“…เวลาที่ใครพูดว่า เราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร เอาเรื่องหนี้นี่แหละ ถ้าแก้ได้ และก็แก้ได้โดยแก้ระเบียบฯ ทำตามมติ ครม. ก็ทำให้ขวัญกำลังใจของทหาร 5.3 หมื่นนาย หรือ 8 หมื่นนาย ดีขึ้นทันที ถ้าขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำจากภาวะหนี้สินรุมเร้า ถามว่าจะมีกำลังจิตกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ไหม ก็ไม่มี และนี่ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงเหรอ…”
..................................
“เวลาพูดถึงหนี้สินข้าราชการ มักจะมีแต่ข่าวหนี้สินของข้าราชการครูเสียเป็นส่วนใหญ่ (ครูถูกหักเงินเดือนชำระหนี้จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30%)...เราก็เลยมาเทียบเคียงว่า ปัญหาเหล่านี้ มีกับข้าราชการทหารหรือไม่ ก็ปรากฏว่าพอเราไปตรวจสอบข้อมูล โดยการสุ่มสอบถามพบว่า มีปัญหาไม่แตกต่างกัน และอาจรุนแรงไม่แพ้กันด้วยซ้ำ
แล้วเราก็สงสัยต่อว่า ปัญหารุนแรงแค่ไหน ปรากฏว่าพอไปดูข้อมูล ก็พบว่ามีทหารถูกหักเงินเดือนจนรายได้เหลือน้อยกว่า 30% คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 หรือ 5.3 หมื่นนาย จากข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพ 2.5 แสนนาย และยังพบว่าเกือบ 1 ใน 3 หรือกว่า 8 หมื่นนาย มีรายได้น้อยกว่า 9,000 บาท/เดือน น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 กว่าบาทอีก”
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หลังจากก่อนหน้านี้ ‘กมธ.การทหาร’ ที่มี วิโรจน์ นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทน 4 เหล่าทัพ เข้ามาชี้แจงปัญหา ‘หนี้ทหาร’
วิโรจน์ ยังระบุด้วยว่า “จากบอกเล่า พบว่ามีทหารที่ถูกหักเงินเดือนชำระหนี้จนเหลือเงินใช้ระดับ 2,000-3,000 บาท/เดือน ก็มี จึงเกิดปัญหาว่า แล้วเขาและครอบครัวเขาจะดำรงชีวิตได้อย่างไร เพราะนอกจากเงินที่ถูกสหกรณ์ฯหักแล้ว เขาต้องมานั่งจ่ายหนี้สถาบันการเงินอื่นๆด้วย..
และเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เรื่อง การแก้หนี้สินทั้งระบบ และมติ ครม. ดังกล่าวถือเป็นกฎหมายเหมือนกัน แต่เป็นกฎหมายรอง เราก็งงว่า แต่ทำไมกระทรวงกลาโหม ไม่เร่งออกระเบียบฯภายใน เพื่อให้สอดรับกับมติ ครม. ที่ห้ามไม่ให้หักเงินเดือนให้เหลือน้อยกว่า 30%”
@ทหาร-ลูกจ้าง 5.3 หมื่น เหลือเงินหลังหักหนี้น้อยกว่า 30%
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 คณะกรรมาธิการการทหาร ได้เชิญผู้แทน 4 เหล่าทัพ และสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาชี้แจงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการทหาร
โดยปรากฏข้อมูลว่า มีข้าราชการทหารและลูกจ้างฯที่ถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้จนเงินเหลือน้อยกว่า 30% จำนวน 53,210 นาย/คน จากกำลังพลทั้งหมด 250,507 นาย/คน หรือ 21.24% และมีข้าราชการและลูกจ้างฯที่ถูกหักเงินเดือนชำระหนี้แล้วเหลือเงินสุทธิไม่ถึง 9,000 บาท 81,030 นาย/คนหรือคิดเป็น 32.35% ประกอบด้วย
กองทัพบก มีข้าราชการทหารและลูกจ้างที่อยู่ในระบบจ่ายตรง 138,224 ราย ปรากฏข้อมูลว่า มีกำลังพลที่เงินเหลือน้อยกว่า 30%จำนวน 28,306 ราย แบ่งเป็นข้าราชการ 27,343 นาย และลูกจ้าง 963 คน และมีกำลังพลที่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 9,000 บาท จำนวน 42,548 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 41,627 นายและลูกจ้าง 921 คน
ทั้งนี้ การหักเงินเดือนข้าราชการทหารบก เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และคำสั่ง รวม 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ข้อ 30
ฉบับที่สอง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ (e-Payroll) ของกรมบัญชีกลาง พ.ศ.2567 ข้อ 3 ฉบับที่สาม คำสั่งกองทัพบก (คำสั่งชี้แจง) ที่ 121/2542 ลง 5 มี.ค.2542 เรื่อง การหักเงินรายเดือนของข้าราชการและลูกจ้าง
ฉบับที่สี่ หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนทหารกองประจำการตามโครงการจ่ายตรงผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูล สวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ข้อ 2
(ที่มา : ข้อมูลของกองทัพบก ที่เสนอคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567)
กองทัพเรือ มีข้าราชการทหาร (นายนาวา ,นายเรือ ,พันจ่า ,จ่า) ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพลอาสา จำนวน 47,293 นาย/คน มีข้าราชการทหารและลูกจ้างฯ ถูกหักเงินเพื่อชำระหนี้ โดยมีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30% ของเงินเดือน 11,158 นาย/คน หรือคิดเป็น 23.6% ของจำนวนกำลังพลทั้งหมด
ส่วนข้าราชการทหารและลูกจ้างฯ ที่ได้รับเงินเดือน (เกณฑ์รายรับสุทธิ) น้อยกว่า 9,000 บาท มีจำนวน 15,324 นาย/คน หรือคิดเป็น 32.4 ของจำนวนกำลังพลทั้งหมด
(ที่มา : ข้อมูลกองทัพเรือ ที่เสนอคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567)
กองทัพอากาศ ปัจจุบันมีข้าราชการประจำกองทัพอากาศ (ณ มิ.ย.2567) จำนวน 36,799 นาย/คน มีข้าราชการฯที่รับเงินเดือนสุทธิต่ำกว่า 30% ของอัตราเงินเดือน จำนวน 8,289 นาย/คน คิดเป็น 22.46% ของข้าราชการฯทั้งหมด และมีข้าราชการฯที่มีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักหนี้เงินกู้ฯน้อยกว่า 9,000 บาท จำนวน 11,964 นาย/คน คิดเป็น 32.51%
ทั้งนี้ ข้าราชการประจำกองทัพอากาศ มีจำนวนหนี้สิ้นทุกประเภทรวม 431.6 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ 287.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 66.61% ของหนี้สินทั้งหมด และมีข้าราชการฯที่ถูกหักหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ 28,048 ราย หรือคิดเป็น 76% ของข้าราชการฯทั้งหมด
