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 14 ราย ให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้เหลือ 7 ราย ภายใน 30 วันตามกฎหมาย กสทช.
รายงานข่าวแจ้งว่า ส.ว.บางส่วนตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ทั้งกรอบเวลาทำงานตรวจสอบประวัติ หลังจากมีกระแสข่าวว่า วุฒิสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ในวันที่ 23 ก.พ. 2564 ทำให้เวลาทำงานของ กมธ.สอบประวัติฯ ต้องเร่งรัด รวมถึงการตั้ง กมธ.ด้วย
โดย ส.ว.หลายรายอภิปรายไม่เห็นด้วยถึงการเร่งรัดตั้ง กมธ.สอบประวัติฯ เช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ที่เห็นว่า การตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ต้องเร่งรัดการทำงาน เพื่อให้ทันปิดสมัยประชุม ในวันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยจะกระทบต่อการทำงานที่ไม่รอบคอบ ตามมาตรฐานการทำงานที่ผ่านมา และสังคมไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ดีนายพรเพชร กล่าวว่า งงกับกฎหมาย กสทช.ฉบับปัจจุบัน และร่างกฎหมาย กสทช. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวุฒิสภาว่าด้วยการให้อำนาจ ส.ว.ทำหน้าที่เห็นชอบ และให้เวลา 30 วัน ไม่มีข้อยกเว้นหรือทางเลือก แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พิจารณารายละเอียดและสอบถามจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยระบุว่า กระบวนการตรวจสอบประวัตินั้น กฎหมาย กสทช. ไม่ได้กำหนด แต่การตรวจสอบประวัติต้องทำตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 105
รายงานข่าว ระบุอีกว่า การอภิปรายของ ส.ว. มีความเห็นว่า ควรทำงานตามกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ดำเนินการ 15 วัน และยึดตามกฎหมายที่ใช้บังคับปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยนายพรเพชร สรุปว่า ให้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย คือ การตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ จำนวน 15 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำหรับรายชื่อกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้ง 15 คน ประกอบด้วย
1.นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน คณะกรรมาธิการพลังงาน
2.นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ
3.พล.อ.ทวีป เนตรนิยม คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
4.พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน
5.พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
6.พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว
7.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ คณะกรรมาธิการการคมนาคม
8.ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี คณะกรรมาธิการการทหารฯ
9.พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น
10.พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ
11.นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร คณะกรรมาธิการการกีฬา
12.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
13.พล.อ.สกล ชื่นตระกูล คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ
14.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
15.นายสมชาย แสวงการ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมวุฒิสภายังมีมติด้วยคะแนนเสียง 126 เสียง ต่อ 68 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงาน 15 วัน นับจากวันที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบรายชื่อกรรมาธิการฯ
ทั้งนี้ การพิจารณาวาระดังกล่าว พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายก่อนการลงมติกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของกรรมาธิการฯ ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯกำหนดว่า เมื่อเลขาธิการวุฒิสภาส่งรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. มาให้วุฒิสภาฯคัดเลือก วุฒิสภาต้องคัดเลือกกรรมการ กสทช.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เมื่อเลขาธิการวุฒิสภาส่งเรื่องมาให้วุฒิสภาในวันที่ 3 ก.พ.2564 จึงเหลือระยะเวลาก่อนปิดสมัยประชุม 25 วัน
อย่างไรก็ตาม หากกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของกรรมาธิการฯไว้ที่ 30 วัน จะไปคาบเกี่ยวกับการเปิดสมัยประชุมสามัญในสมัยหน้า แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า กรรมการ กสทช. มีหน้าที่ในการดูแลกิจการที่เป็นแหล่งผลประโยชน์ของประเทศชาติมูลค่านับล้านล้านบาท ดังนั้น เมื่อกระบวนการในการคัดเลือกกรรมการ กสทช. ซึ่งกำลังถูกจับตาจากสังคมอย่างกว้างขวางนั้น หากกำหนดเวลาไว้เพียง 15 วัน จะเห็นได้ว่าเป็นระยเวลาที่น้อยเกินไป
