“....การให้เงินกู้แก่สมาชิก สหกรณ์ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างน้อย ดังต่อไปนี้ (1) เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่าหก (6) เดือน (2) พฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ (3) ความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละงวด กรณีผู้กู้ซึ่งมีรายได้เป็นรายเดือน จะต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบ (30) ตลอดอายุสัญญา…”
......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอ ‘ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…’ ที่มีการปรับปรุงแล้ว ให้ ครม. พิจารณา ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เสนอ
โดย ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ มีหลักการ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สามารถให้เงินกู้และให้สินเชื่อสอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
2.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สามารถรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน ให้มีความเหมาะสม รัดกุม สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจของสหกรณ์
3.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสภาพคล่องเพียงพอและดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว โดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรองรับการไหลเข้าและไหลออกของกระแสเงินสด
4.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยู่เนียน สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
5.กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวของความเสี่ยง (Concentration Risk) ไม่ให้สูงจนเกินไป และสอดคล้องกับการบริหารการจัดการทางการเงินของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ นั้น (อ่านประกอบ : สกัดกู้เกินตัว! ‘เกษตรฯ’ชง‘ร่างกฎกระทรวงฯ’กำกับสินเชื่อสหกรณ์ 2.3 ล้านล. เข้า ครม.อีกรอบ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ‘ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…’ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ ดังนี้
@ให้‘สมาชิก’คืนหนี้‘เงินกู้สามัญ’ไม่เกิน 150 งวด
หมวด 1 การให้กู้และการให้สินเชื่อ
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 2 “สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้สามประเภทตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เป็นการให้เงินกู้ในกรณีสมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน โดยกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกินสิบสอง (12) งวด
(2) เงินกู้สามัญ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายหรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่างๆ โดยกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบ (150) งวด
(3) เงินกู้พิเศษ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือการเคหะหรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกินสามร้อยหกสิบ (360) งวด
การกำหนดงวดชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ให้มีระยะเวลาชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกินกว่าอายุเจ็ดสิบห้า (75) ปี เว้นแต่การกู้เงินนั้นเมื่อรวมทุกสัญญาแล้วมีจำนวนไม่เกินค่หุ้นและเงินฝากที่ผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์”
ร่างกฎกระทรวงข้อ 3 “ในกรณีที่มีการทำสัญญาเงินกู้ใหม่สำหรับเงินกู้ประเภทเดียวกันหรือมีการรวมสัญญาจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาเดิมมาแล้ว ดังต่อไปนี้
(1) เงินกู้สามัญไม่น้อยกว่าหก (6) งวด
(2) เงินกู้พิเศษไม่น้อยกว่าสิบสอง (12) งวด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีเป็นเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินและวงเงินกู้ของผู้กู้ยังไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบห้า (75) ของวงเงินกู้ทั้งหมด”
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-ปัญหาพบว่าสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจระดับชั้นประทวน ยศ สิบตำรวจตรี ถึง ดาบตำรวจ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 7,000 แต่ไม่เกิน 30,000 บาท หากกำหนดส่งชำระตามจำนวนงวดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกู้สามัญ หรือกู้ฉุกเกิน สิทธิในการกู้ของสมาชิกจะน้อยลง และ/ไม่สามารถกู้ยืมเงินกับทางสหกรณ์ได้
-การกำหนดเช่นนี้ สมาชิกย่อมมองหาหนทางที่ตนต้องนำเงินสดเข้ามาอยู่ในการบริหารการเงินของตน โดยการกู้ยืมกับสถาบันการเงินภายนอก ซึ่งอาจจะมีดอกเบี้ยสูงกว่าสหกรณ์และมีงวดการชำระหนี้มากกว่าสหกรณ์ (สินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุดถึง 20 ปี) ถือเป็นการผลักภาระให้เพื่อนสมาชิกออกไปประสบปัญหาด้านการเงินอย่างชัดเจน
-การกำหนดงวดชำระเป็นไม่เกิน 240 งวด ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงในการรับชำระหนี้ของสหกรณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกสหกรณ์ในการหมุนเวียนรายได้และภาระหนี้ทำให้ยิดหยุ่น ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์ในด้านความมั่นคงด้านรายได้ให้กับสหกรณ์ด้วย win-win ทั้งสองฝ่าย ในขณะที่การปรับเป็น 150 งวด ก่อให้เกิดภาระทั้งฝั่งสมาชิกที่กู้เงินและหมุนเวียนได้ยากขึ้น และเป็นภาระกับสหกรณ์ที่ต้องปฏิบัติทั้งบทเฉพาะกาลและกฎใหม่คู่กัน