นอกจากนี้ ในปัจจุบันพบว่ากำลังพลของกองทัพอากาศ (ทอ.) จำนวน 481 นาย/คน ชำระหนี้ไม่ตรงตามสัญญาเงินกู้ต่อสถาบันการเงินที่มีข้อตกลงกับกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่แก้ไขอาจจะต้องถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน
(ที่มา : ข้อมูลกองทัพอากาศ ที่เสนอคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567)
กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ปัจจุบันสถานภาพข้าราชการสังกัด บก.ทท. มีจำนวนทั้งสิ้น 21,021 นาย/คน มีจำนวนข้าราชการทหารและลูกจ้างฯ ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้และเงินเหลือน้อยกว่า 30% จำนวน 4,916 นาย/คน และมีข้าราชการทหารและลูกจ้างฯที่ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้และมีเงินเหลือน้อยกว่า 9,000 บาท 8,324 นาย/คน
(ที่มา : ข้อมูลกองบัญชาการกองทัพไทย เสนอคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567)
สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันกำลังพลทั้งสิ้น 7,170 นาย/คน มีข้าราชการทหารและลูกจ้างฯที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% จำนวน 541 นาย/คน หรือคิดเป็น 7.55% และมีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 2,870 คน คิดเป็น 40.03%
@จี้‘สหกรณ์ฯ’ร่วมรับผิดชอบ ปล่อยกู้ไม่ดูศักยภาพลูกหนี้
“ที่ชอบจินตนาการกันในเรื่องภาวะสงคราม ผมจินตนาการเหมือนคุณก็ได้ แม้ว่าผมไม่เชื่อว่าภาวะสงครามมันเกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น แต่ถ้ามีภาวะสงครามเกิดขึ้นจริง แล้วข้าศึกรู้ว่าทหารของเรา 1 ใน 3 มีเงินกินใช้น้อยกว่า 9,000 บาท และกำลังพล 1 ใน 5 ถูกหักเงินเดือนจนเหลือน้อยกว่า 30% แล้วคุณคิดว่าเขาจะมีกำลังใจรบไหม
เขาจะกล้ารบแบบที่บอกว่า จงรบให้เต็มที่ อย่ารักตัวกลัวตายไหม เพราะมันไม่ใช่แค่ว่า เขามีหนี้รออยู่ แต่ถ้าเขาตาย ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร และผมก็นึกถึงภาพยนตร์แนวพีเรียดที่บอกว่า จงรบอย่าได้เสียดายชีวิต หากเสียสละชีพเพื่อชาติแล้ว ลูกเมียของเจ้าจะได้รับการดูแลปูนบำเหน็จ แต่ถ้าสภาพเป็นแบบนี้แล้วจะอยู่อย่างไร” วิโรจน์ กล่าว
พร้อมกันนั้น วิโรจน์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การปล่อยกู้อย่างไม่รับผิดชอบสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ หรือการไม่พิจารณาขีดความสามารถในการชำระหนี้คืนของทหารนั้น เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ‘หนี้ทหาร’ อยู่ในขณะนี้
“เมื่อคุณ (สหกรณ์ฯ) ก็รู้อยู่แล้วว่า ทหารแต่ละคนมีเงินเดือนเท่าไหร่ มีหนี้อะไรบ้าง เงินคงเหลือเท่าไหร่ การพิจารณาปล่อยกู้ให้ทหารเหล่านี้ จะต้องพิจารณาขีดความสามารถในการชำระหนี้คืนของเขาด้วย จึงจะถูก ไม่ใช่ปล่อยหนี้ เพื่อหวังกินดอกเบี้ย โดยไม่สนใจฐานานุรูป
แล้วถ้าวันหนึ่งเขาคืนหนี้ไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นของครอบครัว สหกรณ์ฯไม่คิดจะรับผิดชอบใดๆเลยหรือ คุณปล่อยหนี้ เพื่อหวังกินดอกจากเขา พอเขาชำระหนี้ไม่ได้ คุณจะไม่ร่วมรับผิดชอบเลยเหรอ ผมไม่ได้บอกว่า จะให้เขาเบี้ยวหนี้นะ แต่ถ้าจะบอกว่า คุณไม่ผิดอะไรเลย ผมว่าไม่ยุติธรรม” วิโรจน์ ย้ำ
@ชี้สัญญา‘ค้ำประกันหนี้’ผิดกฎหมาย-ส่อเป็นโมฆะ
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัญหา ‘หนี้ทหาร’ ไม่ได้มีเฉพาะปัญหาการหักเงินเดือนจนเหลือน้อยกว่า 30% เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่อง ‘สัญญาค้ำประกันเงินกู้’ ที่ไม่เป็นธรรมให้กับกำลังพลเป็นอย่างมาก เพราะสหกรณ์ฯเจ้าหนี้มีการปฏิบัติต่อ ‘ผู้ค้ำประกัน’ เสมือนกับเป็น ‘ผู้กู้ร่วม’ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายค้ำประกันฯฉบับใหม่
“ต้องยอมรับว่า การเป็นลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯจะต้องมีการค้ำประกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการค้ำวน คือ A ค้ำ B , B ค้ำ C และ C ค้ำ A อย่างนี้ เป็นต้น แต่ถ้ามีคนหนึ่งหนี ก็จะรวนทั้งระบบเลย แต่ข้าราชการเราไม่ค่อยหนีกัน เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ก็มีบางคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่บอกว่าชีวิตข้าราชการมั่นคง แล้วทำไมชีวิตตัวเองเป็นแบบนี้
เพราะเราไปพบข้อมูลว่า แม้ว่ากฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญแล้ว เช่น ในการค้ำประกันฯ จะต้องมีวงเงินค้ำประกันที่ชัดเจนว่าเป็นเท่าไหร่ ค้ำลอยไม่ได้ คือ เมื่อค้ำแล้วจะต้องมีการระบุวงเงินที่ชัดเจนที่ผู้ค้ำต้องรับผิดชอบ และห้ามไม่ให้เรียกค่าปรับแบบบวกๆ แล้วให้ผู้ค้ำไปรับผิดทุกอย่างตามที่เจ้าหนี้เสนอ
แต่ปรากฏว่าสัญญาค้ำประกันเกิดขึ้นในหน่วยงานของทหาร กลับเป็นสัญญาฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ไม่มีการระบุวงเงินที่คนค้ำต้องรับผิดชอบ อีกทั้งมีการประพฤติราวกับว่า ผู้ค้ำประกันฯเป็น ‘ลูกหนี้ร่วม’ พอทวงเงินลูกหนี้ไม่ได้ ก็รีบมาเอาเงินกับตัวคนเลย ทั้งๆที่กฎหมายบอกว่าจะต้องตามหนี้จากลูกหนี้ก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปตามกับคนค้ำเลย
และเมื่อทาง กมธ.ฯไปศึกษาในข้อกฎหมาย ก็พบว่าสัญญาค้ำประกันประเภทนี้ เป็นสัญญาที่เป็นโมฆะ นอกจากจะบอกเลิกได้แล้ว เงินที่ผู้ค้ำจ่ายไปแล้ว ต้องคืนด้วย แต่คำถาม คือ กองทัพจะดำเนินการเพื่อปกป้องทหารที่เป็นผู้ค้ำอย่างไร และจะทวงเงินคืนจากสหกรณ์ฯที่ทำสัญญาค้ำประกันที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร” วิโรจน์ ย้ำ
@เปิด 11 มาตรการ‘กองทัพบก’แก้หนี้กำลังพลในสังกัด
