"...เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 โดยเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริษัทที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย” และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 ข้อ 63 และข้อ 137 ซึ่งการแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจดำเนินการซื้อหรือจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษจากบริษัทที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และทำให้กรุงเทพมหานครสามารถทำสัญญาจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่เป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครโดยวิธีกรณีพิเศษ..."
คดีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 หรือ คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ที่ปรากฏข่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพ (กทม.) และพวกรวม 12 ราย ไปตั้งแต่ในช่วงเดือน ก.ย.2566
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าล่าสุดไปแล้วว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีนี้ และได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. พิจารณาหาข้อยุติรวมกัน แต่หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องร้องคดีนี้เองตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ผลการพิจารณาของคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนตามความเห็น อสส. จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แต่ข้อมูลสำคัญชุดหนึ่งที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการเกี่ยวกับคดีนี้ คือ รายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาในคดี และมติชี้มูลความผิดฉบับเต็มของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่ อสส.จะตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีนี้
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ ข้อกล่าวหา
คดีนี้ระบุข้อกล่าวหาเป็นทางการ คือ กรณีกล่าวหา หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวก ขยายอายุสัญญาสัมปทานหรือทำสัญญาเพิ่มเติมโดยเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนได้ประกอบกิจการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ทั้งที่เหลืออายุตามสัญญาเดิม
@ พฤติการณ์
พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 กรุงเทพมหานครได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จ ากัด (มหาชน) จำนวน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางสายสุขุมวิทและสายสีลม มีระยะเวลา 30 ปี นับแต่วันแรกที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเริ่มประกอบธุรกิจ คือวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2572
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายทั้งสองเส้นทางโดยอนุมัติให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดหาผู้ลงทุนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในรูปแบบการลงทุนทำนองเดียวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมายื่นข้อเสนอโครงการ กรุงเทพมหานครจึงดำเนินงานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลมด้วยงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 โดยเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริษัทที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย” และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 ข้อ 63 และข้อ 137 ซึ่งการแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจดำเนินการซื้อหรือจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษจากบริษัทที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และทำให้กรุงเทพมหานครสามารถทำสัญญาจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่เป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครโดยวิธีกรณีพิเศษ
@ หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร
โดยเมื่อกองการขนส่งสำนักการจราจรและขนส่ง ได้เสนอโครงการบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลม ในปีงบประมาณ 2552 – 2555 และนายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ได้อนุมัติโครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดสัญญาบริหารจัดการเดินรถระหว่างกรุงเทพมหานครผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้าง ตามสัญญาเลขที่ 22-5-52 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ส่วนต่อขยายสายสีลม ระยะเวลา 3 ปี และสัญญาเลขที่ 22-4-54 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะเวลา 1 ปีและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการส่วนต่อขยายดังกล่าว
@ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์
ต่อมาก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะสิ้นสุดลงสำนักการจราจรและขนส่ง ได้เสนอบันทึก ด่วนที่สุด ลงวันที่ 5 มกราคม 2555 เสนอขอความเห็นชอบในหลักการว่าเมื่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ธันวาคม 2572 ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารจัดการเดินรถโดยรวมกับการบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลม เป็นสัญญาเดียวกัน ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เห็นชอบตามที่เสนอและอนุมัติให้ดำเนินการจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ ตามข้อบัญญัติกรุงเพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 วงเงิน 1,785,191,276 บาท และต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กธ.ส. 006/55 กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 วงเงิน 187,141,625,789 บาท โดยไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ที่อนุมัติให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดหาผู้ลงทุนโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และในการทำสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กรุงเทพมหานคร มิได้จัดส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแต่อย่างใด
การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการที่กรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จ ากัด (มหาชน) มีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ประกอบกิจการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครต่อไปอีก13 ปี ทั้งที่ยังเหลืออายุสัญญาเดิมอีกถึง 17 ปี โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
ผลจากการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โครงการไม่ได้ผ่านการพิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการคลัง ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีไม่ผ่านมติของคณะกรรมการดำเนินโครงการที่ได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนผู้มีความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานตามมาตรา 13 และไม่ผ่านมติของคณะกรรมการ
ประสานงาน ทำให้ขาดการติดตามกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญาตามมาตรา 21 ทำให้สัญญาจ้างมีปัญหาในทางเสียเปรียบและไม่รัดกุมเพียงพอ เป็นเหตุให้การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องประสบปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อสถานะทางการคลังของกรุงเทพมหานครเป็นเวลานาน รวมทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สามารถเข้ามาเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร โดยมิได้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. การกระทำของหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 (8)
2. การกระทำของนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายจุมพล สำเภาพล และนายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)
ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3. การกระทำของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด
สำหรับนายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ผู้อำนวยการกองการขนส่ง ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ในส่วนการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย คดีความทางอาญา ป.ป.ช. เห็นชอบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
การดำเนินการทางวินัย ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 9 8 พร้อมแจ้งผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย
เหล่านี้ คือ รายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา และมติชี้มูลความผิดฉบับเต็มของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นทางการ ก่อนที่ อสส. จะได้ตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีนี้ และได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. พิจารณาหาข้อยุติรวมกันตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด โดยผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ หากมีการตรวจสอบพบเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
- BTSC ยื่นขอความเป็นธรรม 'อัยการฯ' สู้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีสายสีเขียว
- ศาลรธน.ยกคำร้อง BTSC กล่าวหา ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ขัดรัฐธรรมนูญ
อ่านประกอบ
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯก่อน
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55