-งวดการผ่อนชำระเงินกู้พิเศษให้เป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปผ่อนได้ถึง 420 งวด
-สมาชิกที่มีเงินบำนาญควรมีระยะเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นไม่เกินอายุ 80 ปี และควรขยายระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับผู้มีเงินบำนาญหรือสวัสดิการซึ่งคุ้มกับหนี้ที่มีอยู่
@กู้เงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องโชว์เครดิตบูโร
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 “การให้เงินกู้แก่สมาชิก สหกรณ์ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่าหก (6) เดือน
(2) พฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้
(3) ความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละงวด กรณีผู้กู้ซึ่งมีรายได้เป็นรายเดือน จะต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบ (30) ตลอดอายุสัญญา
(4) หลักประกันตามข้อ 5”
ร่างกฎกระทรวง ข้อ 5 “การให้เงินกู้แก่สมาชิก สหกรณ์ต้องจัดให้มีหลักประกันตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีเงินกู้สามัญ ให้ใช้สมาชิกสหกรณ์นั้น หรือหลักทรัพย์ หรือใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นร่วมกับหลักทรัพย์เป็นหลักประกันเงินกู้ ทั้งนี้ ห้ามมิให้นำเงินประกันชีวิต เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันมาพิจารณาเป็นหลักประกัน
(2) ในกรณีเงินกู้พิเศษ ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยให้ใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือราคาประเมินของทางราชการ”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 6 “การให้เงินกู้แก่สมาชิก ให้สหกรณ์พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) การให้กู้ยืมเงินที่รวมกันทุกสัญญาแล้วตั้งแต่สอง (2) ล้านบาทขึ้นไป สหกรณ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพื่อประกอบการพิจารณาให้เงินกู้
(2) การให้กู้ยืมเงินที่รวมกันทุกสัญญาแล้วไม่ถึงสอง (2) ล้านบาท สหกรณ์อาจกำหนดให้สมาชิกผู้กู้ส่งข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพื่อประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ก็ได้”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 7 “ชุมนุมสหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สหกรณ์สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นได้ โดยผู้ขอกู้ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) มีความมั่นคงทางการเงินและมีความสามารถในการชำระหนี้
(2) มีการบริหารจัดการที่ดีและได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 8 กำหนดว่า “ในการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกินหกสิบ (60) งวด
ในการให้เงินกู้แก่สหกรณ์สมาชิก ให้ชุมนุมสหกรณ์กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบ (120) งวด”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 กำหนดว่า “ในกรณีที่สหกรณ์สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นใช้หลักประกันเงินกู้ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือราคาประเมินของทางราชการ”
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-สมาชิกมีเงินได้รายเดือนแตกต่างกัน ดังนั้น ควรคิดอัตราที่ร้อยละ 30 ของค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อความเท่าเทียมในเงินเหลือสุทธิ
-สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (สค.) ไม่มีรายได้ที่แน่นอนเป็นรายเดือน ไม่สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ จึงทำให้ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ไม่สามารถที่จะคำนวณเงินเหลือหลังจากชำระหนี้แล้วเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา
-หลักประกันเงินกู้ ขอให้นำเงินประกันชีวิต และเงินมาปนกิจสงเคราะห์ มาพิจารณาเป็นหลักประกันได้ เพราะหากสมาชิกมีปัญหา เช่น สมาชิกตาย และเงินไม่พอให้หักชดใช้ คนค้ำประกันก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งการนำเงินประกันชีวิต หรือฌาปนกิจสงเคราะห์ มาเป็นหลักประกัน จะช่วยแบ่งเบาคนค้ำประกันได้
-สหกรณ์มีระบบการหักเงิน ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเครดิตในการประกอบการพิจารณา
-การขอข้อมูลเครดิตบูโร ควรยกเว้นกรณีการกู้ที่ใช้เงินฝากหรือมูลค่าหุ้นเป็นประกัน เพราะถือว่าทั้งสองอย่างเป็นหลักประกันมั่นคงและอยู่กับสหกรณ์
-การขอข้อมูลเคดิตบูโร ขอให้เป็นดุลพินิจคณะกรรมการดำเนินการของแต่ละสหกรณ์
-การกู้ทุกประเภท ไม่ต้องส่งข้อมูลเครดิต การกู้ฉุกเฉินและการกู้สามัญ ไม่ควรจำกัดงวดการชำระหนี้ ควรให้เป็นตามระเบียบข้อบังคับ ของสหกรณ์นั้นๆ
@กำหนดแนวทางปรับ‘โครงสร้างหนี้’ให้‘สมาชิก’
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 10 “สมาชิกของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ที่สมัครใจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องมีลักษณะหนี้ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นหนี้จำนวนมากเกินกว่าสมาชิกจะสามารถส่งชำระจากเงินได้รายเดือนตามปกติอันเกิดจากเหตุอันจำเป็นโดยสุจริต