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการการทหารดังกล่าว ผู้แทนจาก 4 เหล่าทัพ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอแนวทางการแก้ 'ปัญหาหนี้ทหาร' ที่บรรดาเหล่าทัพต่างๆได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่าน และกำลังดำเนินการในปัจจุบัน รวมถึงในอนาคต ซึ่งมีหลากหลายมาตรการ ประกอบด้วย
กองทัพบก
พ.อ.เทพฤทธิ์ รัฐฤทธิ์ธำรง นายทหารปฏิบัติการประจำ กรมกำลังพลทหารบก ได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการให้ความช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินของข้าราชการในสังกัดกองทัพบก ว่า ที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีมาตรการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการทหารในสังกัด 11 มาตรการ ได้แก่
1.ปรับรูปแบบการฝากเงิน เงินออมทรัพย์ข้าราราชการกองทัพบก และอัตราดอกเบี้ย โดยกำลังพลบรรจุใหม่ ไม่บังคับฝากเงินออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก ให้เป็นไปตามความสมัครใจ รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจาก 4% เป็น 3% และดอกเบี้ยเงินกู้จาก 5.5% เป็น 5.2%
2.ขยายกรอบวงเงินการกู้เงินออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบกบำบัดทุกข์เกินเงินฝาก จากเดิม 100,000 บาท เป็น สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิม 48 เดือนเป็นสูงสุดถึง 120 เดือน
3.ให้บริการกู้เงินบำบัดทุกข์ภัยธรรมชาติ เพื่อใช้บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติกู้ได้ตั้งแต่ 40,000-100,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 48 เดือน ดอกเบี้ย 3% ต่อปี
4.การปลดหนี้เงินกู้และคืนโฉนดที่ดิน โดยจัดทำ “โครงการจำหน่ายหนี้ค้างนานของกิจการออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก” ด้วยการปลดหนี้เงินกู้ให้กับกำลังพล และ/หรือ ทายาท จำนวน 128 ราย ซึ่งได้ผ่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกินวงเงินที่ได้ก็ไปแล้ว แต่ต่อมาตกทุกข์ได้ยากไม่สามารถชำระหนีต่อไปได้ พร้อมกับคืนโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำไปเป็นหลักประกันความมั่นคงของครอบครัว
5.การพักชำระหนี้เงินกู้ โดยจัดทำ “โครงการพักชำระหนี้เงินกู้จากกิจการออมทรัพย์” เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินกำลังพลในกลุ่มที่มีรายได้น้อย ขาดสภาพคล่อง โดยพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้มีเงินเหลือใช้จ่ายภายในรัวเรือนเพิ่มขึ้น ประมาณ ครอบครัวละ 6,000-15,000 บาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 12,094 ราย
6.จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อการบริหารหนี้ส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.ผู้มีหนี้สินอยู่ในกลุ่มสีแดง (เงินเดือนเหลือน้อยกว่า 1 ใน 3 และอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้/ถูกบังคับพิทักษ์ทรัพย์) และ 2.ผู้ที่เงินเดือนคงเหลือหลังหักผ่อนชำระน้อยกว่า 1 ใน 5 โดยมีวงเงินโครงการฯ 500 ล้านบาท
7.การจัดทำโครงการอบรมความรู้ด้านการเงิน เช่น “โครงการอบรมความรู้ด้านการเงิน” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กำลังพลที่มีหนี้สิน กลุ่มนายทหารพี่เลี้ยงทางการเงิน กลุ่มของผู้บังคับบัญชาหน่วย กลุ่มนายทหารสวัสดิการของหน่วย และกลุ่มนักเรียนทหารของกองทัพบก เพื่อส่งเสริมให้กำลังพล มีความรู้และรู้เท่าทันพิษภัยทางการเงิน ตลอดสามารถวางแผนทางการเงิน การออม การลงตลอดจนการป้องกันแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
8.โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพล โดยร่วมกับการบูรณาการงานด้านสวัสดิการของหน่วย ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพล 1 ใน 3 หรือมีรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท/เดือน โดยมีกำลังพลที่เข้าร่วมโครงการฯ 16,471 นาย แบ่งเป็นกำลังพลที่มีรายได้สุทธิเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 จำนวน 9,923 นาย และกำลังพลที่มีรายได้สุทธิเหลือไม่ถึง 5,000 บาทต่อเดือน จำนวน 6,548 นาย
9.แก้ไขคำสั่งกองทัพบก เรื่อง การปลดข้าราชการออกจากประจำการของกองทัพบก เพื่อแก้ปัญหาข้าราชการทหารถูกให้ออกจากราชการจากกรณีล้มละลาย โดยได้แก้ไขคำสั่งกองทัพบก เรื่อง การหมุนเวียนกำลังพล ข้อ 1.3
จากข้อความเดิม “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นคนล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้น หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งอันแสดงว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่เป็นอันมาก” แก้ไขเป็น “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต”
10.จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกองทัพบกกับธนาคารต่างๆ เพื่อร่วมหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ข้าราชการกองทัพบก
11.ออกวิทยุเน้นย้ำหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และหน่วยรอง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่กำลังพลร่วมกับการบูรณาการงานด้านสวัสดิการของหน่วย รวมทั้งขอความร่วมมือสหกรณ์ของกองทัพบกพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ลงวันที่ 5 ม.ค.2567 ดังนี้
1) คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.75% 2) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ถึงอายุ 75 ปี 3) มีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ 4) ผ่อนชำระคืนเฉพาะส่วนที่เกินทุนเรือนหุ้นกำหนด วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
@‘ทัพเรือ-ทัพอากาศ’ขอสหกรณ์ปรับโครงสร้างหนี้-ลดดบ.