"กรรมาธิการฯมีหน้าที่ตรวจสอบประวัติ คุณธรรม จริยธรรม ผลงาน และประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 วุฒิสภาได้วางมาตรฐานในการคัดเลือก กสทช. ว่า ต้องให้ผู้มีรายชื่อมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภา เนื่องจากกระบวนการคัดเลือก กสทช.นั้น จะแตกต่างจากการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆที่ส่งรายชื่อมาเพียงตำแหน่งละ 1 คน แล้วให้วุฒิสภาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แต่เมื่อการคัดเลือก กสทช. แต่ละด้าน ส่งมา 2 คน และเลือกให้เหลือ 1 คน จึงจำเป็นต้องให้สมาชิกวุฒิสภาใช้ดุลพินิจที่ครบถ้วนพอสมควร อย่างน้อยจะได้เปรียบเทียบว่าระหว่าง 2 คนนั้น ใครดีที่สุด เพื่อให้ไปทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเวลา 30 วันยังน้อยไป
แต่การที่วิปฯสภาเสนอเพียง 15 วัน เพื่อให้จบในวันที่ 23 ก.พ.2564 นั้น ทำให้สังคมตั้งคำถามและสงสัยว่า ทำไมวุฒิสภาไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เช่น ถ้ากำหนด 25 วัน แล้วกรรมาธิการฯสามารถดำเนินการเสร็จโดยเร็ว แล้วส่งมาให้วุฒิสภาคัดเลือก มันก็ไม่ผิดอะไร แต่การไปกำหนดเวลาไว้ที่ 15 วันนั้น เป็นการบีบบังคับ เร่งรัดกับกรรมาธิการฯเกินไป และเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ผลกระทบทั้งหมดจะมาตกกับวุฒิสภาแห่งนี้ เพราะวุฒิสภาแห่งนี้ไปกำหนด 15 วัน ผมจึงเห็นว่า 15 วันไม่เพียงพอ ควรกำหนด 25 วันเต็มตามที่กฎหมายกำหนด" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
ด้านนายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาวิสามัญกิจการวุฒิสภา กล่าวว่า มติของคณะกรรมาวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปฯ) ที่กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของกรรมาธิการฯที่ 15 วันนั้น เป็นมติที่ประธานคณะกรรมาธิการฯทุกคณะ ซึ่งรวมถึงประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาทุกคน เห็นชอบ และเรื่องนี้คณะกรรมาวิสามัญกิจการวุฒิสภาฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และระยะเวลา
"ระยะเวลา 15 วันนั้น เพียงพอแล้ว เพราะคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ จะทำงานมากกว่าภารกิจปกติ โดยจะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือมากกว่านั้น เพื่อทำให้การตรวจสอบประวัติ เป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม และตรงกันระยะเวลาที่สิ้่นสุดสมัยประชุมพอดี ผมเชื่อว่าท่านกรรมาธิการและเพื่อนสมาชิกเมื่อเห็นขอมูลแล้ว สามารถตัดสินใจเลือกคนในจำนวนที่กำหนดได้" นายวันชัย กล่าว
อ่านประกอบ :
ปัดแจงปมคุณสมบัติ'ว่าที่กสทช.'! บอร์ดสรรหาฯชี้มีหน้าที่แค่'กลั่นกรอง'-รีบส่งชื่อกันวิ่งเต้น
ใครเป็นใคร? โพรไฟล์-ธุรกิจ 14 ผู้สมัครผ่านการสรรหา กสทช.-ชง ส.ว.ให้ความเห็นชอบ
สมบัติ 2.4 พันล.‘พล.ท.พีระพงษ์’นั่ง กสทช.ครบ 3 ปี-ภริยานักธุรกิจดังซื้อ‘เบญจภาคี’15 ล.
เบื้องหลัง ‘ฐากร-ไก่อู’ หลุดโผ! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ชี้อาจขาดคุณสมบัติ-หวั่นวุฒิฯตีตก
ชง 14 รายชื่อว่าที่ ‘กรรมการ กสทช.’ ให้วุฒิสภาโหวต-‘ฐากร-เสธ.ไก่อู’ หลุดโผ
รอผลสรรหา 'กสทช.' ชุดใหม่! กมธ.วุฒิฯชงขยายเวลาถกร่าง กม.จัดสรรคลื่นฯ 30 วัน
ปิดรับสมัครกรรมการกสทช.! ตบเท้าเข้าชิง 80 ราย ‘เสธฯไก่อู-ฐากร-อดีตผบ.ทอ.’ แข่งด้วย
‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ยื่นใบสมัครชิงเก้าอี้ 'กรรมการ กสทช.'
คัดเลือกกรรมการกสทช.คึกคัก! ล่าสุดมีผู้สมัครแล้ว 26 ราย ‘อดีตรองผบ.สส.’ ลงแข่งด้วย
เปิดรับสมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ 14-28 ต.ค.นี้ ประสบการณ์ 10 ปี-ผลงานเป็นที่ประจักษ์
ทรัพย์สิน 76 ล.‘ฐากร’พ้นเลขาฯ กสทช. ถอยรถให้บุตร 5.5 ล.-ค่าปรับทุนการศึกษาลูก 6.6 ล.
รัดกุม-ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย! บอร์ดสรรหา 7 องค์กร ถกนัดแรก รื้อเกณฑ์คัดเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่
ต่ออายุ ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ นั่งเก้าอี้เลขาธิการ กสทช. อีก 1 เดือนครึ่ง
กสทช. ประกาศทิศทางการดำเนินงาน ปี 63 เดินหน้าประมูล 5G
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/