‘ฐากร’ เผยลงนามหนังสือแจ้งมติบอร์ด กสทช. กรณีจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz กว่า 3.2 พันล้านบาท ไปยังประธานบอร์ด อสมท แล้ว ระบุหากไม่พอใจมติ ให้ยื่นฟ้องศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน พร้อมระบุ กสทช. ไม่เคยมีมติให้แบ่งเงินเยียวยาระหว่าง ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ เป็น 50 ต่อ 50 ส่วนจะแบ่งอย่างไรให้เป็นเรื่อง 'อสมท' เอง แจงไม่รับข้อเสนอเยียวยาของอนุกรรมการฯ 7 หน่วยงาน เหตุเสนอจ่ายเงินเยียวยาสูงถึง 1 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ตนเองได้ลงนามหนังสือแจ้งมติบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 เรื่องการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว และจะส่งหนังสือแจ้งมติบอร์ด กสทช.ดังกล่าว ไปให้พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ประธานบอร์ด อสมท ต่อไป
สำหรับหนังสือแจ้งมติบอร์ด กสทช. มีเนื้อหาประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก แจ้งผลการเยียวยาการเรียกคืนคลื่น 2500-2690 MHz ของบริษัท อสมท โดยบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับ อสมท เป็นเงิน 3,235.83 ล้านบาท โดยกำหนดจากสิทธิการถือครองคลื่นของ อสมท ที่มีอยู่ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 ปี 5 เดือน
ประเด็นที่สอง แจ้งมติบอร์ด กสทช. เรื่องการรับทราบหนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย.2563 เรื่อง แจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ ที่ลงนามโดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท
ซึ่งหนังสือของนายเขมทัตต์ ระบุใน 2 เรื่อง คือ 1.กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายของ บมจ. อสมท ในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหาร บมจ. อสมท
และ2.สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง บมจ. อสมท กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวจำนวนเท่าๆ กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ บมจ. อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด
ประเด็นที่สาม หาก อสมท ไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ด กสทช. ให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติแล้ว
นายฐากร กล่าวถึงกรณีที่อดีตกรรมการ อสมท จำนวน 2 ราย ทำหนังสือมายัง กสทช. โดยทักท้วงว่านายเขมทัตต์ ไม่มีอำนาจเสนอแบ่งเงินเยียวยาให้กับบริษัท เพลย์เวิร์ค เท่าๆกับ อสมท และถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ว่า จะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมบอร์ด กสทช. วันพุธที่ 24 มิ.ย.นี้
“การที่อดีตกรรมการ อสมท 2 ท่าน ทำหนังสือทักท้วง ว่า นายเขมทัตต์ไม่มีอำนาจเสนอให้แบ่งเงินระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค ฝ่ายละเท่าๆกัน และเป็นการใช้อำนาจมิชอบนั้น จะมีการนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช. พิจารณาในวันพุธหน้า เพราะถือเป็นข้อมูลใหม่ ซึ่งบอร์ด กสทช. อาจเชิญประธานบอร์ด อสมท และนายเขมทัตต์ มาชี้แจงและยืนยันว่าว่า มีอำนาจหรือใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหมายหรือไม่” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยังกล่าวถึงการพิจารณาของบอร์ด กสทช. ในการจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ให้กับ อสมท ว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz
และต่อมาบอร์ด กสทช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮริตซ์ 7 หน่วยงาน เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการจ่ายเงินเยียวยา
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ คณะอนุกรรมการฯได้นำรายงานการศึกษาของทั้ง 3 สถาบัน มาพิจารณา แต่ทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษา โดยเฉพาะรายงานของสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เห็นว่าระยะเวลาที่ อสมท มีสิทธิถือครองคลื่น 2600 MHz อยู่ที่เพียง 3 ปีเท่านั้น
ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สิทธิในการถือครองคลื่นที่ อสมท มีอยู่ควรจะเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทำให้กรอบวงเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ที่ อสมท สมควรได้รับจะอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท และคณะอนุกรรมการฯยังเสนอให้แบ่งเงินเยียวยาระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค เป็น 50 ต่อ 50 อีกด้วย