กองทัพเรือ
พล.ร.ต.คมพันธ์ อุปลานนท์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินของข้าราชการทหาร โดยระบุว่า ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบนโยบายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้กรมสวัสดิการทหารเรือดำเนินโครงการช่วยปลดลดภาระหนี้สินให้แก่กำลังพล ได้แก่
1.สั่งการให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือและหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ในกองทัพเรือให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพลในสังกัดของหน่วยที่ประสบปัญหาหนี้สินจนส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพล
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลตามกลุ่มเป้าหมาย (เฉพาะที่มีความเดือดร้อน) เช่น การดำเนินการโครงการคลินิกแก้หนี้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือกิจการและสหกรณ์ภายในกองทัพเรือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4.5% ขยายอายุการผ่อนชำระหนี้ และนำหุ้นมาลดหนี้ได้
2.การสร้างการตระหนักรู้ และการอบรมให้ความรู้ด้านการเงิน
3.การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับกำลังพล โดยการจัดที่พักให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ,ให้สมาคมภริยาทหารเรือให้ความรู้กลุ่มแม่บ้านที่พักอาศัยในกองทัพเรือ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกำลังพล และการจัดรถรับ-ส่ง สำหรับข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของกองทัพเรือ เป็นต้น
4.การปรับปรุงรูปแบบของสลิปเงินเดือน มีข้อมูลของการตัดเงิน
กองทัพอากาศ
นาวาอากาศเอก รุ่งวิทย์ วัณณรถ ผู้อำนวยการกองเงินเดือนและค่าจ้าง กรมการเงิน ทหารอากาศ ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการในสังกัดกองทัพอากาศ ว่า กองทัพอากาศได้ขอความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์กองทัพอากาศ 27 สหกรณ์ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยเสนอให้ทุกเจ้าหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีเป้าหมายให้ข้าราชการที่เหลือเงินเดือนสุทธิน้อยกว่า 30% จำนวน 8,171 นาย/คน มีเงินคงเหลือรับสุทธิเป็นไปตามเกณฑ์ของรัฐบาล
นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังได้ประสานสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อประนอมหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้ข้าราชการที่มีเงินคงเหลือรับสุทธิต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้งเข้าไปช่วยกำลังพลที่กำลังถูกฟ้องร้องจากธนาคาร และการริเริ่มโครงการคลินิกแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ ทอ. เป็นต้น
@‘สำนักงานปลัดฯ-บก.ทท.’เร่งผลักดันแก้‘หนี้ทหาร’
กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.)
พล.ร.ต.สุรสิทธิ์ แสนคราม ร.น. รองเจ้ากรมกำลังพลทหาร กรมกำลังพลทหาร ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินของข้าราชการทหาร ว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติให้สหกรณ์ในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย 9 แห่ง ไปดำเนินการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ ตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์
เช่น การจัดทำโครงการแก้ไขหนี้สินสมาชิกฯ โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้เกินศักยภาพในการชำระคืนเป็น และการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ในอัตราไม่เกินร้อย 4.75% ต่อปี เป็นต้น
ขณะที่ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติให้ กรมกำลังพลทหารจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “โครงการเคลียร์หนี้ ทหารไทยธนชาต” สำหรับข้าราชการทหารและลูกจ้างประจำในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีให้แก่ข้าราชการทหารและลูกจ้างประจำในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยที่ใช้บัญชีเงินเดือน ทีทีบี ด้วยโครงการเคลียร์หนี้ฯ สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ ทีทีบี แบบไม่มีหลักทรัพย์กัน โดยมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนให้น้อยลง
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.ต.ชัยณรงค์ เดือนแรม ผู้อำนวยการสำนักงานกำลังพล กรมเสมียนตรา ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินข้าราชการว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้พิจารณากำหนดแนวทาง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามที่ รมว.กลาโหม ได้สั่งการในการประชุมสภากลาโหม เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2563
โดยให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ติดตามและกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย เช่น หนี้สินครัวเรือน การหักเงินจากเงินเดือนและระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ และการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการเงินเพิ่มเติมแก่กำลังพลและครอบครัวให้มีการวางแผนการออมเงิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เล่นอบายมุข