(2) มีการผิดนัดชำระหนี้
(3) เป็นหนี้ที่ต้องรับภาระหนี้สินที่มีจำนวนมากจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้รายอื่น"
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 11 “ในกรณีลูกหนี้เงินกู้มีปัญหาในการชำระหนี้ สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์อาจพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เงินกู้โดยดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ลดดอกเบี้ยเงินให้กู้ค้างรับให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ หรือ
(2) ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น สหกรณ์ยอมให้ขยายงวดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้ให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ พักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกหนี้"
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 12 “หนี้ที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องมีงวดชำระหนี้ไม่เกินสองร้อยสี่สิบ (240) งวด
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 13 “สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องสอบทานกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ รวมถึงความถูกต้องของการจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้และการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมการบริหารความเสี่ยง โดยมีแนวทางอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) การวิเคราะห์ความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดการประเมินราคาหลักประกัน และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอนและวิธีการที่สหกรณ์กำหนดไว้ โดยจะต้องมีเอกสารหลักฐานที่จำเป็นครบถ้วน
(2) ความถูกต้องครบถ้วนของนิติกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามเงื่อนไขในการอนุมัติการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อ เช่น การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน การจัดทำสัญญาค้ำประกัน การจดจำนองหลักประกัน
(3) การเบิกใช้วงเงินเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินและกระบวนการติดตามการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม โดยเฉพาะลูกหนี้ประเภทสหกรณ์
(4) การทบทวนวงเงินเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และมีการคำนึงถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(5) การจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้และการกันเงินสำรองเป็นไปตามหมวด 4 การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง
(6) การดำเนินการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ ให้ระบุสถานะหรือขั้นตอนที่สหกรณ์กำลังดำเนินการกับลูกหนี้ เช่น อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรืออยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างบังคับหลักประกัน พร้อมทั้งรายละเอียดการดำเนินการพอสังเขป
(7) การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ”
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-การปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นเป็นการช่วยเหลือสมาชิก เพื่อไม่ให้เป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระคืนหรือเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น การที่ลูกหนี้ผิดนัดอีกในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างใหม่นั้น ควรหาสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
-ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จัดชั้นลูกหนี้และประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้เงินกู้ ซึ่งได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดให้นับระยะเวลาตั้งแต่งวดที่ค้างชำระตามสัญญาเดิม ก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมกับระยะเวลาของงวดที่ค้างชำระตามสัญญาการปรับปรุงโครงหนี้ใหม่
@คุม‘ดอกเบี้ยรับฝาก’ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด
หมวด 2 การรับฝากเงิน การก่อหนี้ การสร้างภาระผูกพัน และการค้ำประกัน
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 19 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดดอกเบี้ยเงินรับฝากทุกประเภทให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินเพดานอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดบวกสาม (3)”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 20 “การเปิดบัญชีเพื่อรับฝากเงินหรือการรับฝากเงิน ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จัดให้ลูกค้าแสดงตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 “สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์สามารถกู้เงินจากผู้ให้กู้เงิน ดังต่อไปนี้
(1) สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
(2) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง
(3) กองทุนพัฒนาสหกรณ์