นายฐากร กล่าวต่อว่า เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ฯ เสนอแนวทางการเยียวยาคลื่น 2600 MHz ของ อสมท มาให้บอร์ด กสทช. พิจารณา บอร์ดกสทช. ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ เสนอ ขณะที่คณะอนุกรรมการกฎหมาย ของ กสทช. ที่มีนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ได้ตั้งคำถามใน 2 ประเด็น
คือ 1.สิทธิในการถือครองคลื่นที่ อสมท ควรจะได้รับการเยียวยาควรเป็นระยะเวลากี่ปี และ2.บอร์ด กสทช. มีอำนาจในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ เพลย์เวิร์ค หรือไม่ และอย่างไร
“บอร์ด กสทช. ไม่รับผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินเยียวยาที่ให้จ่ายให้ อสมท กว่า 1 หมื่นล้านบาท จำนวนปีที่ อสมท มีสิทธิในคลื่นเป็นเวลา 15 ปี และวิธีการแบ่งเงินที่ให้แบ่งเงินระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค ฝ่ายละ 50 ต่อ 50 เพราะ กสทช.ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเพลย์เวิร์ค แต่เป็นเรื่องของ อสมท จากนั้นบอร์ด กสทช.ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ คือ สำนักงาน กสทช. ไปศึกษาเรื่องนี้และนำกลับมาเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอีกครั้ง” นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า หลังจากสำนักงานกสทช. ได้ทำการศึกษาแนวทางการเยียวยาตามที่บอร์ด กสทช. มอบหมายแล้ว ก็ได้เสนอแนวทางเยียวยาใหม่มาให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ซึ่งมี 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกให้นับเวลาสิทธิการถือครองคลื่นของ อสมท เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มนับจากวันที่ อสมท และเพลย์เวริ์ค เริ่มประกอบกิจการบนคลื่น 2600 MHz ได้จริง
แนวทางที่ 2 ให้นับเวลาที่ อสมท ได้สิทธิถือครองคลื่นเป็นระยะเวลา 6 ปี 5 เดือน ซึ่งเริ่มนับจากปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ให้ อสมท ดำเนินธุรกิจบนคลื่น 2600 MHz ได้ แม้ว่าขณะนั้นการดำเนินธุรกิจจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะติดปัญหาการนำเข้าอุปกรณ์ตาม โดยให้นับไปถึงปี 2565ฃ
และแนวทางที่ 3 ให้นับระยะเวลาที่ อสมท มีสิทธิถือครองคลื่น 10 ปี โดยเริ่มนับจากปี 2555 ถึง 2565 ซึ่งทางสำนักงานเห็นว่า เป็นไปได้น้อย
อย่างไรก็ดี บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้เลือกแนวทางที่ 2 คือ กำหนดระยะเวลาถือครองคลื่นของ อสมท ไว้ที่ 6 ปี 5 เดือน และให้จ่ายเงินเยียวยา อสมท ที่ 3,200 ล้านบาท
นายฐากร ระบุว่า จากนั้นบอร์ด กสทช. เชิญนายเขมทัตต์มาชี้แจงว่า จะมีการแบ่งเงินเยียวยาให้คู่สัญญา คือ เพลย์เวิร์ค ที่ได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เพราะบอร์ด กสทช. ไม่รู้ว่าเพลยเวิร์ค ลงทุนอะไรไปแล้วบ้างและเท่าไหร่แล้ว อีกทั้งตามข้อกฎหมาย แม้จะมีการระบุว่า เมื่อเรียกคืนคลื่นแล้วจะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่กฎหมายมีการระบุชัดเจนว่า จะเยียวยาหรือไม่เยียวยาก็ได้
ต่อมานายเขมทัตต์ได้มีหนังสือ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย.2563 ถึงบอร์ด กสทช. ขอให้แบ่งเงินระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค เท่าๆกัน พร้อมทั้งระบุว่าได้รับมอบอำนาจจากประธานบอร์ด อสมท แล้ว
“บอร์ด กสทช. ไม่มีได้มีมติเห็นชอบตามหนังสือที่นายเขมทัตต์ ส่งมา เพียงแต่รับทราบเท่านั้น ดังนั้น เมื่อ อสมท ได้เงินเยียวยาไปแล้ว อสมท จะไปแบ่งให้เพลย์เวิร์คอย่างไร ก็เป็นเรื่องของ อสมท ไม่เกี่ยวกับบอร์ด กสทช. แต่อย่างใด แต่หาก อสมท ไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ด กสทช. ที่ให้จ่ายเงินเยียวยา 3,200 ล้านบาท ก็ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง” นายฐากรกล่าว
อ่านประกอบ :
ไม่แบ่ง‘เพลย์เวิร์ค’! ‘เขมทัตต์’ปัดขอค่าเยียวยาคลื่นฯ 3.2 พันล.-ซัด กสทช.ไม่ทำตาม กม.
ประธานอนุกก.เยียวยาคลื่น 2600 : ทำไมต้องแบ่งเงิน ‘อสมท-เพลย์เวิร์ค’ 50 ต่อ 50
เปิดมติ กสทช. ปี 57 ว่าด้วยปัญหาข้อกม. 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค' ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS
ไม่มีอำนาจ! ปธ.บอร์ด ‘อสมท’ งัดกม.แจง ‘เทวัญ’ หลังสั่งสอบกรณีเยียวยาคลื่น 3.2 พันล้าน
เบื้องลึก! กสทช. 'กลับลำ-กลับมติ' ปี 57 ว่าด้วยการใช้คลื่น 'อสมท -บ.เพลย์เวิร์ค'
เปิดตัว บ.เพลย์เวิร์คฯ ได้รับเงินเยียวยาคลื่นจาก 'กสทช.- อสมท' 1.6 พันล.
อาจใช้อำนาจมิชอบ! 'ปาริชาต'ท้วง’เขมทัตต์'ชง กสทช.แบ่งเงิน 1.6 พันล.ให้ ‘เพลย์เวิร์ค’
ยันรักษาผลประโยชน์ อสมท! ‘เขมทัตต์’ แจงปมแบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้คู่สัญญา
เยียวยาคลื่น 2600! กสทช.จ่ายชดเชย 'อสมท' 3.2 พันล. แบ่ง 'เพลย์เวิร์ค' 50%
‘พล.ต.ท.จตุพล’กก.อสมท ทรัพย์สิน 95 ล.รายได้ 58 ล.-‘พสุ’พ้นปลัดอุตฯเดือนเศษเพิ่ม 14 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/