ส่วนการแก้ไขปัญหาบุคคลล้มละลายของกระทรวงกลาโหมให้ยึดถือตามมติสภากลาโหม เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2566 เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยกำลังพลที่ถูกฟ้องร้องหรือล้มละลาย ไม่จำเป็นต้องถูกปลดออกจากราชการ ยกเว้นเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2567 ได้มีการประชุมหารือมาตรการต่างๆ ระหว่างปลัดกระทรวงกลาโหมกับประธานกรรมการกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีสาระสำคัญว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมีการควบคุมการกู้ยืมของกำลังพลให้อยู่ในศักยภาพของตน ซึ่งผู้มีสิทธิกู้ยืม ต้องมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมอยู่ในอัตรา 4.75-5.75% และมีการกู้เพื่อพัฒนาคุณภาพในด้านการศึกษาสุขภาพให้กับกำลังพลและครอบครัว โดยคิดดอกเบี้ย 1.75-3.75% อีกทั้งอยู่ในระหว่างหารือกับสถาบันการเงินที่มีนโยบายการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพล
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2567 คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้หารือเรื่องแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4.75% การขยายระยะเวลาการชำระหนี้จนถึงอายุ 75 ปี และกำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนชำระเงินกู้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าทุนเรือนหุ้น เพื่อหาแนวทางดำเนินการที่ถูกต้อง เหมาะสมต่อไป
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพลในระยะเร่งด่วน นั้น ได้มีโครงการรวมหนี้กับธนาคารทหารไทยธนชาติ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล กลุ่มที่มีรายได้เหลือต่ำกว่า 1 ใน 3 และกลุ่มที่เป็นหนี้เสียและกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง และในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการให้กับ 5 หน่วยขึ้นตรง มีกำลังพลได้รับการช่วยเหลือแล้ว 81 ราย
ส่วนการให้ความช่วยเหลือการไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาข้าราชการที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น อยู่ระหว่างการกำหนดนโยบาย หากข้าราชการจำเป็นต้องไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีนายทหารพระธรรมนูญเข้าร่วมด้วยเพื่อลดการถูกเอาเปรียบ
@จี้‘กลาโหม’ทำตามมติ ครม.-จ่อยื่น‘ป.ป.ช.’ฟันละเว้นฯ
อย่างไรก็ดี วิโรจน์ มองว่า แม้ว่าเหล่ากองทัพต่างๆจะมีแนวทางในการแก้ปัญหา ‘หนี้ทหาร’ แต่คงช่วยไม่ได้มากนัก เพราะตราบใดที่ยังปล่อยให้สหกรณ์ฯ หักเงินเดือนทหารจนเหลือน้อยกว่า 30% ก็เท่ากับเป็นการผลักปัญหาทั้งหมดไปให้ลูกหนี้แบกรับ แล้วที่บอกว่าจะลดดอกเบี้ยเหลือ 4.75% และปรับโครงสร้างหนี้ฯ ก็มีคำถามว่า ‘ทำไมจึงยังไม่เกิด’
“ที่บอกว่าจะลดดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ โดยยืดหนี้ให้ยาวไปถึงอายุ 75 ปี เพื่อลดค่างวด แต่ทำไมจึงยังไม่เกิด นี่เป็นคำถาม แล้วเราก็ต้องสันนิษฐานว่า สหกรณ์ที่มีนายทหารเป็นกรรมการระดับสูง ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องการกินดอกเบี้ย แล้วหวังผลตอบแทนในอัตราที่สูงจากทหารระดับล่างหรือเปล่า” วิโรจน์ กล่าว
(วิโรจน์ ลักขณาอดิศร)
วิโรจน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ทหารนั้น หนึ่ง ต้องยกเลิกการหักเงินเดือนไปใช้หนี้สหกรณ์จนทหารเหลือเงินเดือนกินน้อยกว่า 30% ซึ่งทำได้เลย และต้องสั่งการเลย และสอง สัญญาค้ำประกันที่ไม่เป็นธรรม ขัดกฎหมาย ต้องยกเลิกทันที เงินที่ไปลิดรอนเอาจากผู้ค้ำประกันฯอย่างไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมายต้องคืนเขาทันที
“ทั้ง 2 ข้อนี้ คือ สิ่งที่เราทำหนังสือไปถึง รมว.กลาโหม (นายสุทิน คลังแสง) และผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า เราพบปัญหาแบบนี้ และนี่คือภัยความมั่นคงที่กระทบกับขวัญกำลังใจของทหารหาญของเราเป็นอย่างมาก อย่างน้อย คือ 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 3 ของกำลังพลทั้งหมด ซึ่งใหญ่มาก
และเราจะทำหนังสือไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเราพบร่องรอยว่า มีความเป็นไปได้ว่า มีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มติ ครม. และคำสั่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมทั้งจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้ เข้าข่ายการประพฤติมิชอบหรือไม่
มีความจงใจที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ แต่ถ้าไม่ ก็ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามสมควร เพื่อให้หน่วยงานในกองทัพตามกฎหมาย ถ้าออกระเบียบใดๆ ก็ต้องเร่งรัด ออกประกาศทำไมต้องนานขนาดนั้น” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า “เมื่อทหารชั้นผู้น้อยมีหนี้อย่างนี้ เขาก็ต้องหารายได้ทางอื่น และก็ต้องแล้วแต่ใจของแต่ละคนแล้วว่า จะถูกชักจูงไปทางไหน ถ้าถูกชักจูงไปในทางที่ดี ก็ไปขับไรเดอร์บ้าง หรือทำอาชีพเสริมต่างๆ ขายของบ้าง ก็ต้องไปประกอบอาชีพสุจริต แต่การทำอย่างนั้น ก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่อาจจะเหนื่อยกว่าปกติ...