(4) กองทุนอื่นและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 22 “ห้ามมิให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์หรือประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 23 “ภายใต้บังคับของมาตรา 47 การก่อหนี้และภาระผูกพันของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) สหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกินหนึ่ง (1) เท่าครึ่งของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองรวมกัน
(2) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ระดับภูมิภาคจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกินสอง (2) เท่าของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองรวมกัน
(3) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ระดับประเทศจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกินสาม (3) เท่าของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองรวมกัน
(4) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกินห้า (5) เท่าของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองรวมกัน”
(5) สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกินสามปี หรือสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้จัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานตามมาตรา 16 (4) ให้สามารถก่อหนี้และภาระผูกพันได้ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ”
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องมีความคล่องตัวสูง จึงควรให้สหกรณ์สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องรอประกาศนายทะเบียนสหกรณ์
-ควรให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทด้วยตนเอง เนื่องจากสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ รับรู้ที่มาของสมาชิกสหกรณ์ และมีข้อจำกัดในวงสัมพันธ์ของสหกรณ์ ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่น
-ไม่ควรกำหนดเพดานดอกเบี้ย
@‘สหกรณ์เล็ก-ใหญ่’ต้องดำรง‘สภาพคล่อง’ 2-3%ของเงินฝาก
หมวด 3 การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 24 “สินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน
(1) เงินสด
(2) เงินฝากธนาคารตามมาตรา 62 (2)
(3) เงินฝากชุมนุมสหกรณ์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ที่มีระยะเวลาคงเหลือก่อนวันถึงกำหนดใช้เงินไม่เกินหนึ่ง (1) ปี ทั้งนี้ ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ไม่เกินร้อยละแปดสิบ (80) ของจำนวนที่ต้องดำรงสินทรัพย์
สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้ถือเงินฝากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้นเป็นสมาชิกเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ทั้งจำนวน
(4) หลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(5) หลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ค้ำประกันเฉพาะต้นเงินหรือต้นเงินรวมดอกเบี้ย
(6) บัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคารที่มีระยะเวลาการฝากไม่เกินหนึ่ง (1) ปี
(7) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีระยะเวลาคงเหลือก่อนวันถึงกำหนดใช้เงินไม่เกินหนึ่งปีที่ธนาคารรับรอง สลักหลัง หรือรับอาวัล ทั้งนี้ โดยไม่มีข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของธนาคาร
(8) ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก หรือใบรับฝากเงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ที่มีระยะเวลาคงเหลือก่อนวันถึงกำหนดใช้เงินไม่เกินหนึ่งปี และได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
(9) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจตามรายชื่อที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์
(10) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนตามมาตรา 62 ที่สามารถซื้อขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ
(11) สินทรัพย์อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 25 “สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24 โดยแบ่งตามขนาดของสหกรณ์ ดังนี้
(1) สหกรณ์ขนาดเล็กให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละสอง (2) ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท
(2) สหกรณ์ขนาดใหญ่ให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละสาม (3) ของยอดเงินรับฝากทุกประเภทจำนวนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้อง
ดำรงตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณโดยนำส่วนเฉลี่ยรายเดือนของยอดสินทรัพย์สภาพคล่องในทุกสิ้นวัน หารด้วยส่วนเฉลี่ยรายเดือนของยอดเงินรับฝากทุกประเภทในทุกสิ้นวัน ทั้งนี้ ให้นับวันหยุดทำการรวมเข้าคำนวณด้วย"
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 26 สินทรัพย์สภาพคล่องของชุมนุมสหกรณ์ต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน ซึ่งประกอบด้วย
(1) สินทรัพย์ตามข้อ 24 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) และ (10)
(2) สินทรัพย์อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 27 “ชุมนุมสหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 26 เฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละห้า (5) ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท
จำนวนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณโดยนำส่วนเฉลี่ยรายเดือนของยอดสินทรัพย์สภาพคล่องในทุกสิ้นวัน หารด้วยส่วนเฉลี่ยรายเดือนของยอดเงินรับฝากทุกประเภทในทุกสิ้นวัน ทั้งนี้ ให้นับวันหยุดทำการรวมเข้าคำนวณด้วย”
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-กำหนดตามอัตราเดิม คือ ร้อยละ 1 เพราะสหกรณ์สามารถบริหารจัดการเองได้ เช่น สหกรณ์มีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี OD และมีสัญญา MOU ระหว่างสหกรณ์เครือข่าย
-ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ร้อยละ 3 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท และชุมนุมสทกรณ์ที่ร้อยละ 6ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหากเกิดสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งส่งผลให้มีการไถ่ถอนเงินฝากในระบบการเงินพร้อมกันจำนวนมาก หากมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะกระทบความเชื่อมั่นของสมาชิกได้
@วางแนวทางสหกรณ์‘จัดชั้นลูกหนี้-กันเงินสำรอง’
หมวด 4 การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 28 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จัดชั้นสินทรัพย์เฉพาะรายการลูกหนี้เงินกู้”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 29 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ ดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้จัดชั้นปกติ
(2) ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ
(3) ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน
(4) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย
(5) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ
(6) ลูกหนี้จัดชั้นสูญ
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 30 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ พิจารณาลักษณะของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อจัดชั้นลูกหนี้ ดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้จัดชั้นปกติ หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา
(2) ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินสาม (3) เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืนแล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(3) ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่าสาม (3) เดือนแต่ไม่เกินหก (6) เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(4) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ตามเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่าหก (6) เดือน แต่ไม่เกินสิบสอง (12) เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(ข) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ได้ฟ้องดำเนินคดีที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ
(5) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ตามเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่าสิบสอง (12) เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาตามสัญญาหรือวันที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(ข) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งตามพฤติการณ์ไม่สามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้
(ค) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องและสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ได้ยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์
(ง) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งถูกเจ้าหนี้รายอื่นหรือสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ฟ้องคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
(6) ลูกหนี้จัดชั้นสูญ หมายถึง ลูกหนี้เงินกู้ตามเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นคนสาบสูญและไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้
(ข) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ที่อยู่ในลำดับก่อนสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์จำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้และสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ไม่มีทางที่จะได้รับชำระหนี้
(ค) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ได้ฟ้องลูกหนี้ หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับ หรือคำสั่งของศาลแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้
(ง) ลูกหนี้เงินกู้ซึ่งสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ได้ฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้นๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว แต่ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะชำระหนี้ได้
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 31 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ตามข้อ 30 ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือตามอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ร้อยละศูนย์ (0)
(2) ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ร้อยละยี่สิบ (20)