เวลาที่ใครพูดว่า เราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร เอาเรื่องหนี้นี่แหละ ถ้าแก้ได้ และก็แก้ได้โดยแก้ระเบียบฯ ทำตามมติ ครม. ก็ทำให้ขวัญกำลังใจของทหาร 5.3 หมื่นนาย หรือ 8 หมื่นนาย ดีขึ้นทันที ถ้าขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำจากภาวะหนี้สินรุมเร้า ถามว่าจะมีกำลังจิตกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ไหม ก็ไม่มี และนี่ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงเหรอ”
@‘โฆษกกลาโหม’เผยกำลังศึกษารื้อ‘ระเบียบฯหักหนี้’
ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้สั่งการไปยัง 4 เหล่าทัพ และสำนักงานปลัดสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ทำการรวบรวมข้อมูลข้าราชการทหารที่ถูกหักเงินเดือนชำระหนี้จนเหลือเงินน้อยกว่า 30% ว่า มีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
“ท่าน (สุทิน) ให้ไปรวบรวมข้อมูลว่า ตกลงแล้วกรณีดังกล่าว มีจำนวนเท่าไหร่ และสรุปออกมาเป็นคล้ายๆกับปิรามิดว่า มากสุดเท่าไหร่ น้อยสุดเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว จะนำเสนอท่านกิตติรัตน์ (ณ ระนอง ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย) เพื่อนำไปรวมกับข้าราชการส่วนอื่นๆ และแก้ปัญหาต่อไป” จิรายุ กล่าว
จิรายุ ระบุด้วยว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการทหารและลูกจ้างฯนั้น จะอยู่ภายใต้ 3 แนวทาง คือ 1.เมื่อหักเงินชำระหนี้แล้วเงินเดือนสุทธิต้องไม่น้อยกว่า 30% 2.ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯของกองทัพพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกิน 4.75% และ 3.ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไปจนถึงอายุ 75 ปี
“จะต้องมีการไปพูดคุยกันว่า ถ้าจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป จะต้องออกกฎระเบียบหรือไปแก้ไขประกาศตัวใดหรือไม่อย่างไร ส่วนเรื่องดอกเบี้ย ก็ต้องดูว่าถ้าลดแล้วจะมีผลกระทบในเชิงใดบ้าง และถ้าดอกเบี้ยลดแล้ว ก็ต้องดูว่าจะให้เฉพาะกำลังพลรายใหม่ หรือให้รวมกำลังพลเดิมที่กู้ไปแล้วด้วย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” จิรายุ ระบุ
สำหรับกรณีที่มีการระบุว่าสหกรณ์ฯปล่อยกู้ให้สมาชิก โดยไม่ดูความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้เกิดปัญหา ‘หนี้ทหาร’ ตามมา นั้น จิรายุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายมิติ เช่น ในสมัยก่อนมีการกำหนดเพดานเงินกู้ที่สหกรณ์ฯ จะให้กู้แก่ข้าราชการที่เป็นสมาชิกฯว่า ให้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ แต่ต่อมามีการขยายเพดานเงินกู้เพิ่ม เพราะเงินที่ให้ไปไม่เพียงพอ
“ถ้าเราไปลดเพดานลง เช่น สมมติว่ากู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ถ้าไปลดเพดานให้กู้ได้แค่ 40% ได้แค่ 4 แสนบาท แล้วเขาจะเอาเงินดาวน์ 6 แสนบาทที่ไหนไปวาง และยิ่งไปลดปลายทาง คนที่เดือดร้อน คือ ข้าราชการ แล้วผมก็คิดว่า ข้าราชการ เขารู้ประมาณตนอยู่แล้ว” จิรายุ กล่าว
(จิรายุ ห่วงทรัพย์)
จิรายุ กล่าวว่า ส่วนการเร่งรัดให้กองทัพต่างๆ ออกระเบียบฯเพื่อกำหนดห้ามไม่ให้สหกรณ์ฯหักเงินเดือนกำลังพลจนเหลือเงินน้อยกว่า 30% นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ไม่สามารถทำได้ทันที และจะต้องพิจารณากำหนดแนวทางให้สมดุลกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย เพราะเรื่องหนี้สหกรณ์นั้น ไม่มีใครไปบังคับให้คนกู้ คนที่ไปกู้สหกรณ์ก็รู้เงื่อนไขดี
“จะไปบอกเขาว่าห้ามหักหรือไม่หัก ไม่มีใครไปบังคับ เหมือนธนาคารอยู่เฉยๆ เราอยากไปกู้เงิน เท่าไหร่เรากู้สู้ ดอกเบี้ยเท่านั้น เราก็เอา ค่าธรรมเนียมเท่านี้ เราก็ยอม แต่อยู่ไปซัก 5 ปีแล้วไปด่าเขา อย่างนี้มันก็ลำบาก เราจึงต้องมีกระบวนการพิจารณา” จิรายุ กล่าว
ส่วนกรณีที่บอกว่าสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของสหกรณ์ฯไม่เป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันฯ นั้น จิรายุ ระบุว่า “อันนี้เขาพูดลอยๆ บางทีก็พูดโยนก้อนหินถามทาง เพราะโดยหลักแล้ว ถ้ากู้แบงก์ กู้รถ คนค้ำจะเป็นปลายทาง คนกู้จะโดนทวงก่อน มีจดหมายเตือน ถ้ายังดื้อแพ่งหรือเฉย เขาจึงจะไปทวงกับผู้ค้ำ เพราะอยู่ดีๆไม่มีหน่วยงานไหนไปทวงกับคนค้ำก่อน”
ก่อนหน้านี้ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า โดยระบุว่า ได้สั่งการกำชับไปยังหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมแล้วว่า มติค ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ที่มีมติห้ามไม่ให้มีการหักเงินเดือนข้าราชการเพื่อชำระหนี้จนเหลือเงินใช้น้อยกว่า 30% นั้น เป็นสิ่งที่เคร่งครัดและต้องปฏิบัติ
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของระบบราชการ แต่เป็นเรื่องของระบบในองค์กร ที่จะมีคณะกรรมการสหกรณ์บริหาร ต้องให้แต่ละสหกรณ์ออกระเบียบ ซึ่งได้กำชับไปแล้วว่าจากนี้ไปหากใครไม่ทำตามระเบียบ จะถือว่าขัดคำสั่ง เพราะเป็นมาตรการของกระทรวงกลาโหม” สุทิน กล่าว
เมื่อถูกถามว่า มีกำลังพลถูกหักเงินเกิน 30% ประมาณ 53,000 นายจริงหรือไม่ สุทิน ตอบว่า “ไม่จริง แต่ต่อไปจะไม่มีแล้ว สั่งการในสภากลาโหมเรียบร้อย”
@ดึง 2 แบงก์รัฐลดต้นทุนสหกรณ์ฯ-กดดบ.กู้เหลือ 4.75%
วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ฯของทหารที่กระจายอยู่ในหน่วยงานทหารต่างๆประมาณ 100 แห่ง ซึ่งกรมฯได้รับรู้ถึงปัญหาที่ข้าราชการทหารซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ถูกหักเงินรายได้รายเดือนจะเหลือเงินไม่พอต่อการดำรงชีพ และได้มีมาตรการฯออกไปแล้ว
“กรมฯได้ขอความร่วมมือจากสหกรณ์ทุกแห่ง (สหกรณ์ออมทรัพย์ฯของทหาร และสหกรณ์ออมทั่วอื่นๆทั่วประเทศ) ว่า ในการหักหนี้สมาชิกนั้น ขอให้นำมาตรการที่รัฐบาลขอความร่วมมือไปใช้ คือ ให้ทหารที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เหลือเงินเพื่อใช้จ่ายอย่างน้อย 30% โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยขยายให้ยาวขึ้นเป็นถึงอายุไม่เกิน 75 ปี
ถ้าเขามีเงินหุ้นอยู่ ก็ให้หักหนี้เฉพาะส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหุ้น เพื่อให้เขายังมีเงินได้รายเดือนเหลืออยู่ ซึ่งตอนนี้สหกรณ์ฯเกือบทุกแห่งกำลังดำเนินการตามาตรการนี้ อีกมาตรการที่ให้ทำ คือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4.75% แต่ตรงนี้บางแห่งต้องใช้เวลาปรับตัว เพราะต้นทุนเงินของเขากู้มาแพง
ถ้าปล่อย 4.75% เขาก็จะไม่มีเหลือเงินพอที่จะบริหารจัดการสหกรณ์ฯ หรือคืนเงินปันผลให้คนที่ไม่ได้กู้และคนที่ถือหุ้นเลย จึงต้องทำให้ตรงนี้สมดุลก่อน ซึ่งที่ไหนที่ต้องทุนเงิน ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย พร้อมสนับสนุนแหล่งเงินที่มีต้นทุนไม่แพงให้สหกรณ์ฯกู้ เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง แล้วมาลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้สมาชิกเหลือ 4.5%” วิศิษฐ์ กล่าว
วิศิษฐ์ ย้ำว่า “ทั้ง 3 แนวทางนี้ จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้กับทหารที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ซึ่งรวมถึงครูและตำรวจ ที่มีปัญหาเรื่องการให้กู้กับสหกรณ์ฯด้วย”
(วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์)
วิศิษฐ์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้สมาชิกสหกรณ์ฯบางคน กู้เงินเกินกำลังตัวเองที่จะชำระหนี้ได้ กรมฯยังได้เพิ่มมาตรการดูแลการปล่อยสินเชื่อ หรือที่เรียกว่า ‘สินเชื่อสีขาว’ โดยกำหนดให้คณะกรรมการสหกรณ์พิจารณาให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ คือ ต้องดูว่าสมาชิกฯมีกำลังส่งคืนหนี้เพียงพอหรือไม่ และต้องดูด้วยว่าเขามีหนี้ที่ไหนบ้าง
“ต่อไปคนที่กู้เงินจากสหกรณ์ฯอาจจะต้องให้เขายื่นข้อมูลเครดิตเครดิตบูโรด้วย เอาข้อมูลเครดิตบูโรมาให้สหกรณ์ฯดู ส่วนทางฝั่งธนาคารฯเอง เราก็ขอความร่วมมือว่า เวลาจะให้กู้กับข้าราชการ ก็ขอให้เอาหลักฐานที่เป็นหนี้สหกรณ์มายื่นกับธนาคารด้วย ไม่อย่างนั้น คนหนึ่ง กู้ทั้งธนาคาร กู้ทั้งสหกรณ์ จนมีหนี้บานเบอะ” วิศิษฐ์ กล่าว
วิศิษฐ์ ย้ำด้วยว่า “ต่อไปนี้ สหกรณ์แต่ละแห่งที่จะปล่อยกู้ให้สมาชิก จะต้องดูว่าเขามีกำลังการชำระหนี้หรือไม่ และเขาเป็นหนี้กี่แห่ง โดยคณะกรรมการสหกรณ์ฯต้องมาดูตรงนี้ ไม่ใช่ว่าปล่อยไปโดยที่ไม่ดูเลยว่า วงเงินที่เหลือของเขาเป็นเท่าไหร่ และผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตรงนี้ เพราะสหกรณ์ไม่รู้ว่า สมาชิกเป็นหนี้ที่อื่นอยู่หรือเปล่า”
นอกจากนี้ กรมฯอยู่ระหว่างผลักดัน ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อและรักษาเสถียรภาพของระบบสหกรณ์ฯ (อ่านประกอบ : เปิดร่างกฎกระทรวงฯกำกับสินเชื่อ‘สหกรณ์ฯ’-‘กู้สามัญ’ผ่อนได้ 150 งวด-หักหนี้เหลือเงิน 30%)
ส่วนกรณีที่มีข้อสันนิษฐานว่า การที่ข้าราชการทหาร ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯถูกหักเงินเดือนจนเงินเหลือใช้น้อยกว่า 30% และไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้บังคับบัญชาเป็นประธานหรือกรรมการสหกรณ์ฯ นั้น วิศิษฐ์ มองว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะการกู้เงินสหกรณ์ฯนั้น เมื่อสมาชิกกู้แล้วจะต้องปฏิบัติตามสัญญาทางแพ่ง
“ตัวผู้บังคับบัญชาจะเป็นกรรมการหรือประธานสหกรณ์ฯได้ เขาต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ก่อน ซึ่งในอดีตนั้น การให้ผู้บังคับบัญชามาเป็นผู้นำสหกรณ์ฯ มันเป็นเรื่องการดูแลสวัสดิการให้กำลังคนและทหารผู้น้อย แล้ววงของสหกรณ์เป็นวงเล็กๆ เป็นวงในหน่วยงาน เช่น สหกรณ์ฯมณฑลทหารบกที่ 11 โดยผู้บังคับบัญชาจะรู้ว่าคนนี้คนนั้นเป็นอย่างไร
ส่วนเรื่องโบนัสและเรื่องผลประโยชน์อื่นที่กรรมการสหกรณ์ฯจะได้รับนั้น จะมีข้อบังคับของสหกรณ์ฯกำหนดไว้ชัดเจนว่า กำไรสุทธิจะจัดสรรเป็นโบนัสได้ไม่เกิน 10% คือ กำไร 100 บาท จัดสรรเป็นโบนัสได้ไม่เกิน 10 บาท แต่ที่ผ่านมาพบว่าจัดสรรไม่ถึง เอาแค่ 1-2% จัดสรรเป็นโบนัสเท่านั้น มันไม่ได้มากเหมือนธุรกิจอื่นๆ