(3) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย ร้อยละห้าสิบ (50)
(4) ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ร้อยละร้อย (100)
(5) ลูกหนี้จัดชั้นสูญ ร้อยละร้อย (100)"
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 32 “ลูกหนี้เงินกู้ตามข้อ 30 (3) ถึง (6) ถือเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้ระงับการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับ และไม่ให้บันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์
กรณีสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์บันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับไว้ก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน"
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-หากสหกรณ์คิดค่าเผื่อฯ จากต้นเงินคงเหลือ จะทำให้สหกรณ์มีค่าใช้จ่ายจากการตั้งค่าเผื่อมากเกินไปและอาจจะทำให้เกิดการขาดทุนได้ เนื่องจากต้นเงินคงเหลือนั้น สมาชิกยังไม่ถึงกำหนดต้องชำระ จึงไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินต้นคงเหลือทั้งหมดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระมาคิดค่าเผื่อด้วย ควรให้นำยอดเงินที่ผิดนัดชำระมาคำนวณค่าเผื่อฯ เท่านั้น
-ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ขอลดอัตราร้อยละลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้สหกรณ์ฯ และสมาชิกได้มีโอกาสปรับตัวกับการตั้งค่าเผื่อที่เพิ่มขึ้น หากอัตราร้อยละเป็นไปตามร่างกฎกระทรวงฯฯ จะต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งปกติสหกรณ์ฯ สามารถทำกำไรได้ปีละ 800,000-1,000,000 จะทำให้กำไรลดลงและอาจจะเกิดภาวะขาดทุน
-เนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายกับประเภทสหกรณ์การเกษตรมากกว่าประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ ดังนั้น การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลูกหนี้เงินให้กู้ ควรมีลักษณะและบริบทของฐานในการนำมาประมาณการค่าเผื่อฯ มาจากจำนวนต้นเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ไม่ใช่ต้นเงินคงเหลือ
ประกอบกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในบริบทที่แท้จริงแล้ว ไม่สามารถหัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้รายเดือนเหมือนประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น อัตราและวิธีการประมาณการค่าเผื่อฯ จึงไม่ควรมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่ควรมีลักษณะเช่นเดียวกับประเภทสหกรณ์การเกษตร
-หากร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ตามที่กำหนดมา ไม่แก้ไขตามข้อแสดงความคิดเห็น จะทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดเล็กประสบปัญหาขาดทุนสะสม เนื่องจากการคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมียอดสูงกว่ากำไรที่มีในแต่ละปี และยังซ้ำให้ระงับการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับ สหกรณ์จะดำเนินการต่อไม่ได้
@ปล่อยกู้‘สหกรณ์ลูกหนี้’แต่ละแห่ง ได้ไม่เกิน 10% ของทุน
หมวด 5 การกำกับการกระจุกตัวของความเสี่ยงในการฝากเงิน ให้กู้เงิน ก่อหนี้และภาระผูกพันระหว่างสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 37 “สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์รวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบ (10) ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน เว้นแต่การฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก"
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 38 “สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์รวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้า (25) ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพันเว้นแต่กรณี
(1) สหกรณ์ขนาดเล็กก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้วได้ไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์นั้น
(2) สหกรณ์ขนาดใหญ่ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้วได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบ (50) ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์นั้น
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน"
ข้อเสนอ-ข้อโต้แย้งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ เช่น
-เนื่องจากสหกรณ์ขนาดเล็กมีเงินเหลือมาก ถ้านำไปฝากธนาคารได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำกว่าต้นทุนการเงินส่งผลให้สหกรณ์มีรายได้น้อย และการให้เงินฝากหรือเงินกู้ระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์
-ร่างกฎกระทรวงนี้ มีข้อยกเว้นสำหรับการทำธุรกรรมกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์เป็นสมาชิกค่อนข้างมาก จึงทำให้ความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ไปกระจุกตัวอยู่ที่ชุมนุมสหกรณ์มากยิ่งขึ้น จึงควรกำหนดเกณฑ์ของชุมนุมที่เข้มงวดมากขึ้น และมีการเข้าไปตรวจสอบชุมนุมสหกรณ์เป็นประจำทุกปี
@กำหนดบท‘เฉพาะกาล’ให้เวลาสหกรณ์ปรับตัว
บทเฉพาะกาล
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 39 “สัญญาเงินกู้ใดของสมาชิกที่ได้ดำเนินการไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้สัญญานั้นยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าสัญญานั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ตกลงไว้ เว้นแต่เป็นการทำสัญญาใหม่ภายหลังกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเดิมในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) กรณีสัญญาเงินกู้เดิมได้กำหนดงวดชำระหนี้ไว้ไม่เกินสองร้อยสี่สิบ (240) งวด ให้กำหนดงวดชำระหนี้ในสัญญาใหม่ได้ตามสัญญาเดิม
(2) กรณีสัญญาเงินกู้เดิมได้กำหนดงวดชำระหนี้ไว้เกินกว่าสองร้อยสี่สิบ (240) งวด ให้กำหนดงวดชำระหนี้ในสัญญาใหม่ โดยจะต้องมีการปรับลดงวดชำระหนี้ให้เหลือไม่เกินสองร้อยสี่สิบ (240) งวด ภายในสิบ (10) ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
(3) กรณีผู้กู้ซึ่งมีรายได้เป็นรายเดือนที่ไม่เป็นไปตามข้อ 4 (3) ให้สหกรณ์ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 40 “ภายใต้บังคับตามข้อ 6 (1) ให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับตามกฎกระทรวงนี้ออกไปอีกสามสิบ (30) วันนับแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงให้ใช้บังคับ”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 41 “ภายใต้บังคับข้อ 14 (1) (ก) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้สหกรณ์ขนาดใหญ่สามารถผ่อนปรนการดำเนินการสอบทานธุรกรรมด้านสินเชื่อในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าของลูกหนี้คงค้าง แต่ไม่เกินจำนวนหนึ่งร้อยราย ทั้งนี้ การสอบทานดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงลูกหนี้รายใหญ่จำนวนห้าสิบรายแรก”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 42 “การก่อหนี้และภาระผูกพันใดของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อ 23 และได้ดำเนินการไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าการนั้นจะสิ้นสุดไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ตกลงไว้”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 43 “สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ตามข้อ 23 (1) ถึง (4) ที่มีหนี้และภาระผูกพันเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้จัดส่งแผนการปรับลดหนี้และภาระผูกพันที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยแผนดังกล่าวต้องมีการปรับลดหนี้และภาระผูกพันลงปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้าของวงเงินที่เกิน ทั้งนี้ สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในสี่ปีทางบัญชีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 44 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ดำเนินการปรับอัตราดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายเดือนให้เป็นไปตามข้อ 25 (1) ภายในระยะเวลาสองปี 25 (2) ภายในระยะเวลาสามปี และข้อ 27 ภายในระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 45 “ภายในห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้สหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนับสินทรัพย์ตามข้อ 24 (3) เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ทั้งจำนวน”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 46 “ภายในสิบปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มิได้เรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้จากสมาชิกโดยการหักเงินได้ ณ ที่จ่าย ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 47 “ให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ (20) ของจำนวนเงินที่ต้องประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และทยอยประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ (20) ในปีต่อไป จนกว่าจะเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ”
ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 48 “การฝากเงิน การให้กู้ และการก่อหนี้และภาระผูกพันของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ซึ่งมิได้ดำเนินการตามข้อ 37 และข้อ 38 อยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้การดำเนินการดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นสุดไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ตกลงไว้”
จากนี้ไปคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแล ‘สินเชื่อสหกรณ์’ ทั้งระบบกว่า 2.3 ล้านล้านบาท จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้เมื่อใด ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรสหกรณ์ต่างๆ?
อ่านประกอบ :
สกัดกู้เกินตัว! ‘เกษตรฯ’ชง‘ร่างกฎกระทรวงฯ’กำกับสินเชื่อสหกรณ์ 2.3 ล้านล. เข้า ครม.อีกรอบ
รอชงครม.ไฟเขียว! ดันร่างกฎกระทรวงกำกับ'สหกรณ์ฯ'ปล่อยกู้-คุมเพดาน'ดอกเบี้ย'รับฝาก
ห้ามคนนอกค้ำ-ลดต้นทุนเงินกู้! ‘กสส.’ แจงร่างกฎกระทรวงกำกับการเงิน ‘สหกรณ์ฯ’ ฉบับใหม่
เครดิตบูโรแจง ไม่มีการบังคับสหกรณ์ที่มีธุรกรรมสินเชื่อต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร
'บิ๊กตู่'เซ็นตั้ง‘คกก.แก้ปัญหาทุจริตสหกรณ์’-เร่ง'ติดตาม-ยึดทรัพย์'ที่ถูกยักยอก 5 พันล.
ป้องกันทุจริต! ‘มนัญญา’สั่งสอบทาน‘เงินฝาก’สหกรณ์ออมทรัพย์ฯทั่วปท. ให้เสร็จใน 3 เดือน