แล้วเราจะมองว่า ผู้บังคับบัญชาไปบังคับให้เขาชำระหนี้จนไม่มีเงินเหลือ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่เขาไปทำสัญญากับสหกรณ์ สัญญากู้ที่ทำไว้บอกว่า ต้องชำระต้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ต่อเดือน สมาชิกฯที่กู้ไปต้องปฏิบัติตามสัญญา สัญญาทางแพ่ง เมื่อกู้เงิน 1 ล้าน แล้วให้ชำระเดือนละ 1 หมื่นบาท ก็ต้องชำระตามสัญญา” วิศิษฐ์กล่าว
@ถก‘เหล่าทัพ’เร่งออกระเบียบฯหักหนี้-คาดปีนี้ได้เห็น
ขณะที่ ขจร ธนะแพสย์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งจัดตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 316/2566 กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า หลังจาก ครม. ได้มีมติเรื่องการแก้หนี้สินทั้งระบบแล้ว ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้เข้าไปหารือกับทั้ง 4 เหล่าทัพ เพื่อให้ปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว
โดยในส่วนการออกระเบียบฯ เรื่อง การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ โดยต้องทำให้ทหารมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่า 30% นั้น ทางกองทัพเรือและกองทัพอากาศ น่าจะออกระเบียบฯได้ภายในไม่กี่เดือนนี้ และในระหว่างนี้ จะใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ฯกับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อให้ทหารมีเงินเหลือใช้สุทธิไม่น้อยกว่า 30%
“เราลงไปช่วยเขาอยู่ และเริ่มจะได้แล้ว โดยเฉพาะในฝั่งทหารเรือกับทหารอากาศ ส่วนทหารบกขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้า โดยที่ผ่านมาเราติดตามมาตลอด เราไปพบหลายกรม เขาก็พยายามจะทำอยู่ คาดว่าอีกไม่กี่เดือนจะเสร็จ และภายในปีน่าจะได้เห็นทั้งหมด เพราะตัวระเบียบไม่มีอะไร มันค่อนข้างขัดเจน” ขจร กล่าว
(ขจร ธนะแพสย์)
ขจร กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาหนี้ทหารรุนแรง โดยทหาร 1 ใน 3 มีเงินไม่พอใช้นั้น แทบไม่แตกต่างจากปัญหาหนี้ครูเลย เพราะเป็นเรื่องการปล่อยกู้เกินศักยภาพของลูกหนี้มาตั้งแต่ตอนต้น สหกรณ์ฯปล่อยกู้ ทั้งๆที่รู้ว่าทหารบางนายกู้จนเกินศักยภาพแล้ว และสหกรณ์ฯก็ลดความเสี่ยงของตัวเองลง ด้วยการผ่องถ่ายความเสี่ยงไปให้ผู้ค้ำประกัน
“การกู้เกินศักยภาพ เป็นปัญหาวงกว้างของทุกส่วนราชการ พอกู้เกินแล้ว เงินที่เรียกเก็บ จึงมากกว่า 70% ของรายได้ เขาก็เลยมีเงินไม่พอดำรงชีพ ที่สำคัญคงไม่มีเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ทราบว่า ข้าราชการแต่ละคน เขามีรายได้มาชำระหนี้แค่ 70% ในแต่ละเดือน แต่คุณก็ปล่อยเกิน ดังนั้น คุณก็ต้องช่วย และต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกหนี้ด้วย
คุณ (สหกรณ์ฯ) ต้องปรับลดค่างวดลงมา ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาจ่าย เพราะมันต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของฝั่งเจ้าหนี้ด้วย แต่ก็ยอมรับว่า การปรับโครงสร้างหนี้ฯทหาร เพื่อให้มีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% นั้น เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะทหารไม่มีระเบียบฯที่ห้ามไม่ให้สหกรณ์ฯหักเงินเดือนชำระหนี้เกิน 70% เหมือนครู จึงต้องมีระเบียบออกมา” ขจร ย้ำ
ขจร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทหารเป็นกลุ่มที่ถูกฟ้องล้มละลายมากกว่าข้าราชการกลุ่มอื่นๆ จึงอยากขอร้องเจ้าหนี้ว่า อย่าไปถึงขั้นฟ้องเขาให้ล้มละลายเลย ต้องมาร่วมกันปรับโครงสรางหนี้ ไม่ใช่รายที่เก็บหนี้ไม่ได้ก็ฟ้องล้มละลายกันเลย”
เหล่านี้เป็นสถานการณ์ ‘หนี้ทหาร’ ที่ 1 ใน 5 ของกำลังพล ถูกหักเงินจ่ายหนี้จนเหลือเงินไม่พอใช้ และอาจชักจูงให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ และการจัดการในนี้กลับเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่า ครม.จะมีข้อสั่งการเกี่ยวกับแก้ปัญหาการหักหนี้ฯข้าราชการแล้ว ที่สำคัญปัญหา ‘หนี้ทหาร’ ยังทำให้ขวัญกำลังใจของทหารหลายหมื่นนายลดลงจนน่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ ‘หนี้ทหาร’ นับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่พุ่งเกินระดับ 90% ต่อจีดีพีไปแล้ว แต่จะพบว่าในปัจจุบันปัญหาหนี้สินของข้าราชการกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการครู และตำรวจ ก็มีปัญหารุนแรงไม่แพ้กัน อีกทั้งมีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกับปัญหาหนี้ทหาร ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขเยียวยาอย่างเร่งด่วนไปพร้อมๆกัน!
อ่านประกอบ :
‘วิโรจน์’เผย‘ทหาร’ 5.3 หมื่นคน ถูกหักหนี้ขัดมติ ครม.-ลุยค้นชื่อ‘นายพล’นั่งบอร์ดสหกรณ์ฯ
โชว์มติ‘ครม.เศรษฐา’แก้หนี้‘ขรก-จนท.รัฐ’ กล่อม‘สหกรณ์’ลดดบ.กู้-หักจ่ายหนี้เหลือเงินใช้30%
เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
'บอร์ดแก้หนี้ฯ'ถกคำนวณยอดหนี้'กยศ.'ใหม่-นำร่อง'กลุ่มถูกบังคับคดี'ก่อนขยายครบ 3.5 ล้านราย